2 โจทย์ “ระบบสุขภาพไทย” งบประมาณต่ำ-ต้นทุนพุ่ง จี้รัฐปรับโครงสร้างก่อนล่มสลาย
ปัจจุบันการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ของสำนักงานประกันสังคม เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ประกันตน และการจัดการกองทุนสุขภาพ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประสบปัญหาเรื่องรายจ่ายไม่สมดุลกับความเป็นจริง ถือเป็นความท้าทายสำคัญที่โรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งในประเทศไทยที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี นายกโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากมองภาพรวมในกรณีของโรงพยาบาลเอกชน ส่วนใหญ่ไม่ร่วมอยู่ในโครงการบัตรทอง 30 บาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยสูงกว่าอัตรารายได้ที่ได้รับการชดเชย ทำให้บริหารจัดการยากและไม่เพียงพอต่อต้นทุน โดยเฉพาะโรคที่มีความรุนแรงซับซ้อน ขณะที่การเข้าร่วม กับระบบประกันสังคม อัตราการ จ่ายแบบเหมาจ่ายก็ยังไม่เพียงพอต่อต้นทุนจริงเช่นเดียวกัน
ส่วนโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่และโรงเรียนแพทย์หลายแห่ง จะเห็นได้ว่าประสบปัญหาปัญหาการขาดทุนมหาศาลถึงหลักร้อยล้านบาท เพราะต้องแบกรับการรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก มีค่าใช้จ่ายที่สูง แม้โรงพยาบาลเหล่านี้จะอยู่ได้ด้วยเงินบริจากหรือเงินสนับสนุนจากกองทุนต่าง ๆ แต่หากมองในเชิงธุรกิจการดำเนินงานถือว่าไปต่อไม่ได้แล้ว
“สำหรับโครงการบัตรทอง 30 บาท เป็นโครงการที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในข้อดีคือทำให้คนเข้าถึงการรักษาโรคด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียวได้ สามารถผลักดันระบบสุขภาพของไทยให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
แต่ข้อเสียคือเรื่องการจัดสรรค์งบประมาณไม่สอดคล้องและไม่เพียงพอต่อความต้องการจริง หากเป็นโรงพยาบาลรัฐขนาดเล็กจำนวนคนมาใช้บริการไม่มากอาจไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่และมีผู้ป่วยโรคร้ายแรงเป็นจำนวนมากค่าใช้จ่ายจะสูงมากเช่นกัน”
นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า การจำกัดงบประมาณ ควบคุมค่าใช้จ่าย ควบคุมการบริการด้านสุขภาพอย่างเข้มงวด ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้บางครั้งบริการของโรงพยาบาลไม่ครบถ้วนตามความต้องการของผู้ป่วย เช่น การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมหากไม่มีข้อบ่งชี้โรคที่ชัดเจน หากไม่ตรวจอาจทำให้เสียโอกาสในการรักษาและทำให้อาการป่วยที่ไม่ชัดเจนร้ายแรงขึ้น
ดังนั้น แรงกดดันของปัญหากองทุนประกันสังคม ปัญหากองทุน สปสช. ทำให้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งไม่กล้ารับผู้ป่วยที่ถือสิทธิประกันสังคมและสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะโรงพยาบาลต้องแบกรับภาระหนักขึ้นเรื่อย ๆ
จากข้อสังเกตจะเห็นว่า การสมทบเงินในกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตน ยังไม่เคยปรับขึ้นตามค่าแรงขั้นต่ำหรือค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คนมีกำลังจ่ายสูงไม่ได้ส่งเงินสมทบในสัดส่วนที่เหมาะสมกับรายได้ เกิดความไม่ยั่งยืนของกองทุนชราภาพในอนาตคอันใกล้ ที่อาจไม่เพียงพอ ต่อการจ่ายบำนาญ เพราะประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เงินสมทบไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ
ส่วนสถานการณ์ของโครงการบัตรทอง 30 บาท หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อาจผู้ใช้สิทธิสูงถึง 75% จากสัดส่วนประชากร โดยไม่ต้องจ่ายเงินหรือสมทบหรือจ่ายค่ารักษาโดยตรง และเงินส่วนนี้มาจากภาษีของประชาชนทั้งหมด
“ผู้ที่จ่ายภาษีและเงินสมทบเงินกองทุนประกันสังคมคือ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทเอกชน เป็นกลุ่มคนที่แบกรับภาระในระบบสุขภาพทั้งระบบ ดังนั้น ในอนาคตอาจมีความเสี่ยงที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยจะล่มสลายในฝั่งของโรงพยาบาลรัฐ”
เรื่องนี้รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาและโครงสร้างในระบบสาธารณะสุขประเทศให้ได้ ต้องประเมินว่าจะแบบรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยได้มากน้อยแค่ไหน และจะคงไว้ได้นานเท่าไหร่
เพราะท้ายที่สุดหากรัฐบาลขาดเงินทุนในด้านนี้ ประเทศไทยจะประสบปัญหาคล้ายกับอาร์เจนตินาหรือกรีซที่ระบบสุขภาพล่มสลายไร้ประสิทธิภาพในะยะยาว เพราะรัฐบาลขาดแคลนงบประมาณทางการแพทย์
ด้าน ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลศิริราชในฐานะสถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน ในแต่ละปี ได้งบประมาณแผ่นดินจากภาครัฐมาบริหารจัดการประมาณ 18% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ยอมรับกว่าการบริหารด้านงบประมาณถือเป็นหนึ่งในภารกิจใหญ่ เพราะต้องดูแลผู้ป่วยเต็ม 100% ทั้งสิทธิโครงการ 30 บาท สิทธิโครงการประกันสังคม รวมถึงสิทธิข้าราชการ ทำให้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ต้องอาศัยเงินจากโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ที่เป็นโรงพยาบาลเอกชนภายใต้การดูแลของศิริราช รวมทั้งกองทุนต่างๆ จากผู้บริจากมาช่วยสนับสนุน
“เรามีบุคคลากรในระบบของศิริราชทั้งหมด 2.2 หมื่นคน ต้องใช้งบประมาณสูงในการบริหารจัดการ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วย 3 กลุ่มหลัก คือ
- ผู้ที่ใช้สิทธิโครงการบัตรทอง 30 บาท
- สิทธิข้าราชการ
- ประกันสังคมและผู้ที่จ่ายเงินค่ารักษาเอง
โดยรับคนไข้ใน (IPD) จากโครงการ บัตรทอง 30 บาท ทั่วประเทศมากกว่า 42% ของคนไข้ที่จำเป็นต้องแอดมิด ซึ่งศิริราชขาดทุนมากกว่า 2,000 ล้านบาท ต่อเนื่องมา 2 ปีแล้ว”
ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวว่า สิทธิประโยชน์จากโครงการ 30 บาท หรือ สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย ช่วยให้คนไทยเข้าถึงการรักษาได้เป็นจำนวนมากในวงกว้างซึ่งเป็นเรื่องที่ดี
แต่ข้อเท็จจริงเรื่องงบประมาณและค่าใช้จ่ายเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องปรับแก้ เพราะค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยารักษาโรคที่มีประสิทธิภาพสูง เครื่องมือจำเป็นในการรักษาคนไข้ที่สามารถตอบสนองต่อคุณภาพชีวิตที่ดี หลายอย่างอาจจะไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบสุขภาพของประเทศไทยต้องหาทางแก้ไขเรื่องนี้ให้ได้ เพราะงบประมาณในส่วนนี้จำเป็นสำหรับประชาชนคนไทยจำนวนมาก และเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ต้องพูดคุยในระดับนโยบาย
แน่นอนว่าตอนนี้ได้มีตัวแทนจากหลายภาคส่วน ได้เข้าไปพูดคุยกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่ และคาดหวังว่าอยากให้เพิ่มงบประมาณส่วนนี้อีกในอนาคต