ศมข.ราชบุรี ขับเคลื่อน “โครงการชั่งหัวมันฯ” สร้างแปลงสาธิตข้าว กข43 เสริมสุขภาพ-สร้างรายได้ชุมชน
โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญของการน้อมนำแนวคิด “พึ่งพาตนเอง” ตามศาสตร์พระราชามาใช้พัฒนาพื้นที่และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี กรมการข้าว ได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนโครงการชั่งหัวมันฯ ผ่านการจัดทำแปลงเรียนรู้ข้าวพันธุ์ กข43 ซึ่งเป็นข้าวที่มีค่าดัชนีน้ำตาลปานกลางค่อนต่ำ ตอบโจทย์ด้านสุขภาพของผู้บริโภค พร้อมส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ให้มีรายได้ และพัฒนาทักษะการผลิตข้าวคุณภาพ ทั้งในด้านการเพาะปลูก แปรรูป และเชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนในพื้นที่โดยรอบ
กรรณิการ์ สีนวลมาก ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี เล่าถึงการขับเคลื่อนโครงการชั่งหัวมันฯ ว่า ศูนย์ฯ ได้จัดตั้งแปลงเรียนรู้เพื่อให้นักท่องเที่ยวและหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเน้นการปลูกข้าวพันธุ์ กข43 ซึ่งเป็นข้าวที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย และสารเคมีที่จำเป็นตามความเหมาะสมของแต่ละรอบการเพาะปลูก โดยไม่ได้ดำเนินการเองทั้งหมด แต่จะจ้างเกษตรกรภายนอกมาดูแลแปลงตามช่วงเวลา และจ้างทีมเฉพาะมาทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนนำไปแปรรูปเป็นข้าวสารและข้าวกล้อง ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีการแปรรูปข้าวในสัดส่วนเท่ากัน คือข้าวสาร 50% และข้าวกล้อง 50% ก่อนจะนำไปจำหน่ายยังร้านโกลเด้นเพลสในจังหวัดเพชรบุรี รายได้ที่ได้จากการขายจะถูกส่งกลับเข้าสู่โครงการชั่งหัวมันฯ เพื่อใช้ขับเคลื่อนกิจกรรมในปีถัดไป
พื้นที่สำหรับแปลงสาธิตมีขนาด 4 ไร่ครึ่ง ซึ่งจะดำเนินการเพาะปลูกได้ประมาณ 1 รอบครึ่งต่อปีงบประมาณ และเก็บเกี่ยวในปีงบประมาณถัดไป โดยผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 500 – 600 กิโลกรัมต่อปี เนื่องจากสภาพดินยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้ปอเทืองจากกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อฟื้นฟูอินทรียวัตถุในดิน โดยใช้ในอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ อย่างไรก็ตาม พื้นที่โครงการชั่งหัวมันฯ ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จึงส่งผลให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ไม่ถึง 400 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น
โครงการชั่งหัวมันฯ ไม่ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์เอง เนื่องจากการทำเมล็ดพันธุ์ต้องการการดูแลที่ต่อเนื่องและละเอียด เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ มีไม่เพียงพอ และใช้วิธีจ้างเกษตรกรจากพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาดูแลเป็นช่วง ๆ เช่น ใส่ปุ๋ยสามครั้งต่อฤดู ก็จะเข้ามาดูแลตามรอบเท่านั้น ไม่มีผู้ดูแลประจำอยู่เฝ้าแปลงตลอดเวลา จึงไม่สามารถควบคุมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ให้ได้มาตรฐาน จึงเปลี่ยนมาเน้นผลิตข้าวเพื่อบริโภคแทน โดยคัดเลือกข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อย่างข้าวกล้อง และมีแนวทางเพิ่มผลผลิต เช่น เมื่อแปรรูปข้าวกล้องจะได้ผลผลิตมากกว่าข้าวสารถึงร้อยกิโลกรัม พร้อมทั้งมีคุณค่าทางอาหารมากขึ้น จึงสามารถนำเสนอเป็นจุดเด่นของโครงการชั่งหัวมันฯ ได้
ในส่วนของการแปรรูป ศูนย์ฯ ได้ประสานกับเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนและแปลงใหญ่ในพื้นที่เพชรบุรี โดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลไร่มะขาม อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นศูนย์ข้าวชุมชนครบวงจรที่รับแปรรูปข้าวสารและข้าวกล้อง พร้อมบรรจุถุงสุญญากาศขนาด 1 กิโลกรัม เพื่อความสะดวกในการจำหน่าย อย่างไรก็ตาม โครงการชั่งหัวมันฯ ยังไม่ได้มีการแปรรูปข้าวเป็นขนมหรือผลิตภัณฑ์อื่น เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ยังไม่มีเครื่องจักรกลที่รองรับขั้นตอนเหล่านั้น และการส่งข้าวไปแปรรูปยังพื้นที่ห่างไกล เช่น นครปฐม ก็จะไม่คุ้มค่าด้านต้นทุนและการขนส่ง อีกทั้งวัตถุประสงค์หลักของโครงการชั่งหัวมันฯ ต้องการเพียงการผลิตข้าวสารเพื่อบริโภค
นักท่องเที่ยวที่เข้ามาศึกษาดูงานแปลงสาธิต ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่สนใจด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากโครงการชั่งหัวมันฯ เป็นผู้นำชม พร้อมบรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับพันธุ์ข้าว สรรพคุณ และกระบวนการผลิต ซึ่งจะมีป้ายแสดงข้อมูลอยู่บริเวณข้างแปลง นักท่องเที่ยวที่มักมาเยี่ยมชมจะเป็นทั้งประชาชนทั่วไป หน่วยงานราชการ และบริษัทเอกชน ส่วนกลุ่มเกษตรกรที่มาเยี่ยมชมโครงการชั่งหัวมันฯ ก็มักจะนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง แม้การประเมินความสำเร็จของแปลงสาธิตจะยังไม่สามารถชี้วัดจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นได้ทุกปี แต่สามารถประเมินความสำเร็จจากการดำเนินกิจกรรมตามแผนโครงการที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี ได้น้อมนำแนวคิดศาสตร์พระราชา โดยเน้นการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการพึ่งพาจากภายนอก และส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ผ่านการสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มเกษตรกร ศูนย์ข้าวชุมชน และกลุ่มนาแปลงใหญ่ ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานรัฐในการขอความร่วมมือด้านองค์ความรู้หรือทรัพยากร เช่น เมล็ดพืชปุ๋ยสดจากกรมพัฒนาที่ดิน หรือการสนับสนุนการอบรมจากเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ด้านการเกษตรจริง ซึ่งช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถนำความรู้กลับไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนได้
ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี ยังคงตั้งใจสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการชั่งหัวมันฯ อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งขยายผลไปยังกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง โดยเกษตรกรสามารถเข้ามาศึกษาดูงาน หรือติดต่อให้เจ้าหน้าที่ไปถ่ายทอดองค์ความรู้เพิ่มเติมได้ ทั้งแบบรายบุคคลที่มีความสนใจจริง และแม้ว่าเกษตรกรจะไม่ได้ทำนาโดยตรง แต่สามารถต่อยอดความรู้ตามแนวทาง “ศาสตร์พระราชา 30-30-30-10” ซึ่งเน้นความหลากหลายของการเกษตรผสมผสาน และศูนย์ฯ ก็พร้อมทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชุมชนสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง
โครงการชั่งหัวมันฯ ไม่ใช่เพียงการผลิตข้าวเพื่อบริโภค แต่คือแบบอย่างของการเรียนรู้ การพัฒนา และการสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับเกษตรกรไทย พร้อมเปิดพื้นที่ให้ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษา แลกเปลี่ยน และนำไปปรับใช้ได้จริงในบริบทของตนเอง นับเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของการพัฒนาเกษตรไทยอย่างยั่งยืน ภายใต้ร่มพระบารมีของพระราชดำริที่ทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา