“ปราสาทขอม” ในไทย ถูกทำลายด้วยสาเหตุอะไรบ้าง?
ปราสาทขอมในไทย ถูกทำลายด้วยสาเหตุอะไรบ้าง?
“ปราสาทหิน” หรือ “ปราสาทขอม” ในภาคอีสานของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ช่วงนี้กำลังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต ที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปชมความสวยงาม
ไม่เพียงเพราะมีอายุเก่าแก่นับพันปี แต่เพราะปราสาทหินยังสะท้อนคติความเชื่อที่เปลี่ยนผ่านในแต่ละยุคอีกด้วย
ดร. ปรีดา โกมลกิติ เล่าถึงพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงคติความเชื่อในพื้นที่ดังกล่าว ที่ส่งผลต่อการใช้สอยจุดต่างๆ ของปราสาทหินไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2549 ว่า
ช่วงเปลี่ยนแปลงจากการยึดถือ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ผสมผสานกับพุทธมหายานของขอม มาเป็น พุทธเถรวาทลังกา เมื่อราวต้นพุทธศักราช 1800 ในดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก ตลอดจนบริเวณที่ราบสูงอีสาน พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงช่วงแรกว่า ยังคงยึดถือรูปแบบสถาปัตยกรรมขอมดั้งเดิม คือ “ปรางค์ประธาน”
แต่เดิมปรางค์ประธานใช้สำหรับประดิษฐานรูปเคารพของพราหมณ์ เมื่อเปลี่ยนแปลงคติความเชื่อแล้วก็กลายเป็นที่สำหรับประดิษฐานรูปเคารพทางพุทธศาสนา ขณะที่ส่วนอื่นๆ ของปราสาทหิน เช่น มณฑป หรืออาคารด้านหน้าของปรางค์ ก็มีการดัดแปลงเป็นพื้นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา
แม้ว่าจะไม่สอดคล้องกับความต้องการพื้นที่ใช้สอยได้โดยตรง แต่ก็ถือเป็นทางออกที่ดีสำหรับช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
ปราสาทขอมที่มีการดัดแปลงเพื่อประโยชน์ของพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งพบว่ามีจำนวนไม่มากนัก ได้มีการใช้สอยอาคารอย่างต่อเนื่องมาได้ระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะถูกปล่อยทิ้งร้างไปในที่สุด
เป็นที่น่าสังเกตว่า ปราสาทขอมที่ได้รับการดัดแปลงประโยชน์ใช้สอยดังกล่าวนี้ จะอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ในรูปโครงสร้าง โดยความทรุดโทรมจะถูกจำกัดเพียงแค่เปลือกนอกเท่านั้น
ส่วนปราสาทขอมที่สำคัญอื่นๆ ในบริเวณที่ราบสูงอีสาน กลับไม่พบการใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง แต่เป็นการหยุดใช้งานลงโดยฉับพลันในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนแปลงศาสนาและการปกครอง จากพราหมณ์ฮินดูมาเป็นพุทธเถรวาทลังกาแทบทั้งสิ้น
ปราสาทขอมในไทย ถูกทำลายด้วยสาเหตุใดบ้าง?
ปราสาทขอมในดินแดนที่ต่อมาคือประเทศไทย ที่ไม่ได้รับการดัดแปลงให้ใช้งานต่อเนื่อง จะถูกทิ้งร้างหรือทำลายลงด้วย 5 สาเหตุหลัก ดังที่ ดร. ปรีดา บอกไว้ดังนี้
1. อาคารถูกทิ้งร้างให้เสื่อมโทรมลงตามสภาพธรรมชาติ
โดยทั่วไปอาคารปราสาทขอมประกอบด้วยวัสดุหลัก 4 ประเภท ได้แก่ อิฐเปลือย อิฐฉาบปูน ศิลาแลง และหินทราย ความชื้นและความร้อนเป็นตัวการสำคัญในการทำลายวัสดุเหล่านี้ให้เสื่อมสภาพ ทุกครั้งที่อาคารเปียกชุ่มด้วยน้ำฝน และถูกแสงแดดแผดเผา ส่วนหนึ่งของอณูที่ยึดประกอบเป็นพื้นผิวของวัสดุจะแตกสลาย ผิวอาคารประเภทก่ออิฐฉาบปูนจะเริ่มแตกร้าวและสลายตัวลงก่อนในชั่วอายุคน ส่วนผนังที่ก่ออิฐเผาเรียบจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าถึงหลายชั่วอายุคน
2. อาคารถูกทำลายลงโดยแรงกระทำของธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว พายุ น้ำหลาก ฟ้าผ่า
แรงกระทำโดยตรงจากธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำหลาก ฟ้าผ่า ลมพายุ หรือแม้แต่การฝังรากลงในตัวอาคารของต้นไม้ใหญ่ เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการที่ปราสาทหินพังทลาย
สำหรับปราสาทขอมในดินแดนไทย ไม่พบการพังทลายโดยน้ำท่วมหรือน้ำหลาก อาจเป็นไปได้ว่าสถาปนิกเลือกชัยภูมิที่สูง จึงรอดพ้นสภาวะอันตรายนี้ได้ ส่วนกรณีลมพายุไม่มีผลต่ออาคารที่มีลักษณะการก่อสร้างมั่นคงด้วยอิฐและหินล้วน กรณีฟ้าผ่าอาจก่อให้เกิดความร้อนต่อส่วนยอดสุดของปรางค์หรือกลศ มีตรีศูลเป็นโลหะ ทำหน้าที่เสมือนสายล่อฟ้า เป็นเหตุให้กลศอาจแตกสลาย แต่ไม่เพียงพอที่จะทำให้อาคารพังทลายลงทั้งหลัง
3. อาคารถูกทำลายลงโดยอัคคีภัย
ไฟไหม้จะเป็นด้วยอุบัติเหตุหรือจงใจก็ตาม สามารถทำลายอาคารทั้งหลังลงได้ แต่คงไม่ใช่ในกรณีปราสาทขอมในไทย ด้วยเหตุว่ามีชิ้นส่วนของโครงสร้างไม้ที่เป็นวัสดุติดไฟประกอบอยู่น้อยมาก
4. อาคารถูกทำลายลงโดยการเสื่อมสภาพของโครงสร้าง
ประเด็นนี้มักเกิดจากการเสื่อมสภาพของฐานราก หรือฐานรากทรุดตัว แต่จากการตรวจสอบสภาพฐานรากอาคารปราสาทขอมในไทยโดยทั่วไป ส่วนใหญ่ไม่พบสาเหตุดังกล่าว
5. อาคารถูกทำลายลงด้วยน้ำมือมนุษย์
การรื้อทำลายอาคารประเภทศาสนสถานโดยทั่วไปของมนุษย์ มักเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง เช่น ขุดค้นหาสมบัติ การลักขโมยส่วนประกอบสถาปัตยกรรมของอาคาร ศึกสงคราม ความขัดแย้งทางศาสนา ฯลฯ
แม้จะมีหลายปัจจัยที่ทำให้เสื่อมสภาพ แต่ปราสาทหินหรือปราสาทขอมในไทยหลายแห่งก็ยังคงอยู่ผ่านกาลเวลามาได้ถึงปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- ปราสาทตาเมือนธม จ. สุรินทร์ อายุเกือบ 1,000 ปี แหล่งอุดมจารึกแห่งอีสานใต้
- ดูแนวคิดรื้อ “นครวัด” และปราสาทขอม สมัยรัชกาลที่ 4 สู่การจำลองนครวัด ตั้งที่วัดพระแก้ว
- สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับความคาดไม่ถึง เมื่อเสด็จเยือน “นครวัด”
- อาลัย “ปิแอร์ ปิชาร์ด์” นักบูรณะปราสาทหินสำคัญในไทย จากไปด้วยวัย 88 ปี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “ปราสาทขอม” ในไทย ถูกทำลายด้วยสาเหตุอะไรบ้าง?
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com