BDE เผยผลสำรวจศักยภาพผู้ประกอบการดิจิทัลไทยทั้งประเทศ ทั้งด้านความพร้อมสู่ยุคดิจิทัลและด้านความพร้อมรองรับเมืองอัจฉริยะ
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “ความพร้อมผู้ประกอบการดิจิทัลไทยต่อความท้าทายในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” ภายใต้โครงการ Thailand Digital Outlook และปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2568 และความพร้อมผู้ประกอบการดิจิทัลไทย” โดยมีผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีทรัมป์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ได้มีการคาดการณ์เศรษฐกิจดิจิทัลแบบกว้างในปี 2568 พบว่า จะมีมูลค่า 4.69 ล้านล้านบาท มีการขยายตัวร้อยละ 6.2 จากปี 2567 คิดเป็น 3.4 เท่าของ GDP ประเทศ แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะด้านการส่งออก ที่ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าดิจิทัล มีมูลค่าประมาณ 866,000 ล้านบาท สำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัลที่มีการขยายตัวสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมโทรคมนาคม มีการขยายตัวร้อยละ 8.1 และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น ท่องเที่ยว คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.8 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสะท้อนถึงการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืนได้
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่สำคัญเพื่อวางแผนสำหรับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คือ “ความพร้อมของผู้ประกอบการดิจิทัล”ซึ่งเป็นฟันเฟืองที่จะผลักดันให้การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
“กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ได้มีการสำรวจความความพร้อมของผู้ประกอบการดิจิทัล ภายใต้โครงการ Thailand Digital Outlook โดยพบว่า ผู้ประกอบการดิจิทัลขนาดใหญ่มีระดับความพร้อมเฉลี่ยที่ 2.74 คะแนน ซึ่งอยู่ในระดับสูง หรือ High (ช่วงคะแนน 4 กลุ่มแบ่งเป็น Basic คะแนน 0.00 – 0.99, Medium 1.00 – 1.99, High 2.00 – 2.99, Leading 3.00-4.00) สะท้อนให้เห็นว่า องค์กรดิจิทัลขนาดใหญ่มีระดับความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และมีระบบ แนวทาง หรือกระบวนการดิจิทัลเกิดขึ้นภายในองค์กร ซึ่งเป็นความร่วมมือของการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลตามนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัลและก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับแนวหน้าของโลก นำมาซึ่งการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชนของไทยต่อไป” นายเวทางค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการดิจิทัลขนาดเล็ก มีระดับคะแนนอยู่ที่ 1.5 คะแนน มีระดับความพร้อมด้านดิจิทัลต่ำกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่มาก ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการดิจิทัลที่ต้องได้รับการสนับสนุน โดยหากเจาะลึกที่มิติด้านดิจิทัล พบว่า มิติที่ต้องเร่งสนับสนุน ได้แก่ มิติด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity Infrastructure) และมิติการบริหารจัดการภายในด้วยระบบดิจิทัล (Digitalized Process Operation) โดยมิติด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มีคะแนนต่ำที่สุดอยู่ที่ 1.00 คะแนนเท่านั้น รองลงมาเป็น มิติการบริหารจัดการภายในด้วยระบบดิจิทัลที่ 1.20 คะแนน
นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนผู้ประกอบการดิจิทัลโดยเฉพาะ SMEs โดยทางภาครัฐสนับสนุนผ่านนโยบายรัฐบาลสำคัญ ดังนี้
1) นโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูง และนโยบาย “Go Cloud First” ส่งผลให้ผู้ให้บริการคลาวด์ (Cloud Service Provider) ชั้นนำทั้งในประเทศและจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนพัฒนาศูนย์ข้อมูล (Data Center) และการต่อยอดเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ในประเทศไทยจำนวนมาก ส่งเสริมการแข่งขัน เกิดการลดลงของราคาบริการคลาวด และบริการที่เกี่ยวข้อง ลดต้นทุนด้านการใช้เทคโนโลยีสำหรับผู้ประกอบการไทยและของประเทศ
2) การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการดิจิทัล ผ่านกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อนำไปใช้ในการจัดหาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดนวัตกรรม นำไปสู่การยกระดับศักยภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล
3) การสนับสนุนด้านเงินทุนผ่านโครงการคูปองช่วยเหลือหรือการอุดหนุนเพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคธุรกิจ (DEPA Mini Transformation Voucher) ซึ่งเป็นการสนับสนุน SMEsผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในการยกระดับการบริหารจัดการด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างความแข็งแกร่งในการบริหารจัดการกระบวนการภายในของธุรกิจ
4) มาตรการสนับสนุนด้านภาษีสำหรับSMEs สามาตรหักภาษีได้ 200% จากค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้ การสำรวจความพร้อมของผู้ประกอบการดิจิทัลในปี 2568 ได้มีการสำรวจในส่วนความพร้อมและศักยภาพของผู้ประกอบการในการสนับสนุนเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของประเทศไทย ทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) ด้านพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ด้านการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการดิจิทัลไทยมีสินค้าและบริการดิจิทัลที่สามารถผลักดันเมืองอัจฉริยะในด้าน Smart Living สูงที่สุด (ร้อยละ 19.12) โดยมีอุตสาหกรรมขับเคลื่อนหลัก 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมโทรคมนาคม (จำนวน 55 บริษัท) 2) อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ (จำนวน 44 บริษัท) และ 3) อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล (จำนวน 38 บริษัท) รองมาเป็น การให้บริการดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับ Smart Economy อยู่ที่ร้อยละ 14.37 โดยอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนหลัก 2 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล (จำนวน 48 บริษัท) และ
2) อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (จำนวน 41 บริษัท)
เมื่อพิจารณาเชิงพื้นที่ พบว่า ผู้ประกอบการดิจิทัลที่มีศักยภาพในการพัฒนา Smart City กว่าร้อยละ 42.9 อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (174 บริษัท จาก 406 บริษัทที่มีศักยภาพในการสนับสนุน Smart City) ส่งผลให้ในภาพรวมผู้ประกอบการดิจิทัลในพื้นที่กรุงเทพฯ มีศักยภาพในการพัฒนา Smart City สูงที่สุด รองลงมาเป็นพื้นที่ภาคกลางที่ร้อยละ 28.1 (114 บริษัท จาก 406 บริษัทที่มีศักยภาพในการสนับสนุน Smart City) และพื้นที่ภาคตะวันออกที่ร้อยละ 9.4 (38 บริษัทจาก 406 บริษัทที่มีศักยภาพในการสนับสนุน Smart City)
จากผลการสำรวจนี้ สะท้อนให้เห็นถึง การกระจุกตัวของผู้ประกอบการที่มีศักยภาพอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตลอดจน แนวโน้มการพัฒนาที่มุ่งเน้นไปที่การยกระดับคุณภาพชีวิตและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองเป็นหลัก ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมผู้ประกอบการในภูมิภาคอื่น ๆ และในด้านที่หลากหลายมากขึ้น เช่น Smart People Smart Environment เป็นต้น เพื่อให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทยเป็นไปอย่างทั่วถึงและยั่งยืนในระยะยาว
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO