โชว์ 7 นวัตกรรมสิทธิบัตรทอง @ World Expo 2025 ญี่ปุ่นเลิฟรากฟันเทียม
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. ได้ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS จัดนิทรรศการแสดงผลงานนวัตกรรมการแพทย์ไทย 7 รายการที่ใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท ในงาน World Expo 2025 โอซากา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยเป็นนิทรรศการชั่วคราวที่ร่วมแสดงถึงศักยภาพสาธารณสุขของไทย ซึ่งหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นถือเป็น 1 ใน 100 ศักยภาพสาธารณสุขของไทยที่นำเสนอสู่ระดับนานาชาติ
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ทั้ง 7 นวัตกรรมนั้น ได้รับการสนับสนุนโดย TCELS โดยเป็นสิ่งที่ไทยอยากให้ต่างประเทศได้เห็นศักยภาพด้านนวัตกรรมของไทย และการที่ถูกนำมาใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว ก็เป็นการสนับสนุนให้นวัตกรรมการแพทย์ฝีมือคนไทยได้มีโอกาสขยายไปตลาดต่างประเทศด้วย เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจนว่ามีการใช้ในภาครัฐของประเทศแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
‘ไทยแลนด์พาวิลเลียน’ แรงไม่แผ่ว โอซาก้า คันไซ เอ็กซ์โป 2025
วิศวะมหิดลสุดปัง! ห้องแลปคว้า ISO 13485:2016 ดันรากฟันเทียมสู่สากล
เผยชาวญี่ปุ่นสนใจรากฟันเทียมฝีมือคนไทย
จากการที่ไปจัดแสดงนวัตกรรม ก็มีผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นสนใจรากฟันเทียมฝีมือคนไทยที่มีราคาไม่แพงแต่ได้รับมาตรฐานระดับสากล และผู้เข้าชมนิทรรศการซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่นก็ชื่นชมประเทศไทยว่าดูแลประชาชนได้ดี ใช้เทคโนโลยีการแพทย์ฝีมือคนไทยในหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ทำให้ไม่เป็นภาระทางการเงินของประชาชน
เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การนำเสนอเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ฝีมือคนไทยครั้งนี้ ยังสะท้อนถึงวิสัยทัศน์เชิงรุกของระบบสาธารณสุขไทย ที่จะไม่ปล่อยให้งบประมาณด้านสุขภาพเป็นเพียง “ค่าใช้จ่าย (expenditure)” แต่จะเปลี่ยนให้เป็น “การลงทุน (Investment)” ได้อย่างไร รัฐบาลจึงมอบหมายให้ สปสช. ในฐานะที่บริหารจัดการงบประมาณสุขภาพก้อนใหญ่ ให้มองไกลกว่าเรื่องสุขภาพที่ดีขึ้น แต่ยังมองไปถึงเรื่องการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ไทย และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางอีกด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลในการออกแบบนิทรรศการชั่วคราวในครั้งนี้ร่วมกันระหว่าง สปสช. และ TCELS
7 นวัตกรรมทางการแพทย์ ในงาน World Expo 2025
ด้าน ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS กล่าวว่า TCELS ได้ร่วมกับ สปสช. ในการสนับสนุนนวัตกรรมการแพทย์ไทยให้สามารถขยายตัวในเชิงพาณิชย์ พร้อมกับการสร้างประโยชน์ต่อสังคม การนำเสนอนวัตกรรมการทางการแพทย์ฝีมือคนไทยทั้ง 7 รายการในงาน World Expo 2025 ครั้งนี้ แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็ช่วยเปิดตลาดนวัตกรรมการแพทย์ของไทยในต่างประเทศได้ดี และได้รับความสนใจผลิตภัณฑ์ในหลายรายการด้วย
ดร.จิตติ์พร กล่าวต่อว่า นวัตกรรมฝีมือคนไทยที่ได้รับการบรรจุในบัญชีนวัตกรรมไทยและเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ในขณะนี้มี 7 รายการ ได้แก่ 1.เท้าเทียมไดนามิกส์ 2.แผ่นปิดกะโหลกศีรษะจากวัสดุ Polymethylmethacrylate 3.แผ่นปิดกะโหลกศีรษะจากไทเทเนียม 4.ชุดตรวจพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูป (OV-ATK) 5.วัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์ acellular Pertussis Vaccine 6.รากฟันเทียม และ 7.ถุงทวารเทียมสำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้
“ปัจจุบัน มีผู้ป่วยกว่า 105,000 คน ที่ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมทั้งหมดนี้ แม้จำนวนนี้อาจดูไม่มาก แต่สามารถสร้างรายได้ให้ SMEs กว่า 321 ล้านบาท การนำนวัตกรรมของไทยเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการแพทย์ในราคาที่เหมาะสม ทั้งยังช่วยลดต้นทุนบริการสุขภาพ สร้างตลาดให้กับนวัตกรรมไทย เสริมสร้างศักยภาพของ SME ให้มีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และขยายสาตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย” ผู้อำนวยการ TCELS กล่าว
นอกจากนี้ TCELS ยังได้รับความอนุเคราะห์จากหน่วยงานความร่วมมือ ในการนำนวัตกรรมสุขภาพที่ตอบโจทย์สังคมสูงวัยและกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าชมงานที่เป็นประชาชนทั่วไปชาวญี่ปุ่น ไปร่วมจัดแสดงเพิ่มเติม ได้แก่ ไม้เท้าเลเซอร์ช่วยเดินสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และแก้วน้ำกันสำลักสำหรับผู้สูงอายุ ผลงานของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแผ่นรองเท้าอัจฉริยะและเครื่องสแกนแรงกดใต้ฝ่าเท้า ผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าเยี่ยมชมและทดลองใช้งานในพื้นที่จัดนิทรรศการ
ทั้งนี้ ผู้เข้าชมนิทรรศการชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีความประทับใจที่ประเทศไทยใส่ใจการดูแลสุขภาพของประชาชนในประเทศ อีกทั้งยังระบุอีกว่าการที่ไทยมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ชาวญี่ปุ่นสูงอายุเลือกมาใช้ชีวิตวัยเกษียณที่ประเทศไทย