แก๊งคอลเซ็นเตอร์เมียนมาไม่สะเทือน! ‘Starlink’ ต่อชีพหลังไทยตัดเน็ต
แม้ประเทศไทยจะใช้มาตรการ “สามตัด” เพื่อจัดการกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติในเมียนมา โดยเฉพาะการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงจากฝั่งไทยไปยังพื้นที่ปฏิบัติการของแก๊งเหล่านี้ แต่ดูเหมือนว่า “ปัญหา” จะยังคงอยู่ และแถมยังทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เมื่อกลุ่มอาชญากรในฝั่งเมืองเมียวดีหันมาใช้ “อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink” ของอีลอน มัสก์ เป็นช่องทางใหม่ในการสื่อสารและดำเนินกิจการหลอกลวงอย่างไม่สะดุด
จากข้อมูลของ International Justice Mission (IJM) องค์กรสิทธิมนุษยชนจากสหรัฐฯ ที่ทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ เปิดเผยกับสำนักข่าว Nikkei Asia ว่า หลังจากไทยตัดสายสื่อสารทางเคเบิล กลุ่มอาชญากรรมในเมียวดีได้เพิ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ต Starlink มากกว่า “สองเท่า” ภายในเวลาเพียงหนึ่งปี โดยเฉพาะบริเวณศูนย์ใหญ่ของแก๊งใน KK Park และอาคารหลายแห่งรอบเมือง
ข้อมูลโทรศัพท์มือถือจากอุตสาหกรรมโฆษณาและผู้ให้บริการเครือข่ายเผยว่า ในเดือนเมษายน 2025 มีการเชื่อมต่อ Starlink ในพื้นที่เป้าหมายถึง 2,492 ครั้ง เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากเดือนเมษายนปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นช่วงก่อนหน้าที่ไทยจะเริ่มตัดสัญญาณอย่างจริงจัง ตัวเลขนี้อาจยังต่ำกว่าความเป็นจริง แต่เพียงพอที่จะสะท้อนภาพแนวโน้มที่น่ากังวลได้อย่างชัดเจน
ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Earth เองก็ยืนยันความเคลื่อนไหวดังกล่าว เมื่อปรากฏ “จานรับสัญญาณสีขาว” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ของ Starlink ปรากฏอยู่เต็มหลังคาอาคารของกลุ่มอาชญากร ทั้งในเขตเมืองเมียวดีและพื้นที่ใกล้เคียง จานเหล่านี้มีขนาดเล็กเพียง 40 x 60 เซนติเมตร น้ำหนักเบา พกพาง่าย และสามารถลักลอบนำเข้าข้ามแดนได้อย่างแนบเนียน
เจคอบ ซิมส์ นักวิจัยรับเชิญจากศูนย์เอเชีย มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แม้ Starlink จะไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการในเมียนมา แต่ก็กลายเป็น “ช่องทางหลัก” สำหรับการเข้าถึงโทรคมนาคมในเครือข่ายของแก๊งอาชญากรรม ด้วยความสามารถในการส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากกลุ่มดาวเทียมกว่า 8,000 ดวงในวงโคจรต่ำของโลก โดยไม่ต้องพึ่งโครงสร้างพื้นฐานภาคพื้นดิน
ในมุมมองจากฝั่งไทยมิเชลล์ มัวร์ ผู้บริหารภูมิภาคเอเชียของ Global Alms องค์กรไม่แสวงกำไรที่ทำงานช่วยเหลือผู้คนที่ถูกหลอกลวงให้ทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กล่าวอย่างชัดเจนว่า เธอสามารถมองเห็น “จาน Starlink” ผุดขึ้นอย่างรวดเร็วตามอาคารของกลุ่มอาชญากรจากฝั่งแม่สอด จังหวัดตาก “มันมีอยู่ทุกที่ หลังคา ระเบียง ผนัง ฉันไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าตอนนี้มีอาคารไหนในชายแดนเมียนมาที่ไม่มี Starlink ติดอยู่”
พล.ต.อ. ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยอมรับว่า แม้มาตรการของไทยจะเริ่มส่งผลบ้าง แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าจำนวนการโทรหลอกลวงไปยังต่างประเทศลดลงมากน้อยเพียงใด พร้อมระบุว่า อาจมีแรงงานหลงกลมากถึง 100,000 คนที่ยังคงทำงานอยู่ในเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์
ที่สำคัญ พล.ต.อ.ธัชชัยยอมรับว่าการลักลอบนำเข้าเชื้อเพลิงและอุปกรณ์ Starlink เข้าเมียนมายังเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนประสิทธิภาพของมาตรการตัด “น้ำมัน-ไฟฟ้า-เน็ต” อย่างรุนแรง ไทยได้มีการติดต่อประสานกับหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อพยายามให้บริษัท Starlink ยุติการให้บริการในพื้นที่ชายแดนดังกล่าว แม้ยังไม่มีความคืบหน้าที่เปิดเผยได้
“เรากำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่ และผมหวังว่า เราจะสามารถทำให้ Starlink ปิดการใช้งานเครื่องมือเหล่านั้นได้ มิฉะนั้น ผมคิดว่าค่อนข้างยากที่เราจะหยุดยั้งปฏิบัติการของพวกเขาได้ หากพวกเขายังคงใช้ Starlink สำหรับอินเทอร์เน็ต” พล.ต.อ.ธัชชัยกล่าว
อ้างอิง: Nikkei