ค้าปลีก ชง 2 แนวทางเร่งด่วนฟื้นกำลังซื้อ-ท่องเที่ยวไทย
นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกในเดือน มิ.ย. พบว่า ยังปรับลดลงในทุกองค์ประกอบ ทุกภูมิภาค ทั้งยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ ความถี่ในการใช้จ่าย โดยคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3 สะท้อนกำลังซื้อผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวและระมัดระวังในการจับจ่าย แม้จะมีสัญญาณบวกจากการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่ยังขาดเสถียรภาพทางการเมืองที่ชัดเจน ขณะที่ภาคเอกชนเฝ้ารอการเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ และต้องการเห็นมาตรการฟื้นฟูที่ลงมือปฏิบัติได้จริงในช่วงครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้ สมาคมฯ จึงขอเสนอแนวทาง 2 หลัก เพื่อเร่งฟื้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาสำคัญ ได้แก่ 1.อัดฉีดเม็ดเงินรัฐอย่างตรงจุด เพื่อฟื้นกำลังซื้อทั่วประเทศ โดยเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านงบแรก 1.15 แสนล้านบาท จากกรอบงบประมาณ 1.57 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน โดยควรกระจายการลงทุนครอบคลุมทั่วประเทศ ในด้านท่องเที่ยวควรเร่งมาตรการความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว และควรจัดงบคงเหลืออีก 40,000–50,000 ล้านบาท เพื่อมุ่งกระตุ้นกำลังซื้อฐานรากให้มากขึ้นกว่านี้
ขณะเดียวกันผลักดันโครงการ ช้อปดีมีคืน ช่วงระหว่าง ก.ย.-ธ.ค.นี้ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในฤดูไฮซีซั่นและเทศกาลเฟสทีฟต่างๆ พร้อมดึงผู้ค้ารายย่อยเข้าสู่ระบบภาษีอย่างเป็นธรรม โดยปรับเงื่อนไขรวมสินค้าทั่วไปและสินค้าโอทอป รวมถึงสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายในวงเงินรวมกันไม่เกิน 1 แสนบาท และเร่งเบิกจ่ายงบปี 68 ให้แล้วเสร็จก่อน 30 ก.ย. 68 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดปีงบประมาณ เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว
นอกจากนี้ 2. ดันแม่เหล็กท่องเที่ยวผ่านไทยแลนด์ ชอปปิง พาราไดซ์ ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพ โดยทดลองมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ทันที ณ ร้านค้า สำหรับนักท่องเที่ยวที่มียอดซื้อขั้นต่ำ 3,000 บาท ลดภาษีนำเข้า สำหรับสินค้าในกลุ่มแฟชั่น เสื้อผ้า น้ำหอม และเครื่องสำอาง ซึ่งปัจจุบันมีอัตราภาษีนำเข้าสูงถึง 20–30% เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค พิจารณาจัดตั้งเขตปลอดภาษี ในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว
รวมถึงจัดมหกรรมลดราคาสินค้าทั่วประเทศ ในรูปแบบเดียวกับงานสิงคโปร์ลดทั้งเกาะ โดยร่วมมือระหว่างห้างค้าปลีก ร้านอาหาร โรงแรม และผู้ประกอบการรายย่อย และเสนอขยายระยะเวลาวีซ่าของนักท่องเที่ยวรัสเซียจาก 30 วัน เป็น 45 วัน หลังสิ้นสุดโครงการเดิม เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและกระจายรายได้ในภาคการท่องเที่ยว โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวจากรัสเซียถือเป็นกลุ่มคุณภาพที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงและมักนิยมพำนักระยะยาวในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทางภาครัฐกำลังดำเนินการในด้านการปราบปรามธุรกิจนอมินี สวมสิทธิโดยชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มร้านอาหาร โรงแรม และซูเปอร์มาร์เก็ต และการคุมเข้มสินค้านำเข้าราคาถูกไม่ได้มาตรฐานนั้น ทางสมาคมฯ มองว่ารัฐมาถูกทางและเริ่มเห็นผลลัพธ์บ้างแล้ว แต่ขอเสนอให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง