CISCE 2025 จีนเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำโลกด้านห่วงโซ่อุปทาน
CISCE 2025 จีนเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำโลกด้านห่วงโซ่อุปทาน
จีนประกาศเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำโลกด้านห่วงโซ่อุปทานผ่านการจัดงาน China International Supply Chain Expo (CISCE) ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16–20 กรกฎาคม 2025 ที่กรุงปักกิ่ง
งานในครั้งนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “Connecting the World for a Shared Future” มีองค์กรและบริษัทต่างๆ เข้าร่วม 651 บริษัทจาก 75 ประเทศ มีผู้แสดงสินค้าต่างชาติถึง 35% ร่วมจัดแสดงใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตขั้นสูง พลังงานสะอาด ยานยนต์อัจฉริยะ เทคโนโลยีดิจิทัล คุณภาพชีวิตที่ดี เกษตรกรรมสีเขียว ในพิธีเปิด นายเหอ ลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีจีนยืนยันว่า จีนจะยึดมั่นในหลักการ “การแบ่งปัน การเปิดกว้าง และผลประโยชน์ร่วมกัน” และย้ำบทบาทของจีนในการรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมโลกและห่วงโซ่อุปทานในยุคแห่งความไม่แน่นอน
หนึ่งในไฮไลต์สำคัญคือการประกาศ “Beijing Initiative” โดย China Council for the Promotion of International Trade (CCPIT) และพันธมิตรจากนานาชาติ โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน สนับสนุนการค้าหลายฝ่ายตามกรอบ WTO ผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน และเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และข้อมูลควอนตัม (quantum information)
ความสำเร็จของ CISCE ครั้งนี้ยังสะท้อนผ่านการมีส่วนร่วมของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ อาทิ Nvidia Tesla Rio Tinto และ GE HealthCare ที่ต่างยกย่องบทบาทของตลาดจีนในฐานะแกนกลางของห่วงโซ่อุปทานโลก โดย Jensen Huang ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Nvidia กล่าวว่า ระบบซัพพลายเชนของจีนคือสิ่งมหัศจรรย์ และยกย่องการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี AI ว่าเป็น “แรงผลักสำคัญของความก้าวหน้าโลก”
Tesla ระบุว่าโรงงานขนาดใหญ่ (Gigafactory) ที่เซี่ยงไฮ้สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ทุก 30 วินาที โดยมีชิ้นส่วนกว่า 95% มาจากผู้ผลิตในประเทศจีน ขณะที่ GE HealthCare ระบุว่ามีการจัดซื้อจัดจ้างภายในจีนมากกว่า 1 หมื่นล้านหยวนต่อปี (45,000 ล้านบาท) และมีซัพพลายเออร์มากกว่า 1,000 ราย สนับสนุนห่วงโซ่อุปทานใน 4 ภูมิภาคหลักของประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีเสียงตอบรับจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) อย่างบริษัท Aledjo CNC Machining จากเซอร์เบีย ซึ่งระบุว่างาน CISCE ไม่ได้เป็นงานสำหรับองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการ SME มีโอกาสสร้างพันธมิตรใหม่กับทั้งบริษัทจีนและต่างชาติ
ขณะที่นักวิชาการอย่าง ศาสตราจารย์หวัง อี้เว่ย จาก Renmin University of China มองว่า CISCE คือ ภาพสะท้อนของ “สะพานแห่งความร่วมมือ” โดยเฉพาะในยุคที่ห่วงโซ่อุปทานต้องอาศัยความร่วมมือและพึ่งพากัน ไม่สามารถแยกตัวโดดเดี่ยวได้อีกต่อไป
CISCE 2025 เป็นสิ่งยืนยันว่าจีนไม่ได้ต้องการเป็นศูนย์กลางการผลิตเท่านั้น แต่ต้องการเป็นผู้ประสานห่วงโซ่อุปทานความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ที่พร้อมเชื่อมทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่อย่างมั่นคงและยั่งยืน
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย
ภาพ : CGTN