คุยกับ ‘อัญชนา หีมมิหน๊ะ’ นักสิทธิมนุษยชนที่ถูกทหารฟ้องด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์ ‘ทวงเงินค่าน้ำประปา’
ฟ้องร้องตามความผิด หรือมีจุดประสงค์ที่แอบซ่อน?
เมื่อ อัญชนา หีมมิหน๊ะ นายกสมาคมด้วยใจเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกฟ้องร้องฐานหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์เฟซบุ๊กทวงเงินค่าน้ำประปาที่มัสยิดแห่งหนึ่งยังไม่ได้รับจากหน่วยทหารและเขียนผิดอำเภอในครั้งแรก คนก็ตั้งข้อสงสัยว่า นี่อาจเป็นการ ‘ฟ้องปิดปาก’ (SLAPP)
The MATTER จึงไปพูดคุยกับอัญชนา ถึงประเด็นดังกล่าว โดยอัญชนาอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมว่า เดิมทีที่มีชาวบ้านแจ้งเรื่องเข้ามาและขอคำปรึกษา เป็นการพูดคุยกันอยู่ในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส จึงเข้าใจไปเองว่าเป็นมัสยิดในพื้นที่ดังกล่าวที่เดือดร้อน แต่เมื่อทราบในภายหลัง ว่าที่ถูกต้องคือมัสยิดในตำบลบือเระ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ก็เร่งแก้ไขโพสต์
โดยกรมทหารพรานที่ 44 ก็ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์เพื่อชี้แจงว่ามีการค้างชำระจริง จำนวนเต็ม 20,000 บาท แต่มีการทำข้อตกลงโดยผ่อนชำระให้มัสยิด ซึ่งกรณีนี้ ตนก็ยังมองว่าเป็นการทำให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะชาวบ้าน โต๊ะอิหม่าม มัสยิด ต้องรับภาระในการจ่ายค่าไฟฟ้าเต็มจำนวนไปก่อน แต่เมื่อมีการชี้แจงก็เข้าใจกันว่าอย่างน้อยชาวบ้านกำลังได้รับเงินคืน
แต่แล้วหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอบาเจาะ ได้แจ้งความกล่าวโทษอัญชนาในข้อหา ‘กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา’ โดยอ้างว่าการโพสต์ดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของกองทัพเรือ และฟ้องเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดินและไม่สามารถยอมความได้
จากที่ประชาชนส่วนหนึ่งที่ติดตามข่าว มองว่าเป็นการฟ้องปิดปาก อัญชนาเองเห็นในทิศทางเดียวกัน โดยตั้งข้อสงสัยว่าการที่หน่วยงานของรัฐใช้กลไกทางกฎหมายดำเนินคดีกับประชาชนที่เพียงมีเจตนาช่วยประชาชนชาวบ้านให้ไม่เดือดร้อน โดยหน่วยงานรัฐเองก็ต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการฟ้องร้องอีก นั้นอาจไม่เป็นการคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ หรือชื่อเสียงที่จะถูกคนวิพากษ์วิจารณ์
ซึ่งนอกจากประเด็นการทวงค่าน้ำ ขณะนี้ตนเป็นคณะกรรมการศึกษาแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังทำงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตนจึงไม่แน่ใจว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้ถูกเพ่งเล็งมากขึ้นด้วยหรือเปล่า
อัญชนาแสดงความกังวลต่อการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการฟ้องปิดปาก ระบุว่า ที่ผ่านมาก็มีการใช้กฎหมายในลักษณะนี้กับคนที่ออกมาตั้งคำถามหรือเรียกร้องสิทธิต่างๆ มาตลอด ทำให้เห็นว่าเป็นการใช้กฎหมายต่อคนเฉพาะกลุ่ม มากกว่าที่จะใช้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายจริงๆ โดยอัญชนาสรุปว่า “กลายเป็นเครื่องมือที่ถ้าต้องการใช้ทำลายใคร ก็สามารถใช้ได้”
ซึ่งการถูกฟ้องและต้องเข้ากระบวนการยุติธรรม ผู้ถูกฟ้องร้องจะต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เช่น อัญชนาที่อาศัยอยู่ที่สงขลา แต่คดีถูกฟ้องที่นราธิวาส การจะต้องเดินทางไปดำเนินการต่างๆ ก็มีค่าใช้จ่าย ในขณะที่คนฟ้องแทบไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเลย เพียงแค่ต้องไปแจ้งความเท่านั้น
“ประชาชนควรได้รับการปกป้องจากกระบวนการยุติธรรม มากกว่าที่กระบวนการยุติธรรมจะถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐ หรือของกลุ่มคนทางการเมือง” อัญชนากล่าว พร้อมระบุว่าอยากให้สังคมติดตามเรื่องการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐในการคุกความประชาชน ไม่ใช่เพียงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่หมายความรวมถึงทั้งประเทศ