จีนไฟเขียว ‘โปรตีนจาก CO₂’ เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
ปักกิ่ง, 3 ก.ค. (ซินหัว) — เมื่อไม่นานนี้ กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของจีนอนุมัติการใช้โปรตีนที่ดัดแปลงจากคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ด้วยกระบวนการวิศวกรรมชีวภาพเป็นวัตถุดิบอาหารเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมอบแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนทรัพยากรโปรตีนเลี้ยงสัตว์ พร้อมส่งเสริมการพัฒนาอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ
รายงานระบุว่าโปรตีนยีสต์ยาร์โรเวีย ลิโปลีติกา (Yarrowia lipolytica) พัฒนาโดยจีทีแอลบี (GTLB) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในกรุงปักกิ่ง และผลิตด้วยเทคโนโลยีการหมักทางชีวภาพ ซึ่งใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเคมีถ่านหิน อุตสาหกรรมเคมีก๊าซธรรมชาติ และการผลิตเหล็ก
เทคโนโลยีนี้สามารถดัดแปลงคาร์บอนไดออกไซด์เป็นโปรตีนยีสต์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโปรตีนเลี้ยงสัตว์หลายพันเท่า เมื่อเทียบกับวิธีเพาะปลูกพืชผลและเพาะเลี้ยงปลาแบบดั้งเดิม เช่น โรงงานโปรตีนยีสต์ที่มีพื้นที่ราว 62 ไร่ สามารถผลิตโปรตีนยีสต์คุณภาพสูง 1 แสนตันต่อปี เทียบเท่าโปรตีนจากถั่วเหลืองของพื้นที่เพาะปลูกราว 2.5 แสนไร่
ขณะเดียวกันโปรตีนยีสต์นี้อุดมด้วยกรดอะมิโนจำเป็นที่มีความสมดุลสูง รสชาติดี รวมถึงมีแร่ธาตุและพอลิแซ็กคาไรด์ (polysaccharide) ในปริมาณสูงด้วย ทำให้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
รายงานเสริมว่าเทคโนโลยีใหม่นี้อาจช่วยสร้างห่วงโซ่อุปทานโปรตีนเลี้ยงสัตว์ที่ยั่งยืนและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดการพึ่งพาพืชผลที่ใช้พื้นที่เพาะปลูกมากอย่างถั่วเหลืองและทรัพยากรทางทะเลอย่างปลาป่น
อนึ่ง จีนกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนทรัพยากรโปรตีนเลี้ยงสัตว์ โดยข้อมูลสถิติระบุว่าปริมาณการใช้โปรตีนเลี้ยงสัตว์ของจีนในปี 2024 อยู่ที่ราว 70 ล้านตัน ซึ่งสัดส่วนการพึ่งพาการนำเข้าสูงเกินร้อยละ 80