คนทำงานทั่วโลกเครียดหนัก มีอาการกลัวโดนเลิกจ้าง (Layoff Anxiety) 24% จะหมดเงินใน 2 สัปดาห์หากโดนเลิกจ้างวันนี้
ตั้งแต่เริ่มต้นปี 2025 มา เชื่อว่าสภาพจิตใจของเหล่าคนทำงานทั่วโลกคงไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีสักเท่าไหร่
.
หนึ่งในข่าวที่สร้างความหวาดหวั่นให้กับคนทำงานมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นกระแสของการ ‘เลิกจ้าง (Layoff)’ ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก
.
ครึ่งปีแรกของปี 2025 มีบริษัทเทคโนโลยีอย่างน้อย 147 แห่ง ทั่วโลกปลดพนักงานรวมกันแล้วกว่า 63,443 คน และหากแนวโน้มยังดำเนินต่อไป ตัวเลขปลดพนักงานในสายเทคโนโลยีตลอดปี 2025 อาจสูงถึง 127,000 คน ก็เป็นได้
.
[ ] Microsoft (ปลดประมาณ 6,000–7,000 คนในเดือนพฤษภาคม คิดเป็น 3% ของพนักงานทั่วโลก)
[ ] Meta (ปลดต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2022 รวมมากกว่า 21,000 คน)
[ ] IBM (ปลดประมาณ 8,000 คน)
[ ] Intel (มีแผนปลด 15–20% ของพนักงานในแผนก Foundry)
.
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากบริษัทใหญ่อีกนับร้อยแห่งที่ได้มีการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากในปี 2025 นี้ โดยสาเหตุหลักของการเลย์ออฟในปีนี้ก็คงหนีไม่พ้นการนำ AI และระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนองค์กร
.
ซึ่งความกดดันทั้งหมดนี้ ก็ได้ก่อตัวกันขึ้นมาเป็นความวิตกกังวลภายในใจของคนทำงานทั่วโลกที่เรียกว่า “กลัวการเลิกจ้าง” หรือ Layoff Anxiety
.
.
Layoff Anxiety สภาพจิตใจไม่ดี แต่ยิ่งต้องขยัน
.
ข้อมูลจากบริษัท Challenger, Gray and Christmas ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการด้านการจัดหางานใหม่ เปิดเผยว่า นายจ้างในสหรัฐฯ รายงานการปลดพนักงานเกือบ 700,000 ตำแหน่งในช่วงห้าเดือนแรกของปี 2568 เพิ่มขึ้นถึง 80% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567
.
ไม่น่าแปลกใจที่ผลสำรวจล่าสุดจาก Indeed พบว่า 46% ของชาวอเมริกันรู้สึก "กังวล" เกี่ยวกับการถูกเลิกจ้างในปีหน้า หรือเรียกได้ว่ามีอาการ Layoff Anxiety นั่นเอง
.
โดยความกลัวว่าจะตกงานนี้ อาจส่งผลกระทบต่อทุกด้านของชีวิต ทั้งประสิทธิภาพในการทำงานและความสัมพันธ์ส่วนตัว
.
คุณเมโลดี้ วิลดิ้ง โค้ชผู้บริหารและนักสังคมสงเคราะห์ อธิบายว่า ความกังวลเรื่องการเลิกจ้างสามารถสร้าง "วงจรอุบาทว์" ของการทำงานหนักเกินไปสำหรับพนักงาน จนไปถึงอาการ Burnout ได้
.
"ความกังวลเรื่องงานกำลังทำให้ผู้คนทำงานหนักขึ้น บางครั้งในด้านที่ไม่ก่อให้เกิดความ Productive และสูบพลังงานของคุณไปอย่างรวดเร็ว" เธอกล่าว
.
ตามความเห็นของฟีบี แกวิน โค้ชด้านอาชีพและการเป็นผู้นำ การคิดหรือพูดถึงงานของคุณตลอดเวลา ถือว่าเป็น Red Flag อีกประการหนึ่ง ที่สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษในที่ทำงานได้
.
ในภาพรวมที่กว้างขึ้น ความกังวลเรื่องการเลิกจ้างสามารถสร้างสภาพแวดล้อมเชิงลบที่ทำงานได้ ตามที่วิลดิ้งกล่าว เมื่อผู้คนอยู่ในภาวะตึงเครียด พวกเขามีแนวโน้มที่จะ "ตอบโต้แบบเชิงป้องกันตัวหรือหงุดหงิด" กับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งสร้างบรรยากาศของ "ความตึงเครียดและความกลัว"
.
"ความวิตกกังวลจากทุกที่ในชีวิตของคุณจะซึมเข้าไปในส่วนที่เหลือของชีวิตคุณ" เธอกล่าว
.
.
Gen Z ก็มี Layoff Anxiety เหมือนกันหรืออาจจะเยอะกว่าคน Gen อื่นด้วยซ้ำ
.
แน่นอนว่าเมื่อเราเห็นข่าวการเลิกจ้างเยอะขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มคนทำงานกลุ่มแรกๆ ที่มักจะเกิดความกลัวจะถูกเลิกจ้างก็มักจะเป็นเหล่าพนักงานรุ่นเก่า ที่มีอายุการทำงานสูง แต่ในยุคปัจจุบันกลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะกลุ่มคนที่เกิดความกลัวจะถูกเลิกจ้างมากที่สุด กลับเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ไปถึง First Jobber อย่าง Gen Z
.
โดยรายงานใหม่จาก Allianz Life เผยว่า 64% ของคนทำงานกลุ่ม Gen Z กังวลว่าอาจถูกเลิกจ้างในปีหน้า เพิ่มขึ้นจาก 55% เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และสูงกว่ากลุ่ม Millennials (45%) และกลุ่ม Gen X (41%) ที่มีความกังวลในประเด็นเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ
.
เดวิด ไรซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลจาก People Managing People กล่าวว่า คนทำงาน Gen Z คือกลุ่มคนที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์หรือเคยผ่านเหตุการณ์ที่กดดันเช่นนี้มาก่อน แถมหลายคนยังมีทักษะที่ยังไม่รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ รวมถึงด้วยการที่ว่า Gen Z ส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของอาชีพ ทำให้พวกเขายังไม่มีความกล้ามากพอที่จะขยับตัวเองไปทำงานฟรีแลนซ์อีกด้วย
.
นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่น้อย สำหรับกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ที่ต้องเข้าสู่โลกการทำงานในสภาวะที่ผันผวนอย่างรวดเร็วเช่นนี้
.
.
งานหาย เงินหด คนทำงานยิ่งเครียด
.
แน่นอนว่าปัจจัยแรกที่สร้างความกังวลมากที่สุดในการเลิกจ้างแต่ละครั้งก็คือ “การสูญเสียรายได้”
.
ผลการสำรวจพบว่า 24% ของคนทำงานจะสูญเสียเงินเก็บทั้งหมดภายในสองสัปดาห์ถ้าหากพวกเขาโดนบริษัทเลิกจ้างในวันนี้ ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็เพราะพฤติกรรมการใช้จ่ายปัจจุบันของตัวเอง และอีก 40% บอกว่าพวกเขาจะสูญเสียเงินเก็บทั้งหมดภายในหนึ่งเดือน หากยังมีพฤติกรรมการใช้เงินแบบเดิมต่อไป
.
อีก 89% กล่าวว่าการเลิกจ้างจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการเงินของพวกเขาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยผลกระทบที่พบบ่อยที่สุดคือการลดการออมเงินลงประมาณ 38% มีหนี้สินเพิ่มขึ้น 34% และประสบปัญหาในการจ่ายค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานอีก 33%
.
ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความกลัวอย่างมากเกี่ยวกับความไม่มั่นคงในงาน เกือบสองในสาม หรือ 63% ของคนทำงาน กล่าวว่าพวกเขาจะยอมรับการลดเงินเดือน เพื่อรักษางานประจำเอาไว้ รวมถึง 51% ของกลุ่มคนที่ Work From Home ก็บอกว่าพวกเขายอมกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศเพื่อรักษางานของตัวเองเอาไว้
.
.
วิธีรับมือกับ Layoff Anxiety
.
ทั้งนี้ ส่วนที่ยากที่สุดของ Layoff Axiety ก็คือ "ความรู้สึกว่าเราไม่มีอำนาจควบคุมสถานการณ์เลย"
.
แม้ว่าความวิตกกังวลที่ก่อตัวอยู่ในใจอาจทำให้เรารู้สึกกลัว เครียด หรือทำตัวไม่ถูก แต่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนทำงานตอนนี้ก็คือการ “เตรียมพร้อมเข้าไว้”
.
หากคุณมีความสัมพันธ์ที่ดีกับหัวหน้า ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแนะนำให้ลองเข้าไปเปิดอกคุยกับหัวหน้าอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสถานการณ์ของบริษัท ว่าตัวเองมีโอกาสโดนเลย์ออฟมากแค่ไหน และถึงแม้ว่าคำตอบที่ได้อาจจะไม่ถูกใจเรานัก แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เราเลิกกังวล และมองเห็นอนาคตข้างหน้าว่าเราควรเตรียมตัวอย่างไร
.
การหางานทุกครั้งไม่ใช่เรื่องสนุกและทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย แต่อยากให้ทุกคนพึงตระหนักเอาไว้ว่า การถูกเลิกจ้าง ไม่ใช่ความผิดของเราเสมอไป และการถูกเลิกจ้างก็ไม่ได้แปลว่าชีวิตของเราจบสิ้นลงแล้วแต่อย่างใด
.
ดังนั้น ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังตกอยู่ท่ามกลางความวิตกกังวลบนความไม่แน่นอนนี้ ทุกคนล้วนมีคุณค่าของตัวเอง และถ้าหากไม่หยุดพยายาม สักวันหนึ่งคุณจะพบกับเส้นทางที่ไม่ต้องทำให้คุณต้องวิตกกังวลในเรื่องใดอีกเลย
.
.
อ้างอิง
- Americans are struggling with layoff anxiety: It’s causing workers to ‘burn out faster,’ experts say : Sophie Caldwell, CNBC : http://bit.ly/4nFkCwr
- Gen Z Are Living in Fear of Layoffs : Aliss Higham, Newsweek - http://bit.ly/4lNK1Tc
- Layoff Anxiety Survey: 7 in 10 Workers Are Bracing for Job Cuts : Clara Haverstic, MarketWatch - http://bit.ly/4lbmn2S
.
.
#Layoff
#GenZ
#คนทำงาน
#พัฒนาตัวเอง
#Trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast