สพฐ. หนุน เขตพื้นที่ เคลื่อนคุณภาพการศึกษามาตรฐานสากล
.
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ร่วมทักทายและให้กำลังใจผู้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การยกระดับคุณภาพการศึกษาตามแนวทาง PISA" ตามโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาตามแนวทางการประเมินระดับนานาชาติ (PISA) ปีการศึกษา 2568 สพป.สมุทรปราการ เขต 2 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ดร.กนิษฐา ทองเลิศ ผอ.สพป.สมุทรปราการ เขต 2 พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ สพป.สมุทรปราการ เขต 2 ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สพป.สมุทรปราการ เขต 2 จำนวน 71 โรงเรียน รวมจำนวน 105 คน เข้าร่วม
.
การประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้บริหารสถานศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้แนวทางการประเมินตามกรอบ PISA ในการจัดการศึกษา ตลอดจนเสริมสร้างความสามารถในการนำระบบ DLTV รูปแบบใหม่ (NEW DLTV) ไปใช้บริหารจัดการการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวิทยากรพิเศษ ได้แก่ ดร.กอบวิทย์ พิริยะวัฒน์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพม.ปทุมธานี และนายพิชิต ขำดี ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการศึกษาทางไกลฯ สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
.
โอกาสนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ภายใต้การขับเคลื่อนตามนโยบายของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ) และ เลขาธิการ กพฐ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา ที่ให้ความสำคัญในการดำเนินการและติดตามการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาตามแนวทาง PISA เน้นย้ำให้การพัฒนาผู้เรียนไทยก้าวทันโลก และให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะการคิด ให้คุณภาพการศึกษาเกิดขึ้นกับผู้เรียนทุกคน และในปัจจุบัน ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเจตนารมณ์ดำเนินการต่อเนื่อง และได้สานต่อเจตนารมณ์อย่างเข้มแข็ง เพื่อให้นักเรียนทุกคนไม่หยุดการพัฒนา ได้รับการดูแล และเติบโตด้วยคุณภาพ อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นพื้นฐานการคิดที่สำคัญ ส่งผลให้การขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาตามแนวทาง PISA เป็นการเติมเต็มการจัดการศึกษาภายในห้องเรียน โดยศักยภาพของผู้นำเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และศึกษานิเทศก์ ผู้มีกลไกหลักร่วมขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ ลงสู่ห้องเรียนทุกห้องเรียน นับว่าเป็นการสร้างคน ปลูกฝังกระบวนการคิด วิเคราะห์ จนเกิดคุณภาพการศึกษา และผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง
.
สิ่งสำคัญ คือ เด็กนักเรียนทุกคน ต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง รวมถึงโอกาสในการได้รับการฝึกฝนกระบวนการคิด วิเคราะห์ นำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เกิดเป็นทักษะ Literacy ที่ติดตัวเด็กไปในอนาคต ทางด้าน ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน ต้องสร้างกระบวนการ แนวทางการฝึกฝนให้ผู้เรียนมีกระบวนการคิด อย่างมีเหตุมีผล มีการใช้สติไตร่ตรอง เกิดสติปัญหา และทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ภายใต้กระบวนการจัดการเรียนรู้ Active learning ซึ่งจะเป็นกิจกรรมการส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กได้รับความรู้ เป็นไปตามสมรรถนะหลักที่สำคัญ และมีพฤติกรรมที่ดี ที่เรียกว่าคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนเป็นไปตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฯ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ เราทุกคนต้องร่วมกันขับเคลื่อนและทำอย่างเต็มที่ จะทำให้เราได้เด็ก ได้ผู้เรียนที่ดี มีความพร้อมทุก ๆ ด้าน มีภูมิคุ้มกันติดตัว สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข
.
“ขอบคุณ ผอ.สพป.สมุทรปราการ เขต 2 และขอบคุณทุก ๆ คนที่ร่วมกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งเติมทุกด้านให้นักเรียนมีความพร้อมอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ระยะเวลาที่มี ภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ ของพื้นที่ เราทุกคนต้องวิเคราะห์และปลดรั้วโรงเรียนเพื่อเติมจุดเด่นในการพัฒนาซึ่งกันและกัน จากการประชุมติดตามทุก 2 สัปดาห์ จนครั้งที่ 30 ทำให้เห็นความทุ่มเท ความมุ่งมุ่นตั้งใจของผู้นำเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต และความร่วมมือของทุก ๆ คน กลายเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนสร้างองค์ประกอบในการพัฒนานักเรียนสามารถเป็นตัวแทนการพัฒนาได้ นักเรียนมีความพร้อมเป็นตัวแทนของประเทศ และพร้อมที่จะนำพาระบบการศึกษาของประเทศไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว