‘ธีรรัตน์’ รับหนังสือ ‘ฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดฯ’ ร้องหยุดระเบิดเมืองโปแตช
เมื่อวันที่ 3 ก.ค. นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จ.นครราชสีมา จัดกิจกรรมสัญจรตะลุยบางกอก บล็อกก่อนบ้านบึ้มครั้งที่สอง ระหว่างวันที่ 3-4 ก.ค. นี้ ภายหลังจากที่เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานตรวจสอบผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตชที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา แล้วไม่มีความคืบหน้าในเรื่องของการยับยั้งการอนุมัติให้เหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ใช้ระเบิดในการเปิดอุโมงค์เหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ได้
โดยในช่วงเช้า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดกว่า 30 คน ได้รวมตัวกันที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อยื่นจดหมายขอให้ตรวจสอบและเอาผิดการถือหุ้นอำพรางของรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีน ที่เข้ามาเป็นผู้รับเหมารับในการทำเหมืองแร่โปแตชให้กับบริษัทเอกชน ที่ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด และขอให้มีคำสั่งให้รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีน หยุดการใช้วัตถุระเบิดขุดเจาะอุโมงค์ใหม่เพื่อทำเหมืองแร่โปแตชของบริษัทดังกล่าว ซึ่งตัวแทนกลุ่มฯ ได้อ่านจดหมายตรงบริเวณฟุตปาธข้างสถานทูตฯ โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสถานทูตเป็นตัวแทนรับหนังสือ
ต่อมาในช่วงบ่าย กลุ่มนักปกป้องสิทธิฯ ได้เดินทางมายังรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือถึง น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย และตัวแทนพรรคเพื่อไทย ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลกระทรวงมหาดไทย ที่มีอำนาจในการอนุมัติการใช้ระเบิดเปิดอุโมงค์เหมืองแห่งใหม่ รวมถึงยื่นหนังสือถึง น.ส.อังคณา นีละไพจิตร สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และนายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล โฆษกคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิงแวดล้อมสภาผู้แทนราษฎร
น.ส.จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ปรึกษากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวว่า โครงการเหมืองแร่โปแตชด่านขุนทด ก่อให้เกิดปัญหารุนแรงต่อพื้นที่ ทั้งดินเค็ม น้ำปนเปื้อนเค็มรุนแรงกว่าน้ำทะเลหลายเท่า อาคารบ้านเรือนผุกร่อน และความแตกแยกในชุมชน ซึ่งเกิดจากการที่บริษัทไม่ปฏิบัติตามรายงาน EIA และดำเนินโครงการด้วยความประมาทเลินเล่อ จนน้ำเกลือทะลักท่วมอุโมงค์เดิม และมีการลักลอบเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการ แต่หน่วยงานที่กำกับดูแลกลับเพิกเฉยต่อการเอาผิด
น.ส.จุฑามาส กล่าวต่อว่า ทางกลุ่มฯ ยังพบว่าบริษัทเคยได้รับอนุญาตให้ใช้วัตถุระเบิดเมื่อปี 2559 โดยไม่มีมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมรองรับ และผิดเงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตรในขณะนั้นที่ห้ามใช้วัตถุระเบิด จึงขอให้ รมช.มหาดไทย ในฐานะผู้กำกับดูแลกรมการปกครอง ใช้อำนาจตามกฎหมาย ชะลอกระบวนการอนุญาต เพื่อให้มีการตรวจสอบปัญหาผลกระทบและข้อสงสัยเรื่องการอนุญาตใช้วัตถุระเบิดในปี 2559 อย่างเป็นธรรม ปกป้องประชาชนและสิ่งแวดล้อมจากภัยพิบัติความเค็มจากการทำเหมืองแร่
ขณะที่ น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวภายหลังจากรับหนังสือ ว่า ตนได้ทราบข่าวของเหมืองแร่โปแตชด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่ทราบว่าเริ่มมีความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2558 จนกระทั่งปี 2559 มีรายงานว่าโครงการดังกล่าวได้รับอนุญาตให้ใช้วัตถุระเบิดเพื่อดำเนินกิจกรรมเปิดหน้าดิน เตรียมเข้าสู่กระบวนการทำเหมือง ซึ่งสร้างความกังวลและผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และเมื่อได้รับหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหานี้ ตนจะดำเนินการตรวจสอบทันที โดยเฉพาะในประเด็นการใช้วัตถุระเบิด ว่ามีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และหากมีข้อบกพร่องในรายงานหรือข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างโปร่งใส
“พรรคเพื่อไทยมี สส. ในพื้นที่ และได้ติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากข้อมูลของผู้ประกอบการและเสียงสะท้อนจากประชาชน เราจะสังเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ร่วมกัน เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาลยืนอยู่ข้างประชาชนอย่างแท้จริง” น.ส.ธีรรัตน์ กล่าว
น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ที่เดินทางเข้า กทม. ในวันนี้ เพื่อเรียกร้องสิทธิและสะท้อนผลกระทบที่ได้รับว่า เป็นสิ่งที่ควรได้รับการขอบคุณ เพราะเลือกใช้รัฐสภาเป็นเวทีในการแสวงหาทางออกอย่างสันติและสร้างสรรค์ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อรับทราบปัญหาแล้ว จะเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยจะมีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง และหากพบว่าผู้ประกอบการกระทำผิดกฎหมาย หรือกระทำสิ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน ขอให้หยุดการดำเนินการนั้นโดยทันทีและจะรายงานผลให้ประชาชนและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดรับทราบโดยเร็ว
ขณะที่ น.ส.จุฑามาส สอบถามความชัดเจนเพิ่มเติมว่า เท่าที่ทราบขั้นตอนการขอใช้ระเบิดในการทำเหมืองแร่โปแตช อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายที่เป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมการปกครองที่จะพิจารณาว่าอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ซึ่งกลุ่มเป็นกังวลอย่างมาก จึงอยากจะขอความชัดเจนจาก รมช.มหาดไทย ช่วยชะลอคำสั่งดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนในพื้นที่ได้หรือไม่ ซึ่ง น.ส.ธีรรัตน์ ได้ยกหูโทรศัพท์หานายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครองทันที พร้อมทั้งมีคำสั่งให้อธิบดีชะลอการพิจารณาออกไปก่อน จนกว่าจะได้พูดคุยหารือกันอีกครั้งถึงข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้รอบด้าน หลังวางหูโทรศัพท์ น.ส.ธีรรัตน์ ได้แจ้งกับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดว่า “เขาไม่เซ็นแล้ว จะรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจนอีกครั้งก่อน”
ด้านนายฐิติกันต์ กล่าวว่า กมธ.ที่ดิน จะลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อตรวจสอบเรื่องกรณีการเตรียมใช้ระเบิดเปิดอุโมงค์ที่กลุ่มร้องเรียนมา และหากพบว่าเป็นการใช้ระเบิดที่ผิดต่ออีไอเอ ก็ต้องหยุดและดำเนินการใหม่ทั้งหมด โดยเริ่มจากการทำอีไอเอใหม่ เพื่อความสบายใจของประชาชนในพื้นที่
ขณะที่ น.ส.ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International Thailand (PI) กล่าวว่า ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด มีสิทธิในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่กระทบต่อชีวิตและทรัพยากรของตนเอง ตามหลักอนุสัญญา CEDAW และปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่แค่ผู้ได้รับผลกระทบ แต่คือผู้มีสิทธิในการกำหนดอนาคตของที่ดิน สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม การใช้วัตถุระเบิดในพื้นที่ชุมชนซึ่งมหาดไทยอนุญาตไปแล้วปี 59 และกำลังจะอนุญาตอีก โดยไม่ปรึกษาหารือและไม่เคารพสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและชุมชน ถือเป็นการละเมิดซ้ำซ้อนที่รัฐต้องหยุดยั้งทันที
ทั้งนี้ในวันที่ 4 ก.ค.เวลา 10.30 น. กลุ่มฯ จะเข้ายื่นหนังสือให้กับนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ตรงข้ามประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล จากนั้นเวลา 13.30 น. จะเข้ายื่นหนังสือให้กับปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ยุติกระบวนการอนุมัติให้มีการใช้วัตถุระเบิดในการเปิดอุโมงค์เหมืองแห่งใหม่ในพื้นที่ด้วย.