มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคร้ายที่ไม่เลือกวัย เช็กให้ชัวร์ก่อนสายเกินไป
คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามาฯ ผู้เขียน : ผศ.นพ.พงศศิษฏ์ สิงหทัศน์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุและเวชบำบัดวิกฤตศัลยกรรม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal Cancer) เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ หรือทวารหนัก โดยเริ่มจากการก่อตัวของติ่งเนื้อ (Polyps) ซึ่งในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่หากปล่อยทิ้งไว้นาน ติ่งเนื้อเหล่านี้อาจกลายเป็นเนื้อร้ายได้ในที่สุด มะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถแบ่งออกเป็นหลายระยะ
โดยระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการใด ๆ เลย แต่เมื่อเข้าสู่ระยะลุกลาม ผู้ป่วยอาจพบอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง ท้องอืด มีเลือดปนในอุจจาระ หรือถ่ายไม่สุด มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นหนึ่งในมะเร็งที่สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรก หากได้รับการตรวจเช็กอย่างสม่ำเสมอ
ปัจจัยเสี่ยง-อาการมะเร็งลำไส้ใหญ่
อายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อายุเกิน 50 ปี มีแนวโน้มเสี่ยงสูงขึ้น, พันธุกรรมและประวัติครอบครัว หากมีคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมีประวัติของโรคทางพันธุกรรม เช่น Familial Adenomatous Polyposis (FAP) หรือ Lynch Syndrome
มีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะถ้าไม่ตรวจและรักษา อาจกลายเป็นมะเร็งได้, โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง, พฤติกรรมการกิน กินอาหารไขมันสูง อาหารแปรรูป โดยเฉพาะเนื้อแดง เนื้อย่าง ของหมักดอง และไฟเบอร์ต่ำ
ไม่ออกกำลังกาย อ้วนลงพุง น้ำหนักเกินและการใช้ชีวิตแบบนั่งนาน ๆ ทำให้เสี่ยงเพิ่มขึ้น, สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ พฤติกรรมเหล่านี้เพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งในหลายระบบ รวมถึงลำไส้ใหญ่
สำหรับกลุ่มคนที่ควรตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่
ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แม้จะไม่มีอาการผิดปกติ ก็แนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรอง เพราะความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุ
ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ เช่น พ่อแม่ พี่น้อง หรือญาติใกล้ชิด โดยเฉพาะถ้าเกิดโรคก่อนอายุ 60 ปี
ผู้ที่เคยตรวจพบติ่งเนื้อ (Polyps) เนื่องจากบางชนิดอาจพัฒนาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต
ผู้ที่เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เช่น Crohn’s Disease หรือ Ulcerative Colitis ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
ผู้ที่มีอาการผิดปกติของระบบขับถ่ายเป็นเวลานาน เช่น ถ่ายเป็นเลือด ท้องผูกเรื้อรัง หรือท้องเสียสลับท้องผูก
ผู้ที่มีประวัติใช้ชีวิตเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์บ่อย ไม่ออกกำลังกาย และกินอาหารไขมันสูง
วิธีการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
วิธีการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ มีหลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัด เพื่อนำเนื้อร้ายออก โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้น, การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) ในกรณีที่มะเร็งลุกลาม, การฉายรังสี (Radiation Therapy) ใช้ในกรณีที่มะเร็งอยู่ใกล้ทวารหนัก, การรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) และภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) สำหรับผู้ป่วยบางราย
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคร้ายที่ไม่เลือกวัย เช็กให้ชัวร์ก่อนสายเกินไป
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net