“ปณิธาน” จี้ไทยเร่งทำความเข้าใจสื่อต่างประเทศ หลัง “กัมพูชา” เดินเกมนำหน้าไทยอย่างเป็นระบบ
“ปณิธาน” ชี้ “ทรัมป์” โทรหาเป็นโอกาสดีผนึกทีมเศรษฐกิจและความมั่นคงเจรจาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ เป็นห่วงไทยตามหลัง “กัมพูชา” ในเวทีนานาชาติ ทำให้เสียเปรียบบนเวทีโลก
วันที่ 27 ก.ค. 2568 รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ได้วิเคราะห์กรณีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา โทรศัพท์ถึงนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการนายกรัฐมนตรีของไทย เพื่อขอให้ไทยและกัมพูชาหยุดยิง มิฉะนั้นจะไม่เจรจาการค้าด้วย โดย รศ.ปณิธาน มองว่าแม้จะเพิ่มความซับซ้อนและสุ่มเสี่ยง แต่ก็เป็นโอกาสสำคัญที่ไทยได้ต่อสายตรงกับประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งจะนำไปใช้ประโยชน์ในประเด็นความมั่นคงความขัดแย้ง และเรื่องภาษี เนื่องจากทรัมป์มักจะผูกโยงประเด็นความมั่นคงกับเศรษฐกิจเข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องผนึกกำลังทีมเศรษฐกิจและทีมความมั่นคงเข้าด้วยกันเพื่อใช้โอกาสนี้เจรจาให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
ต้องมีตัวกลางไกล่เกลี่ย
รศ.ดร.ปณิธาน มองสถานการณ์ปัจจุบันว่า หากจะมีการหยุดยิงชั่วคราวหรือถาวร จำเป็นต้องมีตัวกลางในการไกล่เกลี่ยหรือประสานงาน บนพื้นฐานของการเจรจา พร้อมกับการสถาปนากำลังเข้าสู่พื้นที่เพื่อสร้างความปลอดภัยเพิ่มเติมให้กับประชาชน และป้องกันการรุกรานอธิปไตยของไทย ตามที่ได้แจ้งต่อสหประชาชาติแล้วว่าไทยถูกรุกรานนอกจากนี้ อาจต้องมีการวางแนวความปลอดภัยหรือแนวกันชนทางด้านความมั่นคง เหมือนที่เคยทำในอดีตช่วงสงครามกลางเมืองในกัมพูชา แต่สถานการณ์ปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น
ต้องมีผู้สังเกตุการณ์
เพราะการเจรจาหยุดยิงต้องมีผู้บังคับใช้ข้อตกลงที่ชัดเจน และในระหว่างการเจรจาหรือระหว่างที่ยังบังคับใช้ข้อตกลงไม่ได้ มักจะมีการปะทะและการปกป้องตนเองเกิดขึ้น จึงต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้จะต้องมีคณะผู้สังเกตการณ์เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลง เนื่องจากมักจะมีฝ่ายที่ละเมิดอยู่เสมอ
เงื่อนไขหยุดยิงต้องรอบคอบ
สำหรับเงื่อนไขการหยุดยิง ควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยขณะนี้ไทยมีโอกาสที่จะให้ผู้ประสานงานผลักดันให้กัมพูชากลับมาอยู่ในกรอบทวิภาคี ตามที่ไทยได้ยื่นข้อเสนอต่อสหรัฐฯ ไปแล้วว่า หากกัมพูชาเสนอหยุดยิง ไทยก็ยินดี แต่กัมพูชาจะต้องกลับมาเจรจาตามที่ได้ตกลงไว้ว่าจะไม่กระทำเช่นนี้อีกในอนาคต
รับ “ทรัมป์” โยงภาษีทำซับซ้อน
รศ.ดร.ปณิธาน ชี้ว่า ในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) แม้จะมีหลายประเทศแสดงความสนใจเข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย แต่ไทยต้องการให้เข้ามาเพียงแค่ประสานงานและสื่อสารโดยตรงกับกัมพูชา การมีคนกลางตอนนี้ถือเป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตาม หากคนกลางคือสหรัฐฯ และนำเรื่องนี้ไปผูกโยงกับประเด็นภาษีและเศรษฐกิจ จะยิ่งทำให้สถานการณ์ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
รับไทยเสียเปรียบบนเวทีโลก
รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวด้วยว่าประเด็นที่น่ากังวลคือ ประเทศไทยยังคงเสียเปรียบกัมพูชาในเวทีระหว่างประเทศ ด้านการต่อสู้ทางข้อมูลข่าวสาร เพราะแม้ผู้แทนไทยจะชี้แจงรายละเอียดการละเมิดกฎกติการะหว่างประเทศของกัมพูชาได้อย่างดีเยี่ยม แต่ผลลัพธ์จาก UNSC กลับแทบไม่มีอะไรเลย ซึ่งผิดปกติอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2554 ที่เกิดการปะทะกัน และมีข้อยุติที่ชัดเจนจาก UN ออกมาหลายข้อ เช่น ให้หยุดยิงทันที การใช้แนวทางสันติวิธี การให้ประเทศที่เป็นประธานอาเซียน (อินโดนีเซียในขณะนั้น) เข้ามาไกล่เกลี่ย และการส่งผู้แทน UN เข้ามาสำรวจความเสียหาย
เชื่อกัมพูชาเตรียมพร้อมทุกอย่าง
และการที่ครั้งนี้ไม่มีข้อยุติที่ชัดเจนจาก UN อาจเป็นไปได้ว่ากัมพูชาได้มีการล็อบบี้นานาชาติ รวมถึงสมาชิกถาวรของ UNSC อย่างฝรั่งเศสและจีนไว้แล้ว หรือแม้แต่สหรัฐฯ เองก็อาจมีความสัมพันธ์ทางการทหารที่ใกล้ชิดกับกัมพูชา โดยกัมพูชาสามารถขอให้ UNSC บรรจุวาระเรื่องนี้ได้อย่างเร่งด่วนภายใต้หัวข้อ “ภัยคุกคามต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของนานาชาติ” ซึ่งครั้งก่อนไม่ได้บรรจุในวาระลักษณะนี้ แสดงให้เห็นว่ากัมพูชาก้าวไปไกลกว่าไทยในเวทีนานาชาติ และมีการเตรียมข้อมูลพร้อมทุกอย่าง
ไทยมีจุดอ่อนด้านสื่อสารตปท.
อีกทั้งสื่อต่างประเทศส่วนใหญ่ยังคงรายงานข่าวการปะทะว่าเป็น การปะทะซึ่งกันและกัน และแทบไม่มีการรายงานรายละเอียดว่ากัมพูชาโจมตีเป้าหมายพลเรือน และข่าวที่ต่างประเทศนำเสนอแสดงภาพลักษณ์ว่าไทยเป็นฝ่ายข่มเหงกัมพูชาด้วยซ้ำ ซึ่งไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์นี้ และควรเปิดวอร์รูมด้านการข่าวต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและสื่อสารในหลายภาษา ให้แต่ละประเทศเข้าใจในข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้น
ยังไม่บานปลายเป็นสงครามใหญ่
รศ.ดร.ปณิธาน มองว่า ขณะนี้การปะทะลดระดับลงบ้างแล้ว แต่อาจมีการประทุขึ้นเป็นระยะในบางจุด โดยไม่ได้ปะทะตลอดแนวหรือใช้อาวุธหนักจำนวนมาก ปฏิกิริยาของ UN, อาเซียน, สหรัฐฯ, จีน และยุโรป ทำให้มั่นใจในระดับหนึ่งว่าเหตุการณ์จะไม่บานปลายจนเกิดเป็นสงครามขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผลดีกับไทย อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถตอบได้ว่าจะหยุดเมื่อไหร่ เพราะหน่วยปฏิบัติการทางการทหารทั้งสองฝ่ายยังคงทำหน้าที่ในพื้นที่ โดยฝ่ายไทยยังคงป้องกันการรุกรานอธิปไตยและการยึดพื้นที่ทางยุทธวิธีของกัมพูชา
มองโอกาสพลิกสถานการณ์
แม้ไทยจะได้เปรียบในเรื่องพื้นที่ กำลังพล และศักยภาพของกองทัพ แต่ในการต่อสู้บนเวทีระหว่างประเทศ ไทยยังคงเสียเปรียบและตามกัมพูชาไม่ค่อยทัน ดังนั้น การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ติดต่อมาจึงเป็นโอกาสที่ไทยต้องคิดหาทาง พลิกสถานการณ์ โดยขอให้สหรัฐฯ ช่วยเหลือในเวทีนานาชาติมากขึ้น เพื่อให้มีการประจาน ประณาม หรือกดดันกัมพูชาให้ชัดเจนในเรื่องการโจมตีพลเรือนและโรงพยาบาล ซึ่งผิดกฎกติกาสากลและร้ายแรงที่สุด หรือใช้ช่องทางที่ทรัมป์ติดต่อมาเป็นช่องทางพิเศษในการพูดคุยและกดดันอีกหลายประเทศให้ลดการสนับสนุนทางการเมืองและอาวุธยุทโธปกรณ์กับกัมพูชา รวมถึงหารือกับจีนให้ลึกซึ้งขึ้นเพื่อไม่ให้ส่งอาวุธให้กับกัมพูชา
จี้เร่งแจงสื่อนอก เขมร โจมตีพลเรือน
รศ.ดร.ปณิธาน กลาวด้วยว่า เราต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้สื่อต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันมีรายงานข่าวต่างประเทศน้อยมากที่ชี้ว่ากัมพูชาโจมตีพลเรือนไทย และมักนำเสนอภาพว่าไทยไปข่มเหงกัมพูชา ซึ่งไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงพื้นที่นี้ เพราะปัจจุบันกัมพูชาสร้างข่าวให้ต่างประเทศรับรู้อย่างต่อเนื่อง เช่น การอ้างว่าหยุดยิงแล้ว เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง ซึ่งไทยยังคงเสียเปรียบจุดนี้อยู่
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “ปณิธาน” จี้ไทยเร่งทำความเข้าใจสื่อต่างประเทศ หลัง “กัมพูชา” เดินเกมนำหน้าไทยอย่างเป็นระบบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กัมพูชาใช้สไนเปอร์ ลอบซุ่มยิงทหารไทย จากบนเขาพระวิหาร
- เปิดตัวเลขผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิต เหตุไทยปะทะกัมพูชา พลเรือนดับ 14 ศพ
- รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ คุยรัฐมนตรีกัมพูชา เรียกร้องลดตึงเครียด-หยุดยิงทันที
- “ภูมิธรรม – ฮุน มาเนต” เตรียมถกปมขัดแย้งที่มาเลเซียพรุ่งนี้
- รมว.กต. สหรัฐฯ ต่อสายตรงถึง “มาริษ” เรียกร้องให้รัฐบาลไทยตกลงหยุดยิงกับกัมพูชา
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath