ประกาศผล 'ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น-เพชรในเพลง' วันภาษาไทยแห่งชาติ 29 ก.ค. 68
กระทรวงวัฒนธรรมจัดงานแถลงข่าวการจัดงาน วันภาษาไทยแห่งชาติ พ.ศ. 2568 ร่วมสืบสานภาษาไทย ภาษาของชาติ ปลูกปัญญาด้านภาษาอย่างยั่งยืน
วันที่ 16 กรกฎาคม 2568 พลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในงานแถลงข่าวการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2568 ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
โดยมีพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร, ยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม, ลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เครือข่ายทางวัฒนธรรม เข้าร่วมงาน
พลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน ควรใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
"แสดงถึงอัตลักษณ์ของชาติไทย สะท้อนถึงความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้ให้ความสำคัญกับภาษาไทย จัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ประชาชนเห็นคุณค่า ร่วมกันสืบสานการใช้ภาษาไทยอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
ในปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ ในวันอังคารที่ 29 กรกฎาคม 2568 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
ภายในงานจะมีการมอบเข็มและโล่เชิดชูเกียรติแก่ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นในหลากหลายสาขา, การมอบรางวัลเพชรในเพลง, การมอบรางวัลการประกวดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ, การมอบเกียรติบัตรผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยที่ส่งเสริมการใช้ภาษาไทย ตลอดจนการจัดแสดงนิทรรศการ และการแสดงศิลปวัฒนธรรม
กิจกรรมทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทย สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ก่อให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ภาษาไทยอย่างภาคภูมิใจต่อไปในอนาคต"
ยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้คัดเลือกบุคคลและองค์กรที่มีบทบาทโดดเด่นด้านภาษาไทยเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ แบ่งเป็น 4 ประเภท 16 รางวัล ดังนี้
1. ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จำนวน 1 ราย ได้แก่ รองศาสตราจารย์จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ
2. ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จำนวน 7 ราย ได้แก่
- นายกิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน
- นายเผด็จ บุญหนุน
- รองศาสตราจารย์วิภาส โพธิแพทย์
- นายสมพล เข็มกำเหนิด
- นายเอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร
- นายอนุสรณ์ ติปยานนท์
- รองศาสตราจารย์อรชุมา ยุทธวงศ์
3. ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น จำนวน 6 ราย ได้แก่
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประภาศ ปานเจี้ยง
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์พวงผกา ธรรมธิ
- นายยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ
- นายวิเชียร รัตนบุญโน
- นางสำรวม ดีสม
- นายอรุณศิลป์ ดวงมูล
4. ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย จำนวน 1 ราย และ 1 องค์กร ดังนี้
- ประเภทบุคคล ได้แก่ นางสุรีย์ พันเจริญ
- ประเภทองค์กร ได้แก่ สมาคมกวีร่วมสมัย
พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากรในฐานะหน่วยงานหลักด้านมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ได้จัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ ในปีนี้มี 3 กิจกรรม ดังนี้
1. การประกวดเพลง เพชรในเพลง เพื่อยกย่องบุคคลในวงการเพลงที่มีผลงานดีเด่นด้านภาษาไทย ได้แก่ นักประพันธ์เพลงที่มีความสามารถผสมผสานความรู้ทางภาษา วรรณศิลป์ คีตศิลป์ และจินตนาการได้อย่างเหมาะสม และนักร้องที่ขับร้องเพลงได้ชัดเจนและถูกต้องตามหลักภาษาไทย มีศิลปะการใช้เสียง และถ่ายทอดจังหวะอารมณ์ในการขับร้องได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งยังเชิดชูเกียรติบุคคล องค์กร หรือโครงการที่มีผลงานดีเด่นด้านส่งเสริมภาษาไทยและมีคุณูปการต่อวงการเพลง
ผลการประกวดเพลง เพชรในเพลง ปี 68 มี 20 รางวัล ได้แก่
รางวัลการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย จำนวน 6 รางวัล
- รางวัลชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล ได้แก่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ จากเพลงกตัญญู
- รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล ได้แก่ นายกฤตศิลป์ ฉลองขวัญ จากเพลงฟ้าหลังฝน
- รางวัลชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ได้แก่ นายสลา คุณวุฒิ จากเพลงผู้หญิงหัวใจอีสาน
- รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ได้แก่ นายพีรพัฒน์ คงเพ็ชร จากเพลงไอดินกลิ่นหญ้า
- รางวัลชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงเพื่อชีวิต ได้แก่ นายพยัพ คำพันธุ์ จากเพลงสู้ชีวิต
- รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงเพื่อชีวิต ได้แก่นายสุรศักดิ์ ตันน้อย (กฤช เกรียงไกร) และ นายประเสริฐ พงษ์ธนานิกร (ราชันย์ วังทอง) จากเพลงชีวิต คือ อนัตตา
รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย จำนวน 12 รางวัล
- รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย ได้แก่ นายทชภณ พลกองเส็ง (พลพล พลกองเส็ง) จากเพลงอยากให้รู้ว่าห่วงใย
- รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย ได้แก่ นายรัชเมศฐ์ สุวโชคพิบูลย์ (เล็ก รัชเมศฐ์) จากเพลงใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว
- รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง ได้แก่ นางสาวสรวีย์ ธนพูนหิรัญ (ผิงผิง) จากเพลงฟ้าหลังฝน
- รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง ได้แก่ นางสาวกวิสรา คงบุญศิริคุณ (กอกี้ กวิสรา) จากเพลงLife of อีหล่า
- รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย ได้แก่ นายอนันต์ อาศัยไพรพนา (นัน อนันต์) จากเพลงจีบเธอได้ไหม
- รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย ได้แก่ นายกิตติคุน บุญค้ำจุน (มนต์แคน แก่นคูน) จากเพลงแฟนบ่ว่าบ้อ
- รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง ได้แก่ นางสาวสุทธิยา รอดภัย (ใบเฟิร์น สุทธิยา) จากเพลงเสียงหวานจากหลานย่าโม
- รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง ได้แก่ นางสาวกาญจนา มาศิริ จากเพลงแฟนเก่าที่เรายังรัก
- รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงเพื่อชีวิตชาย ได้แก่ นายวรพล นวลผกา (น๊อตตี้ freedom) จากเพลงสู้ชีวิต
- รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงเพื่อชีวิตชาย ได้แก่ นายอิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี (จ๋าย ไททศมิตร) จากเพลงแอบเก็บความในใจไว้ภายในแว่นเรย์แบนสีดำ
- รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงเพื่อชีวิตหญิง ได้แก่ นางสาวชนาภรณ์ ทวีชาติ (แพร ชนา) จากเพลงคลื่น
- รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงเพื่อชีวิตหญิง ได้แก่ นางสาวชฎาพร เถาบุญ (บักฟ้า ชฎาพร) จากเพลงพรหนึ่งข้อ
รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ จำนวน 2 รางวัล
- นัจจกรผู้สร้างสรรค์บทเพลงและบทละครเวทีได้แก่ นางดารกา วงศ์ศิริ
- ผู้มีคุณูปการต่อวงการเพลงและดนตรี ได้แก่ นายอานันท์ นาคคง
2. การจัดพิมพ์หนังสือหายาก กรมศิลปากรได้จัดพิมพ์ จินดามณี ฉบับสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ แบบเรียนภาษาไทยในสมัยอยุธยา สอนเรื่องอักขรวิธี การประสมอักษร การผันวรรณยุกต์ มีคุณค่าต่อการศึกษาพัฒนาการด้านอักษรศาสตร์และการเรียนการสอนภาษาไทยในอดีต
3. การสัมมนาทางวิชาการด้านภาษาและวรรณคดีไทย ในหัวข้อ วรรณคดีบทละครไทย ที่มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ด้านภาษาและวรรณคดีไทย ธำรงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ในวันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2568 เวลา 09.00-16.30 น. มีการถ่ายทอดสดทางเฟสบุ๊กกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
เชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ในวันอังคารที่ 29 กรกฎาคม 2568 ตั้งแต่เวลา 09.30 น. เป็นต้นไป ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่ www.culture.go.th
………………………………………..
อ้างอิง : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
.