ศบ.ทก. ยัน พร้อมตอบโต้กัมพูชา หากตรวจสอบแล้วพบเป็น ทุ่นระเบิดใหม่ ขออย่าละเมิดอนุสัญญาออตตาวา - อธิปไตยของไทย
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 18 ก.ค. 68 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ร.ต.สุรสันต์ คงสิริรองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย แถลงผลการประชุมศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.) ว่า กรณีสถานการณ์เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่มีพลทหารไทย 3 นายได้รับบาดเจ็บ จากเหตุการณ์เหยียบกับระเบิด ระหว่างปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนพื้นที่ช่องบก อ.น้ำยืน จ. อุบลราชธานีว่า พลทหารทั้ง 3 นายมีอาการดีขึ้น และมีขวัญกำลังใจดีเยี่ยม ซึ่งทั้ง 3 นายได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งการรักษาเป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้ทั้ง 3 นายอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ทั้งนี้พลทหารธนพัฒน์ หุยวัน ต้องตัดขาซ้ายใต้เข่า ซึ่งกองทัพภาคที่ 2 มีมาตรการในการช่วยเหลือและมีสวัสดิการให้กับกำลังพล โดยการปูนบำเหน็จและเลื่อนชั้นยศเป็นสิบเอก และได้บำเหน็จเดือนละ 15,600 บาท เมื่อรวมเงินเดือนและเงินสนับสนุนจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ แล้ว คาดว่าจะได้รับเงิน 29,800 ต่อเดือน นอกจากนี้ ยังได้รับเงินก้อนจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ กว่า 1 ล้านบาท
พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวว่า หน่วยงานราชการเล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ที่กำลังพลได้เสียสละ จึงได้บรรจุทายาททดแทน ซึ่งพี่สาวของกำลังพลทหารที่ได้รับบาดเจ็บ มีความประสงค์รับราชการ ซึ่งจะมีการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงจะได้รับเหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้น 2 ประเภท 1 พร้อมกับได้บัตรทหารผ่านศึก ชั้นที่ 3 ซึ่งจะได้รับการช่วยเหลือในการลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทางตลอดชีวิต
พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวว่า ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับทุ่นระเบิด ปัจจุบันกองทัพบกได้ส่งหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม หรือ นปท. เข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อเก็บหลักฐานและนำมาวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดอย่างละเอียด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ชัดเจนในเรื่องของชนิด และห้วงเวลาในการวางทุ่นระเบิดว่า เป็นการวางระเบิดขึ้นมาใหม่หรือเป็นของเดิม ซึ่งจะมีการตรวจสอบ หากพบว่าเป็นการวางทุ่นระเบิดใหม่ จะเป็นการละเมิดอนุสัญญาออตตาวา ว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ทั้งไทยและกัมพูชา ถือเป็นประเทศภาคีอยู่ในอนุสัญญาดังกล่าวตั้งแต่ปี 2542
“พร้อมกันนี้ขอเน้นย้ำว่า ถ้ารัฐบาลไทยตรวจพบว่าเป็น ทุ่นระเบิดที่มีการวางใหม่ ฝ่ายไทยจะไม่เพิกเฉย นอกจากนั้น หากพบว่ามีการรุกล้ำอธิปไตยของไทย เราก็จะดำเนินการและตอบโต้อย่างชัดเจนแน่นอน และย้ำว่าให้ประชาชนทุกคนเชื่อมั่นว่า เราไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น และฝ่ายไทยจะยึดมั่นในการใช้ข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นหลักการที่ยึดมั่นมาโดยตลอด เป็นไปตามหลักสากล โดยข้อมูลต่างๆ จะนำไปสู่การปฏิบัติของฝ่ายไทยต่อไป” พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าว
พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวว่า ส่วนกรณีหญิงชาวกัมพูชาตะโกนใส่ทหารไทย ที่ปราสามตาเมือนธม กรณีนี้ฝ่ายไทยและกัมพูชาได้ประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 16 ก.ค. เพื่อร่วมกำหนดมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีก โดยทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปว่า หากมีปัญหาจากนักท่องเที่ยวเกิดขึ้น หากเป็นนักท่องเที่ยวฝ่ายไทย ขอให้ชุดประสานปราสาทของฝ่ายไทยเป็นผู้ดำเนินการ แต่หากเป็นการก่อเหตุโดยนักท่องเที่ยวของกัมพูชา ชุดประสานปราสาทกัมพูชาจะเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้หากเกิดปัญหาในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาจะให้ชุดประสานงานปราสาทในพื้นที่ที่อยู่บนปราสาทฝ่ายละ 7 คน เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยไม่ต้องเรียกกำลังชุดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ยังให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินการคัดกรองนักท่องเที่ยวของแต่ละฝ่ายก่อนขึ้นมาท่องเที่ยว โดยเชื่อว่ามาตรการทั้ง 3 ข้อ จะสามารถแก้ไขปัญหา นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวบนปราสาทได้
ขณะที่นางมาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า สถานการณ์ในพื้นที่ จุดผ่านแดนทุกแห่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ฝ่ายไทยยังคงมาตรการไม่ปิดด่าน แต่เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมจุดผ่านแดนต่างๆ เพื่อความมั่นคง ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และประชาชน รวมถึงการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งนี้หากฝ่ายกัมพูชามีความจริงใจที่จะจัดการกับเรื่องนี้ ตามที่ได้มีการประกาศไว้ ถือเป็นสัญญาณเชิงบวก แต่สื่อจากต่างประเทศบางแห่งได้ตั้งข้อสังเกต ถึงความจริงจังของฝ่ายกัมพูชาว่า จะมีมาตรการเหล่านี้อย่างไร พร้อมย้ำว่าการดำเนินการดังกล่าวได้ผลก็ต่อเมื่อ มีการประสานงานในเรื่องบริหารจุดผ่านแดนกับฝ่ายไทย
นางมาระตี กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุม ศบ.ทก.ได้หารือถึงผลกระทบของมาตรการควบคุมการผ่านแดนของธุรกิจ และผู้ประกอบการจากต่างประเทศ โดยขอให้ฝ่ายกัมพูชาตระหนักถึงมิติดังกล่าวด้วยว่า ในบริบทความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศสมาชิกอาเซียน ต้องเข้าใจว่ามีประโยชน์ร่วมกันที่จะส่งเสริมให้ประชาคมระหว่างประเทศมองว่า ภูมิภาคอาเซียนมีความสงบและเป็นสถานที่น่าลงทุน การปิดด่านโดยไม่มีเหตุผล และการระงับการนำเข้าสินค้า อาจกระทบต่อการค้าระหว่างภูมิภาคและโลกอย่างมีนัยสำคัญ
นางมาระตี กล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ช่องบก จ.อุบลราชธานีระหว่างที่กองทัพบกดำเนินการตรวจสอบว่าเป็นทุ่นระเบิดของเก่าหรือของใหม่ ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจ และเมื่อรับทราบผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยปัจจุบันทั้งไทย-กัมพูชา ต่างเป็นภาคีอนุสัญญาออตตาวา ซึ่งข้อบทแรกคือ ห้ามใช้ ห้ามผลิต และรัฐภาคี มีหน้าที่ที่ต้องทำลายคลังทุ่นระเบิดที่มีอยู่ โดยฝ่ายกัมพูชาเป็นเจ้าภาพการประชุมทบทวนอนุสัญญา ครั้งที่ 5 เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 67 ที่ผ่านมา ทั้งนี้หากการตรวจสอบแล้วพบหลักฐานที่เป็นที่ประจักษ์ จะถือว่าขัดต่อพันธกรณีของอนุสัญญา ซึ่งฝ่ายไทยจะดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงโดยตรงกับฝ่ายกัมพูชาตามกรอบทวิภาคี และมาตรการอื่นๆ ตามความเหมาะสม โดยเฉพาะหากพบว่าเป็นการละเมิด MOU 2543 หรือการละเมิดอธิปไตยของไทย
นางมาระตี กล่าวว่า ขอย้ำว่าไทยเคารพกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยมีพันธกรณี ฝ่ายไทยยังยืนยันที่จะเจรจาทวิภาคีกับฝ่ายกัมพูชา เพื่อแก้ไขสถานการณ์ความตึงเครียดผ่านกลไกที่มีอยู่ ทั้งการหารือในคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทยกัมพูชา (เจบีซี) คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (อาร์บีซี) และหวังว่าฝ่ายกัมพูชาจะตอบรับเข้าร่วมการประชุมเจบีซี สมัยพิเศษ ที่ฝ่ายไทยเป็นเจ้าภาพช่วงเดือน ก.ย.นี้ ที่กรุงเทพฯ ฝ่ายไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าฝ่ายกัมพูชาจะตอบรับเข้าร่วมการประชุมเจบีซีดังกล่าว เพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ความตึงเครียด รวมถึงการใช้ทวิภาคีอื่นๆ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ไทยจะใช้ช่องทางใช้ช่องทางที่เป็นทางการสื่อสารกับฝ่ายกัมพูชา