“รักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า” แตกต่างจากการให้คีโมอย่างไร ?
รักษาโรคมะเร็งด้วยการให้คีโม (Chemotherapy) หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า “เคมีบำบัด” นับเป็นวิธีและเทคนิคการแพทย์ที่เรารู้จักและคุ้นหูเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นวิธีที่ฆ่าเซลล์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบไปถึงเซลล์ปกติในร่างกายด้วย จึงทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงค่อนข้างมาก วิวัฒนาการด้านการรักษาผู้ป่วยมะเร็งพัฒนาขึ้นมาก มีการเน้นการรักษาที่ตรงจุดซึ่งเรียกว่า “การรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า” การรักษามะเร็งที่กำหนดเป้าหมายการรักษาตรงไปที่เซลล์มะเร็ง
ตำรับแรกของไทย! “ยาอิมครานิบ 100” รักษามะเร็งแบบมุ่งเป้าชนิดเม็ด
สปสช. เปิดบริการรถรับ-ส่งผู้ป่วยมะเร็ง เข้ารักษา 3 เทคโนโลยีขั้นสูง
เพื่อหยุดหรือชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเท่านั้น โดยส่งผลต่อเซลล์ปกติเพียงเล็กน้อย ทำให้ผู้ป่วยค่อยๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการรักษา
หลักการการรักษามะเร็งด้วยยามะเร็งมุ่งเป้า
ยามะเร็งมุ่งเป้านั้นมีความแตกต่างกับยาเคมีบำบัด กล่าวคือ มีความจำเพาะเจาะจงในการหยุดหรือชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเพียงอย่างเดียว โดยส่งผลต่อเซลล์ปกติของร่างกายเพียงเล็กน้อย
การเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
นอกจากต้องอาศัยอาหารแล้ว ยังต้องมีสารเคมีที่จำเพาะเจาะจงที่ส่งสัญญาณให้เซลล์มะเร็งสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้โดยไม่ตายเหมือนเซลล์ปกติ สารเคมีนี้อาจเรียกว่า โมเลกุลสัญญาณ (Signal molecule) โดยโมเลกุลสัญญาณที่จำเพาะต่อมะเร็งแต่ละชนิดนั้นถูกสร้างมาจากสารพันธุกรรมมะเร็ง (Oncogene) ในเซลล์ปกติของเรานั่นเอง เพียงแต่ในภาวะปกติสารพันธุกรรมมะเร็งนี้จะไม่ทำงาน เพราะร่างกายจะมีกลไกบางอย่างกดการทำงานของมันอยู่ แต่เมื่อใดที่ร่างกายเกิดความผิดปกติ ทำให้กลไกนี้สูญเสียไป สารพันธุกรรมมะเร็งก็จะสามารถทำงานได้ เซลล์ปกติของร่างกายก็จะมีการผลิตโมเลกุลสัญญาณมะเร็งออกมา และเซลล์มะเร็งจะถูกกระตุ้นให้เจริญเติบโต ไม่ตาย กลายเป็นก้อนมะเร็งตามลำดับ
ยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้าทำงานอย่างไร ?
ยามะเร็งแบบมุ่งเป้าจะทำการขัดขวางการทำงานของโมเลกุลสัญญาณมะเร็ง โดยอาจทำการจับโมเลกุลสัญญาณมะเร็งโดยตรงเพื่อให้มันหยุดการทำงาน ไม่สามารถกระตุ้นเซลล์มะเร็งได้ หรือปิดกั้นผิวเซลล์มะเร็งเป้าหมายไม่ให้โมเลกุลสัญญาณมะเร็งเข้าไปในเซลล์มะเร็งเพื่อสั่งการตามปกติ ทำให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตช้าลงหรือหยุดลง
เนื่องจากยามะเร็งแบบมุ่งเป้านั้นมีความจำเพาะต่อโมเลกุลสัญญาณมะเร็งที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดมะเร็ง รวมทั้งมะเร็งชนิดเดียวกันยังอาจมีโมเลกุลสัญญาณมะเร็งหลายแบบ แพทย์จึงต้องทำการตรวจเลือดหรือตรวจชิ้นเนื้อมะเร็งของบุคคลนั้นๆ เพื่อดูชนิดของโมเลกุลสัญญาณมะเร็งของผู้ป่วยว่ามีหรือไม่ และเป็นแบบใด เพื่อเลือกใช้ยามะเร็งแบบมุ่งเป้าให้เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้น หากตรวจไม่พบโมเลกุลสัญญาณมะเร็งดังกล่าว ก็จะไม่สามารถให้ยามะเร็งแบบมุ่งเป้าแก่ผู้ป่วยรายนั้นได้
รูปแบบของยามะเร็งแบบมุ่งเป้า
- มีทั้งแบบยาเม็ดใช้รับประทาน
- ให้ทางเส้นเลือด
ซึ่งการรักษาด้วยยากลุ่มนี้อาจจะเป็นการรักษาด้วยยากลุ่มนี้เพียงอย่างเดียว หรือร่วมกับการรักษาแบบอื่น เช่น ยาเคมีบำบัด หรือรังสีรักษา เป็นต้น
ผลข้างเคียงของยามะเร็งแบบมุ่งเป้า
โดยทั่วไปมีน้อยกว่ายาเคมีบำบัดอย่างมากและแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ผู้ป่วยใช้ ซึ่งโดยทั่วไปผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่รุนแรงและสามารถแก้ไขได้
- อาการทางผิวหนังเช่น ลมพิษ อาการคันผิวหนัง ปฏิกิริยาภูมิแพ้ ตับอักเสบ
- ท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้และอาเจียน
- อ่อนเพลีย
- จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
- ความดันโลหิตสูง
ยามะเร็งแบบมุ่งเป้า จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยคลายความกังวลเรื่องการรักษาและผลข้างเคียงลงได้บ้าง แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด เพื่อฟังผลวินิจฉัยและรับคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์