โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อินฟลูเอนเซอร์ สงคราม และการเมือง เมื่อ ‘โซเชียลมีเดีย’ เป็นพื้นที่ที่ใคร ต่างก็ส่งเสียงเรื่องสังคมได้

Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส

อัพเดต 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ภาพไฮไลต์

การพูดเรื่องการเมืองเคยถูกจำกัดไว้ในขอบเขตของความจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นในสภาฯ หลังโพเดียมที่มาพร้อมเสียงขรึมและถ้อยคำสลับซับซ้อน หรือในรายการข่าวที่มักจะเห็นตัวละครอย่างนักวิชาการ นักการเมือง หรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ พูดถึงการเมืองอย่างเป็นทางการ

แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกโซเชียลอย่าง TikTok, Instagram Reels และแพลตฟอร์มอื่นๆ ทั่วโลกคือการเปลี่ยนท่าทีนี้โดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะในโลกฝั่งตะวันตกเรามักจะเห็นภาพคนธรรมดาที่ไม่ได้มีตำแหน่งใหญ่โตเปิดกล้องจากห้องนอนพูดถึงเรื่องสงคราม หรือการเมืองโลกประเด็นต่างๆ ในแบบของตัวเองได้แบบสบายๆ ไม่ต้องเป็นนักวิเคราะห์ก็สามารถแชร์ความเห็นและความรู้สึกจริงๆ ของตัวเองได้ กล้าพูด กล้าเล่าเรื่องที่ทำให้การเมืองดูใกล้ตัวและเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะในช่วงความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง หรือความขัดแย้งล่าสุดอย่างอิสราเอล-อิหร่าน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองโลกเช่นนี้ เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ตะวันตกต่างหันมาให้ความสนใจทำคอนเทนต์เพื่อส่งเสียงและสร้างความตระหนักรู้มากยิ่งขึ้น การเล่าอย่างสบายๆ ทำให้สารส่งถึงผู้ฟังได้อย่างง่ายดาย ขยายพื้นที่การรับรู้เรื่องการเมืองได้อย่างแยบยล กลายเป็นวัฒนธรรมที่ทำให้มีคนออกมาส่งเสียงมากยิ่งขึ้นด้วย

รูปแบบที่ขึงขัง จริงจัง จากนักการเมือง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ (ซึ่งก็ยังจำเป็นอยู่) คงเป็นภาพคุ้นตาสำหรับในประเทศไทยเรา

ไทยรัฐพลัสจึงอยากชวนสำรวจความหลากหลายของผู้คนที่ออกมาพูดเรื่องเข้มๆ อย่างการเมืองหรือประเด็นอื่นที่เกิดขึ้นในสังคมโลก ที่ลงล็อกกับการจะนิยามว่าเป็น ‘active citizen’ โดยผู้คนเหล่านี้มีลักษณะร่วมกันคือทำให้การส่งเสียง แสดงความเห็น และการมีส่วนร่วม เป็นวัฒนธรรม รวมถึงเป็นสิ่งที่ใครก็สามารถทำได้ โดยใช้สอยประโยชน์จากโลกไร้พรมแดนในการสื่อสารเพื่อขยายการรับรู้เรื่องราวต่างๆ ไปยังผู้คนทั่วโลก

การเมืองโลกของคนธรรมดา

ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย มีผู้ใช้หลายคนที่ไม่ได้มีบทบาททางการเมืองอย่างเป็นทางการ แต่เขาและเธอต่างก็ลุกขึ้นมาพูดเรื่องสงคราม การเมืองโลก ภูมิรัฐศาสตร์ในภาษาของตัวเอง

บัญชี TikTok ที่ใช้ชื่อว่า girlsglobe ผู้สร้างคอนเทนต์สายเฟมินิสต์ และแชร์ประสบการณ์เดินทางทั่วโลกโดยเน้นเรื่องสิทธิสตรีและการเดินทางที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง

เมื่อช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เธอได้ทำคลิปรีวิวการไปท่องเที่ยวที่ปาเลสไตน์เมื่อปี 2019 โดยตั้งชื่อคลิปว่า ‘Visiting Palestine: Experience and Give Back’ ซึ่งเป็นมากกว่าคลิปท่องเที่ยวทั่วไป เพราะมันคือการเชื้อเชิญให้ผู้ชมเปิดใจเรียนรู้ สัมผัสความเป็นจริงของปาเลสไตน์ ผ่านการเดินทาง การพบเจอ และการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

เธอเน้นย้ำว่าประสบการณ์ตรงคือสิ่งที่มีคุณค่า แม้การอ่านหนังสือหรือบทความข่าวจะให้ข้อมูลที่สำคัญ แต่การเห็นด้วยตา ฟังด้วยหู และสัมผัสด้วยใจของตนเองนั้นไม่มีสิ่งใดแทนได้ คลิปสั้นๆ นี้พาเราไปพบผู้คนหลากหลายในปาเลสไตน์ และยังเป็นกระบอกเสียงในการสนับสนุนปาเลสไตน์อย่างแข็งขันด้วย

https://www.tiktok.com/@girlvsglobe/video/7510270959765523734

หรือบัญชี TikTok ที่ใช้ชื่อว่าred_eye_tree_frog เป็นบัญชีส่วนบุคคลที่มีผู้ติดตามไม่มาก เน้นการสร้างคอนเทนต์ในลักษณะ vlog และไดอารี่ชีวิตประจำวัน โดยมีธีมหลักเป็นการแชร์อารมณ์ ความรู้สึกส่วนตัว และแง่มุมเล็กๆ ในชีวิต เช่น การแต่งตัวในแต่ละวัน ภายใต้คอนเทนต์ #GRWM (Get Ready With Me), การพูดถึงอัตลักษณ์ทางเพศในบริบท LGBTQ+, รวมถึงการสะท้อนมุมมองทางสังคมอย่างแยบคายผ่านคลิปสั้นๆ คอนเทนต์มีบรรยากาศกึ่งขบขัน กึ่งจริงจัง และแฝงอารมณ์หลากหลาย

คลิปที่ทำให้เธอได้รับความสนใจมากขึ้นจากชาวเน็ตคือ คลิปที่เธอแต่งหน้าและมีเสียงรายงานข่าวความไม่สงบประเด็นอิสราเอล-อิหร่านอยู่เบื้องหลัง พร้อมกับแคปชันในทำนองที่ว่านี่คือการทำคอนเทนต์ Get Ready With Me ครั้งแรกของเธอในสถานการณ์ที่ไม่ต่างอะไรจากสงคราม

https://www.tiktok.com/@red_eye_tree_frog/video/7516316829489384746 is_from_webapp=1&sender_device=pc&web_id=7504571049905030674

บัญชี health policy princess: Hannah เป็นอีกคนหนึ่งที่ทำคอนเทนต์เรื่องความสวยความงาม และพูดเรื่องนโยบายสาธารณะไปด้วย

มีคลิปที่เธอได้พูดถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผลกระทบของการลดงบประมาณโครงการประกันสุขภาพของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่ให้ความช่วยเหลือด้านค่ารักษาพยาบาลสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อย ผู้พิการ เด็ก และผู้สูงอายุบางกลุ่ม ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา โดยชี้ให้เห็นถึงบทบาทของพรรครีพับลิกัน ที่มีอิทธิพลต่อการตัดงบ และผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข

นอกจากนี้ เธอยังวิจารณ์ผลโหวตของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่อาจทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากต้องเสียสิทธิด้านสุขภาพ และเสียชีวิตจากการเข้าถึงบริการที่ลดลง เธอเชิญชวนให้ประชาชนลุกขึ้นมาส่งเสียงและแสดงความเห็น เพราะสุขภาพของทุกคนขึ้นอยู่กับนโยบายนี้

https://www.tiktok.com/@healthpolicyprincess/video/7503927811036548394?is_from_webapp=1&sender_device=pc&web_id=7504571049905030674

อีกตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพบทสนทนาระหว่างบุคคลต่อบุคคลเป็นอย่างดี คือบัญชีผู้ใช้ชาวปาเลสไตน์ชื่อว่า absorberyt เขาเป็นเกมเมอร์ ที่ใช้ช่องทางออนไลน์พูดเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ สนับสนุนแนวทาง ‘Free Palestine’ หรือรณรงค์เพื่อความเป็นธรรมในปาเลสไตน์อยู่เสมอ

เขาแสดงจุดยืนผ่านการทำคอนเทนต์พูดคุยกับคนอิสราเอลลง ในแพลตฟอร์มต่างๆ โดยรักษาจุดยืนของตัวเองไปพร้อมๆ กับการพูดคุยกับคนที่เห็นต่างด้วย และด้วยฐานผู้ติดตามจำนวนมาก ทำให้คลิปของเขาถูกส่งต่อและสร้างการรับรู้ให้กับคนอีกหลายกลุ่ม

https://www.instagram.com/absorberyt/reels/

ประโยชน์จากโลกไร้พรมแดน

แพลตฟอร์มดิจิทัลไม่เพียงเปิดพื้นที่ให้คนธรรมดาได้พูดถึงเรื่องการเมือง แต่ยังเปลี่ยนโครงสร้างของการรับรู้เรื่องโลกไปโดยสิ้นเชิง หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การได้ยินเสียงของคนธรรมดาที่อยู่ในพื้นที่จริง ไม่ใช่แค่เสียงของรัฐหรือสื่อกระแสหลัก ผู้คนในกาซ่า อิหร่าน หรือแม้แต่ยูเครน สามารถเล่าเรื่องของตัวเองในเวลาจริงผ่านมือถือ เป็นการถ่ายทอดมุมมองจากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งช่วยให้เราต่างทำความเข้าใจว่าเบื้องหลังของคำว่า ‘สงคราม’ นั้นมีชีวิตจริง ความกลัว และความสูญเสียอยู่

นอกจากนี้ ความเป็นแพลตฟอร์มยังลดพรมแดนของการรับรู้ข้อมูลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในอดีตเรารู้จักสงครามผ่านภาพข่าวหรือรายงานที่คัดกรองมาแล้ว แต่วันนี้เราสามารถเห็นมันได้จากข้อมูลชั้นต้น จากบทสนทนาที่วัยรุ่นในพื้นที่ขัดแย้งพูดถึงความรู้สึกของตัวเอง

ความรู้เกี่ยวกับสงคราม ความไม่เป็นธรรม หรือประวัติศาสตร์อาณานิคมถูกส่งต่อกันแบบไวรัล หลายครั้งที่คลิปสั้นๆ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยทั้งในระดับส่วนตัวและระดับโลก ความเร็วและความกระจายของแพลตฟอร์มทำให้เสียงของคนตัวเล็กๆ มีอำนาจต่อรองมากขึ้น

อีกหนึ่งพลังสำคัญของแพลตฟอร์มคือความสามารถในการกระตุ้นอารมณ์ร่วม คนอาจลืมตัวเลขในข่าว แต่ไม่ลืมคลิปที่ทำให้ร้องไห้ ความรู้สึกเหล่านี้คือแรงผลักดันให้ผู้คนออกมาเคลื่อนไหว หรือช่วยกัน ‘ส่งเสียง’ ในพื้นที่ของตัวเองต่อไป

การเปลี่ยนแปลงของการเป็น ‘พลเมืองโลก’

ในยุคดิจิทัลที่เชื่อมโยงถึงกันแทบจะทั่วทุกมุมโลก สรรพสิ่งต่างเปลี่ยนโฉมไปอย่างสิ้นเชิง เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงการรับรู้ และก่อร่างวัฒนธรรมบางอย่างที่อาจเคยมีอยู่ก่อนแล้วให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ก่อนหน้านี้เราคงคุ้นชินกับคำว่า ‘active citizen’ แต่ในปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ได้ก่อกำเนิดพลเมืองที่มีชื่อเรียกอีกแบบว่า ‘active internet citizen’ ผู้ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นพื้นที่ในการแสดงออกถึงความคิดเห็นและความรู้สึกในทางการเมือง หรือประเด็นอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมโลกอย่างเปิดเผย

ตามหลักการทั่วไป active citizen คือพลเมืองที่มีความตระหนักรู้ กระตือรือร้น มีส่วนร่วมกับชุมชนและสังคมของตนเอง แต่บางครั้งมักจะถูกจำกัดไว้ที่การเลือกตั้ง การเข้าร่วมชุมนุม หรือการลงชื่อในแคมเปญอะไรบางอย่าง

พักหลังจึงมีการใช้คำเรียกอย่างไม่เป็นทางการนักว่า ‘active internet citizen’ หรือบ้างก็เรียกว่า ‘digital citizenship’ ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงไปในทิศทางเดียวกันคือ การเป็นพลเมืองผู้ใช้งานสื่อดิจิทัลและสื่อออนไลน์ที่เข้าใจบรรทัดฐานของการปฏิบัติตัวให้เหมาะสมและมีความรับผิดชอบในการใช้เทคโนโลยี แต่ active internet citizen จะมีนัยไปในทางการตระหนักรู้มากกว่า ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์เดียวกันกับการเป็น active citizen เพียงแค่ย้ายพื้นที่การแสดงออกมาอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นี่คือการเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองสมัยใหม่ ไม่ได้รอการเลือกตั้งหรือการรวมตัว แต่เลือกใช้โซเชียลมีเดียในการตั้งคำถาม แบ่งปันข้อมูล หรือแม้แต่พูดถึงความสับสนของตนเองต่อสถานการณ์โลก สิ่งสำคัญคือ ความเคลื่อนไหวนี้ไม่ได้ตั้งต้นจากความรู้แบบมืออาชีพ แต่มาจากอารมณ์ ความรู้สึก และประสบการณ์ชีวิตของคนธรรมดา ซึ่งทำให้การเมืองกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น ไม่ใช่เรื่องของชนชั้นนำเท่านั้น

แน่นอนว่า active internet citizen ไม่ได้มาแทน active citizen แบบเดิม แต่ช่วยขยายขอบเขตของการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้กว้างและหลากหลายขึ้น ท้าทายกรอบเดิมๆ ว่าใครมีสิทธิจะพูดเรื่องโลก และพูดได้อย่างไร

เมื่อ TikToker พูดเรื่องสงครามขณะทำคอนเทนต์แต่งหน้า หรือคนปาเลสไตน์สุ่มวิดีโอคุยกับคนอิสราเอล ที่มองเห็นบทสนทนาระหว่างบุคคลต่อบุคคล วัฒนธรรมการส่งเสียงก็เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

นี่อาจเป็นการ reclaim ‘ความรู้เรื่องโลก’ จากมือผู้เชี่ยวชาญ และทำให้การเข้าใจโลกเป็นเรื่องของทุกคน และแน่นอนว่านี่ไม่ใช่การปฏิเสธผู้เชี่ยวชาญ แต่เป็นการเสริมเสียงของประชาชนให้เท่าทันในระบบความรู้ การฟังเสียงของผู้รู้ยังจำเป็น แต่การได้ยินเสียงของผู้ได้รับผลกระทบ ผู้รู้สึกโดยตรง หรือผู้ตั้งคำถามโดยไม่แน่ใจ ก็คือการเมืองที่แท้จริงในยุคนี้

ยิ่งไปกว่านั้น การพูดเรื่องสงครามแบบชิลๆ ไม่ได้ทำให้การเมืองเบาลง แต่ช่วยลดอคติ ลดระยะห่าง และเปลี่ยนการเมืองจากเรื่องของ ‘เขา’ ให้กลายเป็นเรื่องของ ‘เรา’ ด้วย ซึ่งหากมองในแง่นี้อาจบอกได้ว่าการส่งเสียงและการมีส่วนร่วมนั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งของเหล่า active internet citizen ด้วย

แล้ววัฒนธรรมนี้อยู่ตรงไหนในไทย?

แม้เราจะเห็นชาวเน็ตไทยพูดคุยและถกเถียงเรื่องการเมืองมากขึ้น แต่ยังต้องยอมรับว่าบริบทของประเทศไทยยังคงเต็มไปด้วยข้อจำกัดทางเสรีภาพในการพูดและแสดงออกทางการเมือง อย่างที่ทราบกันดีว่าเรามีข้อจำกัดทางกฎหมาย เป็นเสมือนเพดานจำกัดเส้นการแสดงความเห็นเอาไว้

เรามีตัวอย่างผู้คนที่แสดงความคิดเห็นและถูกตัดสินลงโทษหนักกว่าการก่ออาชญากรรม แม้จะอยู่ในยุคสมัยของรัฐบาลพลเรือน แต่อำนาจบริหารก็ยังไม่อาจถ่วงดุลกับตุลาการได้อย่างเข้มแข็ง

นั่นทำให้การพูดเรื่องการเมืองในไทยแม้แต่ในพื้นที่ออนไลน์ ก็ต้องอาศัยความระมัดระวังสูง บทสนทนาระหว่างบุคคลต่อบุคคล ที่จะนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรม การส่งเสียงและการมีส่วนร่วม ที่แข็งแรงจึงยังเห็นได้น้อย เพราะบริบททางการเมืองไทยยังคงเอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ การสร้างวัฒนธรรมที่ให้คนร่วมกันออกมาส่งเสียง แสดงความเห็น (ทุกเรื่อง) อย่างตรงไปตรงมาจึงเป็นไปได้ยากอยู่ในปัจจุบัน

ข้อมูลจากโครงการ ‘Freedom on the Net’ของFreedom House ระบุว่าไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ ‘ไม่มีเสรีภาพ’ บนโลกออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2024 ประเทศไทยมีคะแนนเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตเพียง 39 จาก 100 คะแนน

โดยหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการควบคุมเนื้อหาคือการบล็อกเว็บไซต์ และการจับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์หรือรัฐบาล ภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 112

นอกจากนี้ ในหลายกรณีที่คนรุ่นใหม่พยายามพูดเรื่องการเมืองบนโลกออนไลน์ต้องเผชิญกับแรงต้านจากคนใกล้ตัว ทั้งจากครอบครัว สถานศึกษา หรือสถานที่ทำงาน โดยเฉพาะเมื่อพูดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันหลักของประเทศ ความเป็นเด็กไม่รู้เรื่อง หรือการถูกตีความว่ากำลังทำลายความสงบ กลายเป็นแรงบีบที่มองไม่เห็นแต่กดทับไม่ต่างจากกฎหมาย

สิ่งเหล่านี้ทำให้วัฒนธรรมการส่งเสียงและมีส่วนร่วมในไทยยังเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม ไม่กลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันแบบที่เห็นในสหรัฐฯ หรือบางประเทศในโลกตะวันตก

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าคนไทยเงียบ หากแต่เป็นการแสดงออกในเงื่อนไขจำกัด และยิ่งทำให้สิ่งเล็กๆ อย่างการพูดอ้อมๆ แซะด้วยมีม หรือแม้แต่การแชร์คลิปจากต่างประเทศ กลายเป็นการกระทำที่มีความหมายมากขึ้น

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : plus.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส

Death Stranding 2: On The Beach - เมื่อในที่สุดมนุษย์ต่างเชื่อมโยงถึงกันแล้วโลกหลังจากนั้นจะเป็นยังไงต่อ

4 ชั่วโมงที่ผ่านมา

โซห์ราน มัมดานี ‘คนนอก’ ผู้พลิกตำราการเมืองนิวยอร์ก

6 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความทั่วไปอื่น ๆ

รถจักรยานยนต์ชนกับรถเทรลเลอร์ มีผู้เสียชีวิต 2 รายกลางถนนเทพรัตน จ.สมุทรปราการ

สวพ.FM91

เป็นใบไม้ร่วง! รองผบ.กองทัพเรือรัสเซียคนใหม่ที่ “ปูติน” เพิ่งตั้งเมื่อมีนา โดนมิสไซล์ HIMARS ของเคียฟโจมตีดับใกล้พรมแดน “ยูเครน” หลังพิกัดฐานที่ตั้งรั่ว

Manager Online

ป.ป.ช. ลุยตรวจสอบที่ดินทุ่งเลี้ยงสัตว์ดอนเขาพลวง ป้องกันนายทุนฮุบที่ป่า!

เดลินิวส์

เฮ กรมการแพทย์ เปิดรับสมัครพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 134 อัตรา

ฐานเศรษฐกิจ

สภาพอากาศวันนี้ -9 ก.ค.ไทยฝนฉ่ำ เหนือ อีสาน ตะวันออก ฝนตกหนักถึงหนักมาก

ฐานเศรษฐกิจ

รวบหนุ่มใหญ่ใช้อาวุธมีดพกแทงเพื่อนดับ หลังทะเลาะกันเรื่องที่นอน

Khaosod

ไขข้อข้องใจชาวเน็ต ทำไม ‘เจนี่’ บวช ‘สามเณรี’ ถึงห่มจีวร?

tvpoolonline.com

ธ.โลกหั่นจีดีพี ปี68เหลือ1.8% คลังรอถกทรัมป์

ไทยโพสต์

ข่าวและบทความยอดนิยม

อินฟลูเอนเซอร์ สงคราม และการเมือง เมื่อ ‘โซเชียลมีเดีย’ เป็นพื้นที่ที่ใคร ต่างก็ส่งเสียงเรื่องสังคมได้

Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส
ดูเพิ่ม
Loading...