เจนเซน หวง: ถ้าย้อนวัย 20 ปีอีกครั้ง เขาจะเลือกเรียน ‘ฟิสิกส์’ ไม่ใช่ซอฟต์แวร์
“ถ้าย้อนวัย 20 ปีได้อีกครั้ง ผมจะเลือกเรียนวิทยาศาสตร์กายภาพ”
เจนเซน หวง ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งอินวิเดีย (Nvidia) บริษัทผู้อยู่เบื้องหลังชิปประมวลผลเอไอที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก กล่าวกับนักข่าวท้องถิ่นขณะที่เขาเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
“ถ้าคุณเป็นเจนเซนที่เพิ่งอายุ 22 ปี ที่เพิ่งจบการศึกษาในปี 2025 และยังมีความทะเยอทะยานเท่าเดิม คุณจะเลือกทำอะไร?” นักข่าวท้องถิ่นตั้งคำถามถึงเขา
ซีอีโออินวิเดีย อธิบายว่า หากเขาย้อนกลับไปเป็นหนุ่มวัย 20 ปีในยุคปัจจุบัน เขาจะเลือกเรียนวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences) แทนวิทยาการซอฟต์แวร์อย่างที่เคยเรียนมา
“เจนเซนในวัย 20 ที่เพิ่งเรียนจบ คงจะเลือกเรียนวิทยาศาสตร์กายภาพ มากกว่าวิทยาศาสตร์ซอฟต์แวร์” เขากล่าว พร้อมระบุว่าในชีวิตจริง เขาเรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้าตั้งแต่อายุ 20 ปี และจบปริญญาโทจากสแตนฟอร์ดในเวลาต่อมา ก่อนจะร่วมก่อตั้งอินวิเดียในปี 1993
แม้เขาไม่ได้อธิบายเหตุผลโดยตรงว่าทำไมถึงเลือกวิทยาศาสตร์กายภาพ แต่เมื่อพิจารณาความเคลื่อนไหวในปีที่ผ่านมา คำตอบนี้สะท้อนถึงมุมมองที่เขามีต่อคลื่นลูกใหม่ของเอไอที่เขาเรียกว่า Physical AI หรือ ‘เอไอทางกายภาพ’
วิทยาศาสตร์กายภาพที่หวงพูดถึงนั้นครอบคลุมแขนงอย่างฟิสิกส์ เคมี ดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์โลก ซึ่งต่างจากวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่เน้นระบบสิ่งมีชีวิต
จาก Perception สู่ Reasoning และ Physical
ในเวที Hill & Valley Forum ที่จัดขึ้น ณ กรุงวอชิงตันเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หวง ได้อธิบายถึงวิวัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ว่าเกิดขึ้นเป็นระลอก
- ระลอกแรก คือ Perception AI หรือเอไอด้านการรับรู้ เช่น การมองเห็น การได้ยิน และการจำแนกวัตถุ ซึ่งจุดเริ่มต้น คือ การมาถึงของ AlexNet ในปี 2012 ที่จุดประกายการบูมของ Deep Learning
- ระลอกที่สอง คือ Generative AI หรือเอไอที่สามารถสร้างภาพ เสียง ข้อความ และโค้ด
- ระลอกที่สาม คือ Reasoning AI หรือเอไอที่มีความสามารถในการใช้เหตุผล วิเคราะห์ สังเคราะห์ และแก้ปัญหาที่ไม่เคยเจอมาก่อน
และในระลอกถัดไป หวงกล่าวว่า เอไอจะต้องเข้าใจโลกในเชิงฟิสิกส์มากขึ้น นั่นคือ Physical AI ซึ่งไม่ใช่เพียงการรับรู้หรือการสร้าง แต่เป็นการเข้าใจโลกจริงอย่างลึกซึ้ง
“เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคของ Reasoning AI ที่สามารถวิเคราะห์ ตัดสินใจ และรับมือกับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้ แต่คลื่นลูกต่อไป คือ Physical AI ซึ่งจะต้องเข้าใจกฎของฟิสิกส์ เช่น แรงเสียดทาน ความเฉื่อย และเหตุผล”
เขายกตัวอย่างว่า ความสามารถอย่าง object permanence หรือความเข้าใจว่า วัตถุยังคงมีอยู่ แม้มองไม่เห็น นั่นก็คือสิ่งที่เอไอจะต้องเข้าใจ หากจะอยู่ร่วมกับโลกจริงอย่างมนุษย์
เมื่อเอไอต้องจับของ เคลื่อนที่ และอยู่ในร่างหุ่นยนต์
หวง เชื่อว่า เมื่อเอไอเข้าใจโลกทางกายภาพได้อย่างแท้จริง มันจะสามารถเป็น ‘แรงงานดิจิทัล’ ได้ในความหมายใหม่ ไม่ใช่แค่ระบบที่นั่งอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ แต่เป็นสิ่งที่ลงมือทำงานจริง เช่น หยิบจับวัตถุในสายพาน หรือประเมินว่าควรใช้แรงมากเท่าไรในการหยิบของชิ้นหนึ่งโดยไม่ทำให้มันเสียหาย
“เมื่อคุณเอาเอไอที่เข้าใจฟิสิกส์ แล้วใส่มันเข้าไปในร่างกายจริง นั่นก็คือหุ่นยนต์ และหุ่นยนต์เหล่านี้คือคำตอบของปัญหาแรงงานที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก”
เขาเสริมว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า โลกจะต้องการโรงงานอัตโนมัติที่เต็มไปด้วยระบบหุ่นยนต์มากขึ้น และเอไอที่ทำงานในโลกจริง จะต้องมีพื้นฐานจากวิทยาศาสตร์กายภาพ
มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกพูดถึงการศึกษา
คำตอบของหวงในครั้งนี้ อาจไม่ใช่แค่ความเห็นส่วนตัวของผู้บริหารคนหนึ่ง แต่ยังสะท้อนว่าแม้ในยุคเอไอบูม ที่หลายคนแห่เรียนสายโปรแกรมมิ่งและซอฟต์แวร์ ผู้นำวงการเทคโนโลยีกลับหันไปเน้นสิ่งที่ ‘จับต้องได้’ อย่างวิทยาศาสตร์พื้นฐาน
และนั่นอาจเป็นคำเตือนกลายๆ ถึงระบบการศึกษายุคใหม่ ว่าการเข้าใจโลกในเชิงลึก ไม่ใช่เพียงแค่การใช้เครื่องมือ แต่คือการเข้าใจว่าโลกใบนี้ทำงานอย่างไร ตั้งแต่แรงโน้มถ่วงไปจนถึงโมเลกุล
อินวิเดียภายใต้การนำของหวงกำลังอยู่ในจุดสูงสุดของอุตสาหกรรม โดยเพิ่งกลายเป็นบริษัทมูลค่าสูงที่สุดในโลก และเป็นบริษัทแรกที่แตะระดับมูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ แต่สำหรับซีอีโอวัย 61 ปีคนนี้ เขายังไม่หยุดคิดถึงอนาคต และอนาคตของเอไอในมุมมองของเขา กำลังจะก้าวสู่โลกแห่งฟิสิกส์ที่ลึกซึ้ง และจริงจังกว่าที่เคยเป็นมา