โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

กว่าจะเข้าเส้นชัยไม่ง่าย! “กูลิโกะ” บริษัทขนมระดับตำนาน ผู้คิดค้น “ขนมดีต่อสุขภาพ”

PPTV HD 36

อัพเดต 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 5 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ย้อนตำนานกว่า 100 ปีของ “กูลิโกะ” บริษัทขนมระดับตำนาน เริ่มต้นจากขนมเพื่อสุขภาพ กับจุดกำเนิดของ “กูลิโกะแมน” ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้

ตั้งแต่เด็ก ๆ เรามักได้ยินผู้ใหญ่ดุว่า “ห้ามกินขนม” หรืออย่ากินบ่อยหรือมากเกินไป เพราะเป็นของที่ไม่มีประโยชน์ หลายคนอาจถึงขั้นต้องแอบกิน หรือซ่อนขนมไว้ไม่ให้พ่อแม่รู้

แต่เมื่อราว 100 ปีก่อน มีชายคนหนึ่งที่พยายามท้าทายความเชื่อนี้ ด้วยการพัฒนาขนมที่มีประโยชน์ขึ้นมา ชื่อของเขาคือ “เอซากิ ริอิจิ” ซึ่งหากใครไม่คุ้นชื่อ เขาคือผู้ก่อตั้ง “กูลิโกะ” (Glico) แบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารสัญชาติญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในหลายสิบประเทศทั่วโลก

นี่คือเรื่องราวของบริษัทที่เกิดจากความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะ “พัฒนาสมรรถภาพทางกายของผู้คนด้วยผลิตภัณฑ์อาหาร”

รักษาลูกชายด้วยสารจากหอยนางรม

ริอิจิเกิดในปี 1882 ที่เมืองฮาสึอิเคะ หรือปัจจุบันคือเมืองซากะ ในครอบครัวที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยา หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษา เขามาช่วยพ่อของเขา และยังทำงานอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น ในตอนเช้า เขาจะเร่ขายเกลือตามบ้านที่ต้องการส่วนผสมที่สำคัญนี้ แม้ว่าจะไม่ใช่ธุรกิจขนาดใหญ่ แต่เขาได้สัมผัสกับความสุขในการค้าขาย

หลังจากที่พ่อของเขาเสียชีวิต ริอิจิรับหน้าที่หัวหน้าครอบครัว โดยยังคงบริหารธุรกิจของครอบครัวและทำหน้าที่เป็นแพทย์ในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น หลังจากปลดประจำการ เขาแต่งงานและมีลูกชาย 1 คน และเริ่มธุรกิจแรกของตัวเอง คือธุรกิจขายไวน์

กระทั่งปี 1919 ริอิจิยังคงบริหารธุรกิจขายไวน์ในบ้านเกิดของเขาที่เมืองซากะ แต่ขณะเดียวกันได้พยายามมองหาลู่ทางว่ามีธุรกิจอื่นอีกหรือไม่ที่เขาจะทำได้

วันหนึ่ง เขาเห็นน้ำซุปหอยนางรมหกออกมาจากหม้อต้ม และพบว่า น้ำซุปหอยนางรมอุดมไปด้วยไกลโคเจน (Glycogen) ซึ่งเขาได้ให้สารไกลโคเจนกับลูกชายที่ป่วยเป็นโรคไข้รากสาดใหญ่ และสามารถช่วยชีวิตของลูกได้ เขาจึงมีความคิดว่า โลกควรได้รับประโยชน์ของมันแบบเดียวกับที่ลูกชายของเขาได้รับ

เขาจึงเริ่มทำขนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับเด็กซึ่งเขาตั้งชื่อให้ว่า “กูลิโกะคาราเมล” โดยคำว่า กูลิโกะ ย่อมาจากคำว่าไกลโคเจนในภาษาญี่ปุ่นที่อ่านว่า “กูลิโคเกน”

ต้นกำเนิด “กูลิโกะแมน”

เขาไม่มีประสบการณ์ในการผลิตขนม แต่ริอิจิก็ได้คิดค้นชื่อ หน้าตา เครื่องหมายการค้า และสโลแกนสำหรับขนมชนิดใหม่ และตัดสินใจก่อตั้งบริษัทในโอซากา ใช้ชื่อว่า “เอซากิกูลิโกะ” โดยนำนามสกุลของเขามารวมกับกูลิโกะ

ชื่อกูลิโกะนอกจากนี้จะสื่อถึงไกลโคเจนแล้ว ยังฟังดูดี มีตัวอักษรไม่กี่ตัว จำง่าย และดูเหมือนผลิตภัณฑ์ใหม่ ริอิจิยังคิดว่า ขนมกูลิโกะคาราเมลควรเป็น “รูปหัวใจ” เพราะเขาคิดว่ารูปหัวใจจะเชื่อมโยงกับหัวใจของผู้คน

ในขณะที่เขากำลังคิดเครื่องหมายการค้า ริอิจิเห็นเด็ก ๆ ในละแวกบ้านของเขาเล่นวิ่งแข่งกัน และเข้าเส้นชัยโดยชูมือขึ้น ทำให้เขาปิ๊งไอเดียว่า “ท่าทางของผู้ที่เข้าเส้นชัย เป็นสัญลักษณ์ของสุขภาพ”

ริอิจิวาดรูปต้นแบบทันที และให้เด็กประถมศึกษาช่วยดู พร้อมกับเติมรูปดอกไม้และนก เครื่องหมายการค้านี้ได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลาม และกลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่ทุกคนจดจำได้มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อได้เครื่องหมายการค้าแล้ว ริอิจิพยายามคิดสโลแกนที่จะเข้ากันได้ แต่ยังไม่มีอันไหนโดนใจเสียที กระทั่งวันหนึ่งขณะที่เขากำลังปรับปริมาณแคลอรีต่อเม็ดของลูกอมกูลิโกะให้เพียงพอต่อการวิ่ง 300 เมตร เขาจึงคิดสโลแกน “ลูกอม 1 เม็ด วิ่งได้ 300 เมตร” ขึ้นมา

สุดท้ายเขาเลือกสีบรรจุภัณฑ์เป็นสีแดง เพื่อให้โดดเด่นและแตกต่างจากบริษัทอื่น

ไม่ได้วิ่งเข้าเส้นชัยในทันที

แม้จะใช้เครื่องหมายการค้าเป็นรูปคนวิ่งเข้าเส้นชัย แต่เส้นทางของกูลิโกะไม่ได้วิ่งตรงเข้าเส้นชัยในทันทีทันใดแบบนั้น กลับกัน อาจต้องเรียกว่าล้มลุกคลุกคลานด้วยซ้ำ

ในปี 1921 ริอิจิเดินทางไปโอซากาเพื่อเปิดตัวกูลิโกะ เขาเดินทางไปหาผู้ค้าส่งหลายรายเพื่ออธิบายว่าผลิตภัณฑ์นี้มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและแตกต่างจากขนมทั่วไป แต่ไม่มีใครสนใจเลย

เขาเชื่อว่า สินค้าที่ดีต้องหาซื้อได้จากช่องทางจำหน่ายชั้นนำ และในยุคนั้น ผู้ค้าที่มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือที่สุดคือ “ห้างสรรพสินค้ามิตสึโกชิ” (Mitsukoshi) โดยคิดว่า หากสามารถนำไปวางจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าได้ ผู้ค้าปลีกขนาดเล็กก็จะนำไปขายตาม

เขาถูกห้างมิตสึโกชิปฏิเสธหลายต่อหลายครั้ง จนในวันที่ 11 ก.พ. 1922 กูลิโกะได้วางจำหน่ายบนชั้นวางสินค้าในห้างเป็นครั้งแรก และทำให้วันนี้ถูกกำหนดเป็นวันก่อตั้งกูลิโกะอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ยอดขายในช่วงแรกนั้นน่าผิดหวัง เงินทุนของเขากำลังลดลง แต่ริอิจิแก้ไขด้วยแคมเปญส่งเสริมการขายที่คล้ายกับการแจกใบปลิวพร้อมคูปองและตัวอย่างสินค้า นอกจากนี้ เขายังพยายามปรับปรุงรสชาติของขนม

ไม่เพียงเท่านั้น ริอิจิยังเชื่อว่า “ภารกิจที่สำคัญที่สุดสองอย่างของเด็ก ๆ คือการกินอาหารและการเล่น!” เขาจึงใช้กลยุทธ์แถมของเล่นจิ๋วในกล่องของเล่นที่ใส่มาพร้อมกับขนม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นรากฐานของของเล่นกูลิโกะ

และภายในเวลาเพียง 2 ปี บริษัทของเขาก็กลับมามีกำไรอีกครั้ง

ในปี 1927 ของเล่นขนาดเล็กถูกแทนที่ด้วยการ์ดรูปภาพ และ 2 ปีต่อมา บรรจุภัณฑ์กูลิโกะได้รับการออกแบบใหม่โดยนำของเล่นขนาดเล็กมาวางไว้ด้านบนของกล่องแต่ละกล่อง

เมื่อยอดขายเติบโตอย่างรวดเร็ว ริอิจิจึงเพิ่มการผลิตเป็น 3 เท่า แต่เขาประเมินความต้องการของตลาดผิด ทำให้มีสินค้าขายไม่ออกจำนวนมากถูกส่งคืน และผลประกอบการกลับมาติดลบอีกครั้ง

ริอิจิจึงต้องทำงานหนักเพื่อสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ โดยตอบสนองต่อซัพพลายเออร์อย่างจริงใจและเพิ่มคาราเมลผลไม้และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ลงในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของเขา

กูลิโกะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ขนมที่มีประโยชน์ตัวใหม่ในปี 1933 คือ “บิสโก” (Bisco) บิสกิตแซนวิชครีมผสมยีสต์ ซึ่งริอิจิได้คิดค้นกระบวนการที่สร้างสรรค์โดยการเติมน้ำมันปาล์มลงในครีมนม ซึ่งจะทำให้สามารถเกาะติดกับแป้งได้โดยไม่ต้องให้ความร้อน จึงช่วยปกป้องยีสต์ที่ไวต่อความร้อนได้

ถึงอย่างนั้น เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจโลก ญี่ปุ่นประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจหลายแห่งเกิดความไม่แน่นอน แต่ริอิจิไม่หมดหวัง เขาลงโฆษณาขนาดสั้น พร้อมโลโก้กูลิโกะ ข้อความโฆษณาเรียบง่าย และภาพประกอบในหนังสือพิมพ์

นอกจากนี้ ในปี 1935 เขายังสั่งติดตั้งป้ายนีออนเครื่องหมายการค้านักวิ่งชูแขน หรือ “กูลิโกะแมน” ใกล้ประตูคามินาริมง ในย่านอาซากุสะของโตเกียว เขตชินไคจิของโกเบ ย่านโดทงโบริของโอซากา และสถานที่อื่น ๆ เพื่อเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์

ป้ายนีออนกูลิโกะที่โดทงโบริได้กลายมาเป็นแลนด์มาร์กยอดนิยม ป้ายกูลิโกะแมนรุ่นแรกมีความสูง 33 เมตร โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ป้ายกูลิโกะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง จนมาถึงรุ่นที่ 6 ได้เปลี่ยนไฟนีออนเป็นจอ LED แบบใหม่อย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้

ทั้งนี้ ในช่วงเวลานี้กูลิโกะขยายการผลิต โดยเปิดโรงงานในโตเกียว และตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศ เริ่มที่ต้าเหลียน ประเทศจีน

ไฟแห่งการเกิดใหม่

เช่นเดียวกันหลายธุรกิจที่ถือกำเนิดในญี่ปุ่น กูลิโกะได้รับผลกระทบอย่างหนักเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น

โดยยอดขายของกูลิโกะถึงจุดพีคในปี 1940 ส่วนยอดขายของบิสโกกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสงคราม บริษัทต้องยกเลิกการผลิตสินค้าทั้งสองตัว และอยู่รอดได้ด้วยการผลิตขนมเคลือบน้ำตาลและขนมปังแห้งสำหรับกองทัพญี่ปุ่น

แต่ไม่มีที่ใดในญี่ปุ่น ณ เวลานั้นที่จะปลอดภัยจากการโจมตีทางอากาศ ไม่นานก่อนที่สงครามจะสิ้นสุด โรงงานของบริษัทกูลิโกะในโอซากาและโตเกียวได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการทิ้งระเบิด

นั่นทำให้ริอิจิในวัย 62 ปีสูญเสียทรัพย์สินทั้งหมดทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ มีเพียงโรงอาหารในโรงงานที่โอซากาเท่านั้นที่รอดมาได้

ริอิจิสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในการโจมตีทางอากาศ แต่เขาไม่ได้ถอดใจ ริอิจิกล่าวว่า “โรงงาน เครื่องจักร วัสดุ และผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของเราถูกไฟไหม้ แต่เรามีทรัพย์สินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่รอดจากสงครามมาได้ นั่นคือชื่อของ ‘กูลิโกะ’”

หลังจากนั้น บริษัทเริ่มต้นใหม่จากศูนย์อีกครั้ง โดยใช้เวลาประมาณ 5 ปีในการสร้างโรงงานที่โอซากาและโตเกียวขึ้นใหม่ จนในปี 1950 ขนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการของกูลิโกะได้กลับสู่ตลาดอีกครั้งพร้อมของเล่น และผลประกอบการของบริษัทฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

กูลิโกะได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่หลายตัวต่อเนื่อง ทั้งขนมอัลมอนด์กูลิโกะ (Almond Glico) – 1955, อัลมอนด์ช็อกโกแลต (Almond Chocolate) – 1958, เพรตซ์ (Pretz) – 1962, กูลิโกะโคน (Glico Cone) – 1963 และป๊อกกี้ (Pocky) – 1966 ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นขนมที่ยังคงความนิยมมาจนถึงปัจจุบันทั้งสิ้น

สำหรับเพรตซ์ตั้งชื่อตาม “เพรตเซล” อาหารของเยอรมัน รสแรกคือรสเค็ม ซึ่งผลิตขึ้นสำหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะ โดยเป็นขนมที่ให้กินแกล้มกับเบียร์ ก่อนจะพัฒนารสหวานสำหรับเด็ก ๆ เช่น รสเนย รสดั้งเดิม รสพิซซา ฯลฯ ซึ่งจำหน่ายไปทั่วโลกในปัจจุบัน

ขณะที่ป๊อกกี้นั้น เป็นบิสกิตแท่งชุบช็อกโกแลตเจ้าแรกของโลก โดยออกแบบให้ปลายด้านหนึ่งไม่มีช็อกโกแลต เพื่อให้ผู้บริโภคมือไม่เปื้อน และเป็นข้อดีที่หลายคนยังคงชื่นชมมาจนทุกวันนี้

ขณะเดียวกัน ยุคสมัยดังกล่าวยังเป็นยุคที่ผู้คนมีเวลาว่างมากขึ้น ทำให้เกิดความสนใจในวัฒนธรรมมากขึ้น บริษัทกูลิโกะจึงนำเทรนด์นี้มาใช้เป็นของแถม เช่น ภาพวาด แสตมป์ และเหรียญ

ญี่ปุ่นได้เข้าสู่ยุคที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว ความนิยมของอาหารเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากนม อาหารสำเร็จรูปเองได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

กูลิโกะเห็นโอกาส จึงขยายไปสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์จากนมและอาหารสำเร็จรูป เช่น ผงกะหรี่ โยเกิร์ต พุดดิ้ง ไอศกรีม เป็นต้น

เข้าสู่ประเทศไทย

หลังจากเปิดตัวเพรตซ์ที่ฮ่องกงได้สำเร็จในปี 1967 บริษัทกูลิโกะเริ่มพิจารณาขยายกิจการไปยังภูมิภาคอาเซียน (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) โดยหลังจากทำการวิจัยทั่วทั้งภูมิภาคแล้ว บริษัทตัดสินใจเน้นที่ “ประเทศไทย” เนื่องจากลักษณะทางการตลาดและความมั่นคงทางการเมือง

เมื่อการวิจัยเพิ่มเติมและการทดสอบยอดขายพิสูจน์แล้วว่าเป็นผลดี บริษัทจึงได้ดำเนินการจัดตั้ง “บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด” อย่างเป็นทางการในปี 1970 นับเป็นบริษัทที่ทั้งผลิตและจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศแห่งแรกของกูลิโกะ และถือเป็นก้าวแรกสู่การเป็นบริษัทระดับโลก Global Glico

เมื่อโรงงานรังสิตสร้างเสร็จ การผลิตและการขายเพรตซ์ในไทยเริ่มต้นขึ้น ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ทำให้ไทยกูลิโกะเปิดตัวป๊อกกี้ ตามด้วยผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น จิงเกิ้ลช็อกโกแลต โคลอน และอัลมอนด์ช็อกโกแลต

เนื่องจากไทยกูลิโกะมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จึงจำเป็นต้องมีกำลังการผลิตเพิ่มเติม จึงได้สร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางกะดีในปี 1992 และขยายโรงงานเพิ่มเติมในพื้นที่เดียวกันในปี 2004

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2025 บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด ประกาศ ยุติการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “ไอศกรีม” ในประเทศไทย

โดยระบุว่า จะยุติการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “ไอศกรีมภายใต้แบรนด์กูลิโกะ” ในประเทศไทย แต่ยังสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ประเภทดังกล่าวได้จนถึงประมาณสิ้นปี 2025 โดยแม้จะยุติการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไอศกรีม แต่สินค้าประเภทอื่น ๆ ซึ่งได้แก่ ขนมและเครื่องดื่มน้ำนมอัลมอนด์ยังคงมีจำหน่ายเช่นเดิม

ยืนหยัดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

ในช่วงปี 1980 บริษัทกูลิโกะต้องเผชิญกับเหตุการณ์สำคัญและความท้าทายต่าง ๆ มากมาย เช่น การจากไปของผู้ก่อตั้งบริษัท เอซากิ ริอิจิ ในปี 1980 การเกิดขึ้นของซูเปอร์มาร์เก็ต ตามมาด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของร้านสะดวกซื้อ และอุตสาหกรรมการจัดจำหน่ายก็เข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ในเดือน ก.ค. 1985 บริษัทได้แบ่งโครงสร้างบริษัทเป็น 3 ส่วนมาใช้ ได้แก่ ขนมหวาน ไอศกรีม และอาหารแปรรูป เพื่อปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจให้คล่องตัวและรวมการพัฒนา การวิจัย และการขายเข้าด้วยกัน

บริษัทได้ใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อการเติบโตของตลาด รวมถึงตลาดขนม โดยปลูกฝังความต้องการของขวัญและพัฒนาธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ

บริษัทยังมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนแนวคิดด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังปี 2000 เมื่อผู้บริโภคเริ่มใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น

ในช่วงเวลานั้น การเติบโตอย่างรวดเร็วของอินเทอร์เน็ตทำให้ในเดือน มี.ค. 1996 บริษัทกูลิโกะได้สร้างเว็บไซต์ และเปิดร้านค้าออนไลน์

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของบริษัทยังคงตกต่ำ บริษัทจึงได้รวมธุรกิจทั้งสามแผนกมาเป็นแผนกการจัดการธุรกิจแผนกเดียวในเดือน มิ.ย. 2008 เป้าหมายคือการเปลี่ยนจากโครงสร้างแผนกที่เน้นผลิตภัณฑ์เป็นโครงสร้างที่เน้นการขาย

นอกจากนี้ กูลิโกะยังเร่งการพัฒนาธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยเริ่มดำเนินการอีคอมเมิร์ซในประเทศจีนและจัดตั้งบริษัทปฏิบัติการระดับภูมิภาคแห่งใหม่สำหรับธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนในสิงคโปร์

ณ ปีงบประมาณ 2024 กูลิโกะมียอดขายรวมอยู่ที่ 3.31 แสนล้านเยน (ราว 7.4 หมื่นล้านบาท) ลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย ประมาณ 0.4%

จากน้ำหอยนางรมต้มที่ใช้รักษาลูกชาย กลายมาเป็นบริษัทมูลค่าหลักแสนล้านเยน นี่คืออีกหนึ่งธุรกิจที่มีการเดินทางอันน่าทึ่ง กูลิโกะไม่ใช่บริษัทที่วิ่งเข้าเส้นชัยได้ในเวลาอันรวดเร็ว พวกเขาผ่านขวากหนามหลายต่อหลายครั้ง บางอุปสรรครุนแรงในระดับที่หากเป็นหลายคนคงท้อไปแล้ว แต่กูลิโกะไม่ท้อ และก้าววิ่งจนเข้าเส้นชัยได้ในที่สุด

เรียบเรียงจาก (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เส้นทาง “NETA” จากดาวรุ่งผู้ท้าทายยักษ์วงการอีวี สู่วันที่บริษัทแม่ล้มละลาย

“Estée Lauder” จากการทดลองในห้องครัว สู่อาณาจักรความงามระดับพรีเมียม

“Loewe” แบรนด์เก่าแก่สุดในอาณาจักร LVMH แต่กลับฮอตที่สุดในปี 2025

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : กว่าจะเข้าเส้นชัยไม่ง่าย! “กูลิโกะ” บริษัทขนมระดับตำนาน ผู้คิดค้น “ขนมดีต่อสุขภาพ”

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

- Website : https://www.pptvhd36.com

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก PPTV HD 36

"ซาล่าห์" โพสต์ซึ้งถึง "โชต้า" ที่จากลิเวอร์พูลแบบไม่มีวันกลับ

45 นาทีที่แล้ว

"ซุปล็อบสเตอร์" เตรียมขึ้นอวกาศ ในโปรเจกต์องค์การอวกาศยุโรป

2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ประกาศฉบับที่ 2 พายุดีเปรสชันทะเลจีนใต้ ย้ำ ไม่กระทบ-ไม่เคลื่อนเข้าไทย

2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

"ภูมิธรรม" ไม่รู้เรื่องทหารเขมรล้ำแดน จุดชมวิว "ภูผี"

2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความธุรกิจ-เศรษฐกิจอื่น ๆ

"เที่ยวไทยคนละครึ่ง” ปิดปรับปรุงระบบลงทะเบียน ไม่มีกำหนด

ประชาชาติธุรกิจ

ททท.แจงยิบประกาศปิดลงทะเบียน “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” สำหรับประชาชนชั่วคราว

ฐานเศรษฐกิจ

Tariff talks with the US ongoing, says Thai finance minister

Thai PBS World

ห้าดาวชวนดูหนัง

Manager Online

THAI CONTENT EXPO 2025 มหกรรมคอนเทนต์ไทย ใหญ่สุดครั้งแรกในไทยเชื่อมเวทีโลก

MATICHON ONLINE

อัลลูมิเนียมลูป โชว์ความสำเร็จรีไซเคิลทะลุ 1,300 ล.กระป๋อง ดัน Closed Loop สู่มาตรฐานใหม่ หนุน EPR จัดการบรรจุภัณฑ์ไทย

Manager Online

ThaiBMA หั่นเป้ายอดออกหุ้นกู้ปี 68 เหลือ 8 แสนล้าน ครึ่งหลังยังน่ากังวล

PostToday

กูรูมองไทยมีหนาว สหรัฐปิดดีลเวียดนาม สูตรภาษี 40-20-10-0 | คุยกับบัญชา | 4 ก.ค. 68

BTimes

ข่าวและบทความยอดนิยม

ผลวอลเลย์สาวทีมชาติไทย แพ้ ฟิลิปปินส์ ศึก VTV CUP ที่เวียดนาม

PPTV HD 36

5 ก.ค. 68! กฟน. ประกาศ “ดับไฟ” 18 จุด ในกทม. สมุทรปราการ นนทบุรี

PPTV HD 36

ผลวอลเลย์สาวทีมชาติไทย ชนะ ออสเตรเลีย 3-0 เซต ศึก VTV CUP ที่เวียดนาม

PPTV HD 36
ดูเพิ่ม
Loading...