น่าห่วง แผ่นดินไหวญี่ปุ่นทะลุ 1,000 ครั้งใน 2 สัปดาห์ ทำคนผวา วิตก-นอนไม่หลับ
สถานการณ์น่าห่วง ญี่ปุ่นแผ่นดินไหวทะลุ 1,000 ครั้ง เขย่าหมู่เกาะโทคาระไม่หยุด ทางการเตือนภัยอาจเจอระดับ 5 ด้านผู้เชี่ยวชาญยันไม่เกี่ยวกับรอยเลื่อนนันไค
สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นยังคงประกาศเตือนภัยระดับสูงในพื้นที่หมู่เกาะโทคาระ จังหวัดคาโงชิมะ หลังสถานการณ์แผ่นดินไหวต่อเนื่องทวีความรุนแรงและยืดเยื้อ ล่าสุดยอดสะสมแรงสั่นสะเทือนนับตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา พุ่งทะลุ 1,000 ครั้งแล้ว ถือเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้รูปแบบการเกิดแตกต่างจากในอดีต แต่ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกับรอยเลื่อนนันไคที่น่ากังวล
สถานการณ์แผ่นดินไหวที่หมู่เกาะโทคาระยังคงน่าจับตาอย่างใกล้ชิด ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (3 ก.ค. 68) เวลา 06:51 น. เกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงระดับ 4 ตามมาตรวัดญี่ปุ่นที่เกาะอาคุเซกิจิมะอีกครั้ง ทำให้ยอดรวมแผ่นดินไหวที่สามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ (ระดับ 1 ขึ้นไป) ณ เวลาเที่ยงวันของวันที่ 3 กรกฎาคม พุ่งสูงถึง 1,001 ครั้ง
เหตุการณ์แผ่นดินไหวต่อเนื่องในครั้งนี้น่าจับตามองมากกว่าในอดีต ทั้งในแง่ของจำนวนและความต่อเนื่องที่ยาวนานกว่า 2 สัปดาห์ ยอดรวมสะสมสูงถึง 1,001 ครั้ง (ข้อมูล ณ เที่ยงวันที่ 3 ก.ค. 68) เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงหลายครั้ง รวมถึงระดับ 5 กว่า 3 ครั้ง และระดับ 4 อีกกว่า 18 ครั้ง
สำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) เตือนให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวที่อาจมีความรุนแรงถึง ระดับ 5 ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ พร้อมเตือนให้ระวังเหตุดินถล่มและหินร่วงหล่นในพื้นที่ที่มีการสั่นไหวรุนแรง
ขณะที่ ‘ศาสตราจารย์ ยางิฮาระ ฮิโรชิ’ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหววิทยาจากมหาวิทยาลัยคาโงชิมะ ให้ความเห็นว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากความเครียดที่สะสมบนรอยเลื่อนในพื้นที่ เป็นผลมาจากโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่ซับซ้อน อาจมีปัจจัยจากของเหลวใต้เปลือกโลกที่ทำให้รอยเลื่อนขยับตัวได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบที่แตกต่างจากในอดีต
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยืนยันเพื่อคลายความกังวลของประชาชนว่า“เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่หมู่เกาะโทคาระไม่มีความเกี่ยวข้องกับรอยเลื่อนนันไค (Nankai Trough)” เนื่องจากมีศูนย์กลางการเกิดที่อยู่ห่างไกลกันมาก
ด้านนายกเทศมนตรีหมู่บ้านโทชิมะลงพื้นที่สำรวจความเสียหายบนเกาะอาคุเซกิจิมะ พบว่ายังไม่มีความเสียหายร้ายแรงต่อโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทาง และที่สำคัญคือ ยังไม่มีประชาชนร้องขออพยพออกจากเกาะ ซึ่งแตกต่างจากเหตุการณ์ในปี 2564
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผลกระทบทางด้านจิตใจ ประชาชนจำนวนมากเริ่มมีอาการนอนไม่หลับและวิตกกังวล ทางหมู่บ้านได้จัดส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 2 นายเข้าไปดูแลและให้คำปรึกษาแก่ผู้ได้รับผลกระทบแล้ว โดยให้ความสำคัญกับการดูแลสภาพจิตใจของประชาชนเป็นอันดับแรก
ข้อมูลจาก :yomiuri และ yomiuri
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง