ส.อ.ท.ชง 4 ข้อรับภาษีทรัมป์ หวั่นครึ่งปีหลังส่งออกร่วงติดลบถึง 10%
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ส่งจดหมายยืนยันอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่จะเรียกเก็บจากสินค้าไทยไปสหรัฐ ที่ 36% ซึ่งผู้ประกอบการไทยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ผลกระทบรุนแรงมาก ขณะที่การเจรจาของ “ทีมไทยแลนด์” ยังไม่เห็นวี่แววของความสำเร็จ ดังนั้น มาตรการเร่งด่วนที่สุด หากกรณี Worst Case รัฐจำเป็นต้องช่วยเหลือและเยียวยาทันที ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของเงินช่วยเหลือ การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ การลดภาระค่าใช้จ่าย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง วิกฤตครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทย หันกลับมาตั้งหลัก เพื่อ “ปรับตัวเอง”
ส่งออกครึ่งปีหลังอาจติดลบ 10%
ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้มีการประเมินว่า ครึ่งปีหลัง 2568 หากไทยยังเผชิญภาษีในอัตราสูง การส่งออกอาจหดตัว ติดลบกว่า 10% ทำให้ภาพรวมทั้งปี 2568 ขยายตัวใกล้ศูนย์ “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากไม่มีมาตรการรองรับ คาดว่ามูลค่าความเสียหายต่อภาคส่งออกอาจสูงถึง 800,000-900,000 ล้านบาท แม้ว่าตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2568 อยู่ที่ 31,044.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตต่อเนื่อง 18.35% สูงสุดในรอบ 38 เดือน ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย
ที่น่าแปลกใจคือ การเจรจาของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ที่ได้ลดภาษีจาก 46% เหลือ 20% แม้จะยังคงเก็บที่ 40% กรณีสินค้ามีการสวมสิทธิจากต่างประเทศ ต่อด้วยมาเลเซียลดเหลือ 25% อินโดนีเซียเหลือ 32% และลดภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหราชอาณาจักร (UK) เหลือ 10% ขณะที่ไทยยังคงที่ 36% ไม่ได้ลดลงเลย
“นายนาวา จันทนสุรคน” รองประธาน ส.อ.ท. ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มถุงมือยางที่ใช้ทางการแพทย์ คือ ผู้ส่งออกไปยังสหรัฐ เป็นตลาดหลัก ดังนั้น เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงมาก แต่ก็ยังมีบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อย จึงเป็นที่มาว่าบางกลุ่มอุตสาหกรรมจะยอม “ลดภาษีอากรนำเข้าเหลือ 0%” เฉพาะกับทางสหรัฐเท่านั้น เพื่อประคองผลกระทบที่จะเกิดทั้งประเทศ โดยเรียงลำดับความสำคัญของแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อบาลานซ์ดุลการค้าให้ไทยไม่เสียเปรียบ การเปิดหมดหน้าตักจึงเป็นแนวทางที่ไม่ควรทำ เพราะกลัวได้ไม่คุ้มเสีย การเจรจาของทีมไทยแลนด์จึงจำเป็นต้องทำให้สหรัฐสบายใจเรื่องการสวมสิทธิเช่นเดียวกับที่มาเลเซียทำได้
จี้รัฐ 4 มาตรการดูแลผู้ส่งออก
เพื่อรับมือกับสถานการณ์ภาษีและรักษาความสามารถในการแข่งขัน ส.อ.ท.ขอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการ 4 มาตรการ 1.เยียวยาผู้ประกอบการจากที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐ ด้วยการออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) หรือมาตรการพักชะลอหนี้และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การลดภาษีนิติบุคคลสำหรับเอกชนที่ได้รับผลกระทบ
การอุดหนุนหรือลดค่าใช้จ่ายในการส่งออกและการประกอบธุรกิจ เช่น ค่าบริการหน้าท่า พิธีการศุลกากร ค่าออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการประกอบธุรกิจและค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า การออกสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้นำค่าใช้จ่ายการจ้างสำนักงานกฎหมาย (Law Firm) ในสหรัฐ เพื่อศึกษาและเจรจากับภาครัฐสหรัฐ มาลดหย่อนได้ 3 เท่า
2.ส่งเสริมการเปิดตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ต้องเร่งการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ฉบับใหม่ ๆ เพื่อเปิดตลาดการค้า มาตรการส่งเสริมเพื่อหาตลาดใหม่ เช่น โครงการ SME Pro-active และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกและขยายตลาดต่างประเทศ (Trade Mission) ต้องส่งเสริมตลาดในประเทศ และการเพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในสินค้าไทย (Made in Thailand-MiT) โดยทุกหน่วยงานต้องสนับสนุนการใช้สินค้าและบริการที่ได้รับการรับรอง MiT อย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มเม็ดเงินลงทุนและสร้างการจ้างงานในไทยให้มากขึ้น
หากภาคเอกชนเข้าร่วมและได้รับการรับรอง MiT จะสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า และ MiT ช่วยสนับสนุนผู้ส่งออกทางอ้อม เพราะเป็นการเพิ่มสัดส่วนวัตถุดิบและแรงงานภายในประเทศ (Local Content) ช่วยสร้างแบรนด์สินค้าไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และยังสามารถนำแต้มสะสมหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้รับจาก MiT ไปใช้ชดเชยหรือแลกรับเงินคืนในช่วงสิ้นปีได้
3.มาตรการส่งเสริมการใช้ Local Content ภายในประเทศ นอกจากมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เช่น การลดภาษีนิติบุคคลสำหรับเอกชนที่ใช้ Local Content มากกว่า 90% และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) 4.กำกับดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนและแข็งค่ากว่าประเทศในภูมิภาค
นิคมขอรัฐช่วย Matching คู่ค้า
“นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ” ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า เอกชนที่เป็นผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศกว่า 20% ได้ร้องขอให้รัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือ โดยเฉพาะการหาตลาดใหม่ด้วยการช่วย Matching คู่ค้า ชี้เป้าให้ได้ทันที เพื่อให้กิจการการค้าของเอกชนไม่ชะงัก โดย 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มนักลงทุนเดิมที่อยู่ในไทยอยู่แล้วส่งออกไปสหรัฐ รัฐจะต้องออกมาตรการเยียวยา หยุดเลือดไม่ให้ไหลไปมากกว่านี้ อาจจะเป็นรูปแบบการขยายสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี 2.กลุ่มที่กำลังจะตัดสินใจลงทุน 3.กลุ่มที่คิดจะย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น รัฐต้องหามาตรการจูงใจดึงมาให้ได้ ให้การลงทุนจริงเกิดขึ้นให้ได้
บีโอไอจ่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มองว่า นี่ไม่ใช่วันพิพากษา แต่มันเป็นเกมยาวของสหรัฐ โจทย์สำคัญคือ ไทยจะรักษาสมดุลความสัมพันธ์ของคู่ค้าได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็น จีน สหรัฐ รัสเซีย อินเดีย ตะวันออกกลาง ขณะที่ภาคเอกชนต้องหาจุดเเข็งของตนเองให้ได้ อุตสาหกรรมใดแข่งไม่ได้ก็ต้องทรานส์ฟอร์ม บีโอไอจึงออกมาตรการชุดใหม่ เรียกว่า “มาตรการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยเพื่อรองรับโลกยุคใหม่” เพื่อมาตอบโจทย์ 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.สนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสร้าง Supply Chain ในประเทศให้แข็งแกร่ง
2.การลดความเสี่ยงจากมาตรการการค้าของสหรัฐอเมริกา และจัดระเบียบการลงทุนในบางสาขา เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมที่เปราะบาง และรักษาระดับการแข่งขันให้เหมาะสม เช่น มาตรการส่งเสริมให้ SMEs ไทย ปรับปรุงประสิทธิภาพด้วยการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัล การประหยัดพลังงาน เพิ่มเป็นยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี ในวงเงิน 100%
หรือจะเป็นมาตรการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทย (Local Content) สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า หากได้รับรอง (Made in Thailand : MiT) จาก ส.อ.ท. จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 50% เพิ่มเติมอีก 2 ปี หรือจะเป็นการพิจารณากระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญบางกิจการหรือการสวมสิทธิ โดยกระบวนการผลิตต้องมีการแปรสภาพวัตถุดิบหลักเป็นผลิตภัณฑ์ ด้วยการเปลี่ยนพิกัดศุลกากรอย่างน้อยระดับ 4 หลัก หรือแม้แต่การปรับเงื่อนไขการจ้างงานบุคลากรต่างชาติที่จ้างบุคลากรไทยไม่น้อยกว่า 70% เป็นต้น
และบีโอไอเตรียมพิจารณามาตรการเพิ่มเติมให้กับอุตสาหกรรมที่ไทยเป็นฐานการผลิตหลักในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ เช่น กลุ่มอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ อัญมณีและเครื่องประดับ
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ส.อ.ท.ชง 4 ข้อรับภาษีทรัมป์ หวั่นครึ่งปีหลังส่งออกร่วงติดลบถึง 10%
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net