เช็กตัวเอง 10 ข้อ ทำงานแบบนี้ไปไวแน่นอน
"วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง แต่ทำไมเราทำงานเหมือนมี 48 ชั่วโมง?"
.
.
เมื่อเช้าตื่นมาก็คิดถึงเมลที่ยังไม่ตอบ ระหว่างแปรงฟันก็เช็ก Slack กลางคืนนอนไม่หลับเพราะกังวลงานวันพรุ่งนี้ จนเพื่อนเริ่มบ่นว่า "พูดแต่เรื่องงาน" แฟนเริ่มโวยว่า "ดูเหมือนแต่งงานกับโทรศัพท์มากกว่าเรา"
.
ความจริงคือ ตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุคที่ "คาโรชิ" (Karoshi) ซึ่งเป็นคำภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า "การเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไป" ไม่ได้เป็นแค่เรื่องไกลตัวในต่างประเทศอีกต่อไป แต่แอบคืบคลานเข้ามาใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด
.
ผลสำรวจล่าสุดจาก Forbes ระบุว่า 45% ของคนทำงานอเมริกันรายงานว่าความเครียดจากงานส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต และที่น่าตกใจคือมีคนถึง 40% ที่ยอมรับตัวเองว่าเป็น "คนติดงาน" แบบจริงจัง ขณะที่ 89% กำลังเผชิญกับ Burnout อย่างรุนแรง
.
แล้วเราล่ะ? เรารู้ตัวไหมว่ากำลังเดินไปบนเส้นทางเดียวกัน? วันนี้เราจะพาทุกคนมาเช็กตัวเองผ่าน 10 สัญญาณเตือนที่แสดงว่าคุณอาจกำลัง "ทำงานจนเสี่ยงไปไว" โดยไม่รู้ตัว พร้อมหาทางออกที่จะช่วยให้คุณกลับมามีชีวิตที่สมดุลได้อีกครั้ง
.
.
เมื่อ "รีบ" กลายเป็นโรค และ "ช้า" กลายเป็นศัตรู
.
ในโลกที่ความเร็วกลายเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าคุณภาพของงาน เราได้ถูกปรับโครงสร้างความคิดให้เชื่อว่า "ช้า = แพ้" และ "เร็ว = ชนะ" จนกระทั่งลืมไปว่า ความเร็วที่ไม่มีจุดหมายชัดเจนนั้น ไม่ต่างอะไรกับการวิ่งตรงไปยังหน้าผา
.
แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ เราไม่ได้รู้ตัวว่ากำลังติดยาเสพติดชนิดใหม่ที่ชื่อว่า "ความรีบร้อน" การศึกษาจาก Harvard Medical School พบว่า คนที่มี "ความรีบร้อนเรื้อรัง" (Chronic Rushing Syndrome) มีระดับ Cortisol (ฮอร์โมนความเครียด) สูงกว่าคนปกติถึง 23% อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ความดันโลหิตสูง และเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากขึ้น
.
นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของประสิทธิภาพการทำงาน แต่เป็นเรื่องของการอยู่รอดในระยะยาว เพราะ ดร.ลารี โรเซน (Dr. Larry Rosen) นักจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องเทคโนโลยีกับพฤติกรรมมนุษย์ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "iDisorder" คือโรคจิตเวชยุคใหม่ที่เกิดจากการที่เราปรับตัวให้เข้ากับความเร็วของเทคโนโลยี จนลืมไปว่าเราเป็นมนุษย์ที่มีข้อจำกัด
.
ความอันตรายคือ คุณภาพชีวิตที่แท้จริงกลับเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ "ช้า" เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการสนทนากับลูกอย่างตั้งใจฟัง การรับประทานอาหารโดยไม่เร่งรีบ การมองพระอาทิตย์ตกดินโดยไม่คิดถึงงานที่ยังไม่เสร็จ
.
มาดูกันว่า เราติด "ยาเสพติดความรีบร้อน" ถึงขั้นไหนแล้ว และจะหาทางออกจากวงจรอันตรายนี้ได้อย่างไร
.
[ ] 1. รีบตลอด 24 ชั่วโมง
.
คุณเป็นคนประเภทที่รู้สึกว่าไม่มีอะไรเร็วพอ ลิฟต์ขึ้นช้าไป รถติดนิดเดียวก็หงุดหงิด แม้แต่ไมโครเวฟอุ่นอาหาร 2 นาทีก็รู้สึกเหมือนเป็นชั่วโมง คุณมักทำหลายอย่างพร้อมกัน กินข้าวไปเช็กเมลไป คุยโทรศัพท์ไปพิมพ์เอกสารไป
.
คุณอาจจะลองเช็กตัวเองง่ายๆ ก่อนว่า เวลารอลิฟต์ คุณกดปุ่มซ้ำๆ หลายรอบไหม? หรือเดินขึ้นบันไดไปเลยเพราะไม่อยากรอ? ถ้าใช่คุณอาจจะกำลังเสี่ยงต่อการทำงานที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะการรีบตลอดเวลาทำให้ระดับ Cortisol (ฮอร์โมนความเครียด) สูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
.
[ ] 2. คิดเสมอว่า "ไม่มีใครทำได้ดีเท่าเรา"
.
คุณไม่กล้ามอบหมายงานให้คนอื่น เพราะกลัวว่าจะไม่ได้มาตรฐาน การขอความช่วยเหลือรู้สึกเหมือนการยอมแพ้ คุณคิดว่าถ้าอยากได้งานที่ดี ต้องทำเอง เวลาคนอื่นช่วยงาน คุณมักจะไปแก้ใหม่อีกครั้ง
ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่มีงาน Presentation สำคัญ แทนที่จะให้ทีมช่วยทำ Slide คุณกลับเก็บตัวทำคนเดียวจนตี 3 เพราะ "ต้องให้ Perfect" ผลเสียที่เกิดขึ้นคือ คุณจะกลายเป็นคอขวดของทีม ทำงานล้นมือ และทีมไม่ได้เรียนรู้พัฒนา ส่วนตัวคุณเองก็เหนื่อยล้าจนหมดไฟ
.
[ ] 3. ความเพอร์เฟ็กต้องมาก่อน ไม่งั้นไม่ยอมปล่อยงานออก
.
99% ยังไม่ดีพอ ต้อง 100% เท่านั้น คุณใช้เวลาแก้งานซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่งเอกสารแล้วยังกังวลว่าควรแก้อีกไหม เวลาเพื่อนร่วมงานทำงานไม่ถึงมาตรฐาน คุณรู้สึกหงุดหงิดมาก
.
สัญญาณที่คุณสามารถลองเช็กตัวเองได้คือ คุณเคยส่งเมลแล้วกด "Recall" เพื่อแก้คำผิด 1-2 ตัวไหม? หรือเขียน Caption โซเชียลซ้ำหลายรอบเพราะไม่พอใจ? หากคุณกำลังมีอาการแบบนี้ นั่นแปลว่าคุณกำลังกลายเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับดีเทลเล็กๆ เพื่อความสมบูรณ์แบบที่ไม่มีอยู่จริง และการไล่ตามมันทำให้คุณไม่มีวันเสร็จงาน
.
[ ] 4. เริ่มละเลยคนใกล้ตัว
.
คุณลืมวันเกิดลูก พลาดงานรับปริญญาของน้อง ไปงานแต่งงานเพื่อนแต่นั่งเล่นโทรศัพท์ตลอด เวลาคนในครอบครัวพยายามคุยด้วย คุณตอบแบบไม่มีสมาธิ หรือบอกว่า "เดี๋ยวนะ ให้จัดการงานนี้ก่อน" เมื่อคุณเริ่มละเลยคนใกล้ตัวจะทำให้คนที่รักเราเริ่มรู้สึกเหมือนเป็นคนแปลกหน้า พวกเขาเลิกพยายามแชร์เรื่องราวชีวิต เพราะรู้ว่าเราไม่ได้ฟังจริงๆ
.
[ ] 5. ทำงานติดต่อกันจนร่างกายร้องขอความช่วยเหลือ
.
คุณสามารถทำงานติดต่อกัน 16-18 ชั่วโมงโดยไม่หยุด ดื่มกาแฟวันละ 3-4 แก้ว กินข้าวหน้าจอคอมพิวเตอร์ หลับในชุดทำงาน ตื่นมาแล้วใส่เสื้อตัวเดิมทำงานต่อ จนสัญญาณต่างๆ เริ่มแสดงออกมาทางร่างกาย เช่น ใต้ตาคล้ำลง ผิวหนังไม่มีเลือดฝาด น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติ รวมถึงอาการทางกาย ความเจ็บปวดอื่นๆ ที่มักเกิดขึ้นจากความเหนื่อล้าที่สะสมทางกาย
.
[ ] 6. "การพักผ่อน" กลายเป็นคำต้องห้าม
.
คุณรู้สึกผิดเวลาไม่ทำงาน การดูหนัง อ่านหนังสือ หรือเล่นกับเพื่อนรู้สึกเหมือนเสียเวลา งานอดิเรกต้องเปลี่ยนเป็นงานหาเงิน แทนที่จะถ่ายรูปเล่น คุณก็คิดถึงการเปิดรับจ้างถ่ายงานแต่ง หรือแทนที่จะทำเค้กสนุกๆ คนเดียว คุณก็คิดถึงเรื่องการเปิดรับออเดอร์ขาย
.
[ ] 7. สมองเริ่ม "ลัดวงจร"
.
คุณเริ่มลืมเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่รู้ว่าตัวเองผูกเน็กไทไปหรือยัง ลืมที่นัดประชุม ขับรถผ่านป้ายหยุดโดยไม่ทันสังเกต นั่งประชุมแล้วไม่จำได้ว่าเพิ่งคุยเรื่องอะไร ต้องเปิดโน้ตกลับไปดู สิ่งเหล่านี้เกิดจากสมองทำงานหนักเกินไป ระบบความจำระยะสั้นเริ่มล้มเหลว
.
[ ] 8. ใจร้อนจนเกินไป ความอดทนเป็นศูนย์
.
รอลิฟต์ 30 วินาทีก็เคาะปุ่มอีก 5 ครั้ง รถติดเบาๆ ก็เริ่มหงุดหงิด ถูกคิดเงินช้านิดเดียวก็อยากจะโวย หรือพอส่งเมลหาคนแล้ว 5 นาทีไม่ตอบก็ตามด้วยไลน์ แล้วก็โทรไปอีก ทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกกดดัน ทั้งหมดนี้คือสัญญาณที่คุณอาจไม่เคยสังเกตตัวเอง แต่ก็ทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกว่าไม่อยากทำงานด้วย
.
[ ] 9. ถามหาคุณค่าของตัวเองจากงานเป็นหลัก
.
คุณรู้สึกมีค่าเฉพาะตอนทำงานสำเร็จ ถ้าไม่มีงาน หรือไม่ได้รับยกย่อง รู้สึกเหมือนตัวเองไร้ค่า คุณใช้ตำแหน่งงาน เงินเดือน หรือความสำเร็จเป็นมาตรวัดความมีค่าของตัวเอง
.
วิธีสังเกตง่ายๆ คือเวลาแนะนำตัว คุณมักจะบอกชื่อแล้วตามด้วยงานทันที แทนที่จะแนะนำด้วยแง่มุมอื่นๆ ของตัวเองเหมือนคนทั่วไป
.
[ ] 10. ลืมดูแลตัวเอง เหมือนเป็นแค่หุ่นยนต์
.
จำได้ไหมว่า มื้อสุดท้ายที่กินอาหารมีประโยชน์คือเมื่อไหร่? ถ้าคุณเอาแต่กินอาหารส่งเดลิเวอรี่ ข้ามมื้อบ่อย ไม่ออกกำลังกาย นอนไม่เพียงพอ ปวดหัว ปวดหลัง แต่เอายาแก้ปวดกินเฉยๆ ไม่ไปหาสาเหตุ นั่นแปลว่าคุณกำลังทำงานหนักเกินไปจนไม่ปลอดภัย
.
อาการเตือนที่ควรใส่ใจคือ รู้สึกว่าปวดศีรษะบ่อยขึ้น นอนไม่หลับ หรือหลับแล้วไม่สดชื่น รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลาแม้ไม่ได้ทำงานหนัก
.
.
เส้นทางกลับสู่ชีวิตที่มีความหมาย
.
การรู้ตัวว่าเรากำลังทำงานเกินขีดจำกัดเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่สุด แต่การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากการเข้าใจว่า คุณคือมนุษย์ ไม่ใช่เครื่องจักร
.
[ ] สร้างกฎเหล็ก "ปิดงาน" กำหนดเวลาปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น 6 โมงเย็น ห้ามเปิดอีกจนถึงวันพรุ่งนี้
.
[ ] ฝึกศิลปะแห่งการ "มอบหมาย" เริ่มจากงานเล็กๆ ที่ไม่สำคัญมาก มอบให้คนอื่นทำ ให้คำแนะนำชัดเจน แต่อย่าไปแก้ใหม่ทั้งหมด
.
[ ] สร้าง "ช่วงเวลา" แห่งการผ่อนคลาย ก่อนนอน 1 ชั่วโมงต้องไม่ดูหน้าจอ ไม่คิดเรื่องงาน และพยายามหาอะไรทำที่ไม่เกี่ยวกับงานบ้าง เช่น อ่านนิยาย ฟังเพลง วาดรูป นอกจากนี้ การออกกำลังกายแม้แค่เดิน 20 นาที ก็ช่วยลดฮอร์โมนความเครียดได้
.
[ ] ปรับ Mindset เรื่องความสมบูรณ์แบบ ให้ลองจำคำว่า "Done is better than perfect" แม้ว่างานจะไม่สมบูรณ์แบบทั้งหมด แต่การทำงานเสร็จก็ถือว่าเราเข้าใกล้ความสำเร็จไปบ้างแล้ว ลองตั้งเวลาจำกัดสำหรับงานแต่ละชิ้น เมื่อหมดเวลาต้องส่ง และหาคนที่ไว้ใจให้ช่วย Review งาน
.
.
อย่างไรก็ตาม หากคุณกำลังอยู่ในวังวนของการทำงานหนัก และเริ่มอยากนำตัวเองออกไปจากวังวนนี้ก่อนที่จะเสียสุขภาพนั้น การทำงานหนักไม่ผิด แต่การทำงานจนลืมว่าเราคือใคร ลืมว่าเรามีชีวิตนอกจากงาน นั่นคือสิ่งที่ผิด
.
ให้จำไว้ว่า “งานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่ชีวิตทั้งหมด” คุณมีค่าในตัวเอง ไม่ใช่เพราะตำแหน่งงาน หรือความสำเร็จในอาชีพ
.
ชีวิตที่สมดุลไม่ใช่ปลายทาง แต่เป็นการเดินทางที่ต้องปรับตัวอยู่เสมอ ขอให้คุณใจเย็น อดทน และใจรักตัวเองมากขึ้น เพราะคุณสมควรมีชีวิตที่มีความสุข ไม่ใช่เพียงแค่มีชีวิตรอด
.
.
อ้างอิง
- 10 Signs You Could Be Working Yourself To Death In A Hybrid World: Bryan Robinson, Ph.D., Forbes - http://bit.ly/4liQm9h
.
.
#WorkLife
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast