SC Asset สะท้อนเสียงอสังหาฯ หวังผู้ว่าแบงก์ชาติใหม่ลดดอกเบี้ย-คลายหนี้
วันที่ 22 กรกฎาคม 2568 ประเทศไทยได้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่อย่างเป็นทางการคือ นายวิทัย รัตนากร ที่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการสมัยแรกเป็นระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ท่ามกลางความคาดหวังจากภาคธุรกิจที่จับตานโยบายการเงินในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะในจังหวะที่เศรษฐกิจยังเปราะบาง กำลังซื้อยังไม่ฟื้นเต็มที่ และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อการขยายตัวของตลาดที่อยู่อาศัยและการลงทุนของผู้ประกอบการ
นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC Asset สะท้อนมุมมองในฐานะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ว่า แม้ภาครัฐจะเริ่มทยอยออกมาตรการเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 และ 3 แต่หลายมาตรการยังต้องใช้เวลาในการส่งผลต่อเศรษฐกิจจริง ในขณะที่ภาคเอกชนยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนจากทั้งปัจจัยภายในประเทศ เช่น เสถียรภาพทางการเมือง รวมถึงปัจจัยภายนอก เช่น ภาษีการค้าระหว่างประเทศ และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
ในสถานการณ์เช่นนี้ นายณัฐพงศ์มองว่า “ทิศทางอัตราดอกเบี้ย” ยังเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะมีผลโดยตรงต่อทั้งฝั่งผู้ประกอบการและประชาชน หากธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างเหมาะสม จะช่วยเสริมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจสามารถบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยลดภาระของประชาชนที่ยังมีหนี้สินในระดับสูง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ซื้อบ้านที่กำลังชะลอการตัดสินใจจากภาระดอกเบี้ยที่สูงกว่าระดับก่อนโควิด
นอกจากเรื่องดอกเบี้ยแล้ว SC Asset ยังเสนอแนวทางเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เรื้อรังในระบบ โดยนายณัฐพงศ์เสนอให้รัฐพิจารณาจัดตั้งกลไกเพื่อ “ซื้อหนี้จากประชาชน” มาบริหารในรูปแบบ AMC (Asset Management Company) คล้ายการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เคยใช้ในวิกฤตต้มยำกุ้ง แนวทางนี้จะช่วยแยกหนี้เสียออกจากระบบ ปรับโครงสร้างหนี้ และเปิดโอกาสให้ประชาชนกลับมาเข้าถึงสินเชื่อได้อีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระยะกลางถึงยาว
“นโยบายใดก็ตามที่ทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น มีเสถียรภาพทางการเงิน และกลับมามีกำลังซื้อได้ จะย้อนกลับมาส่งผลดีต่อภาคอสังหาฯ อย่างแน่นอน” นายณัฐพงศ์กล่าว
พร้อมเสริมอีกว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่รัฐควรเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะส่งผลดีอย่างมากต่อคุณภาพชีวิต และเชิงเศรษฐกิจในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ในทางอ้อมต่อไปในอนาคต