เปิดเอกสารลับ! ผู้พิพากษาแจงก.ต.ปม“เงินร้อยโล”คดีหุ้นWEH
คดีพิพาทหุ้นของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในวงการยุติธรรม หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 4/2568 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 ซึ่งมีนางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ได้มีมติให้ สอบวินัยร้ายแรง ผู้พิพากษาระดับอธิบดีและรองอธิบดีศาล 2 ราย ข้อหาเอื้อประโยชน์แก่คู่ความ ส่งผลให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามจ่ายเงินปันผลนานกว่า 5 ปี
ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม
ท่ามกลางกระแสข่าวนี้ นายนิติพงษ์ ถิรรุ่งเรือง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถูกสอบสวน ได้ยื่นหนังสือถึงประธานและคณะกรรมการ ก.ต. เพื่อขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและร้องขอความเป็นธรรม ความยาวรวม7หน้ากระดาษ โดยระบุในหนังสือว่าตลอดชีวิตราชการในฐานะผู้พิพากษา ได้อุทิศตนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในความยุติธรรม และไม่เคยหวั่นไหวต่อสิ่งยั่วยุใดๆ โดยอ้างอิงถึงการทำคดีสำคัญอย่าง คดีทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่เคยถูกสอบสวนแต่สุดท้ายเรื่องก็ยุติลง
สำหรับกรณีล่าสุดที่นำไปสู่การถูกสอบสวนวินัย ชี้แจงว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการมีคำสั่งไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.938/2565 โดยเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้และรักษาการแทนอธิบดี ได้ปรึกษาและเห็นชอบร่วมกับองค์คณะในการสั่ง อายัดหุ้น ตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเจ้าของหุ้นที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวส่งผลให้ฝ่ายจำเลยยื่นเรื่องร้องเรียนว่านายนิติพงษ์ไม่มีความเป็นกลาง แต่นายนิติพงษ์ยืนยันว่าได้ชี้แจงข้อเท็จจริงไปยังผู้บังคับบัญชาแล้ว และพร้อมรับผิดชอบสำนวนคดีต่อไปด้วยความตรงไปตรงมา ไม่เข้าข้างฝ่ายใด
ท้ายที่สุด นายนิติพงษ์ได้แสดงความประสงค์ขอเข้าชี้แจงด้วยวาจาต่อที่ประชุม ก.ต. หรือคณะอนุกรรมการ ก.ต. โดยตรง หากมีการพิจารณาวาระเกี่ยวกับการพักราชการของตน เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และปกป้องชีวิตราชการ รวมถึงครอบครัวของตนจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
ที่มา เอกสารผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ชี้แจงกต.
ชนวนเหตุจากคำสั่งอายัดเงินปันผล
นายณพ ณรงค์เดช ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ WEH ได้ออกมาเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 ยอมรับว่าตนเองคือผู้ร้องเรียนผู้พิพากษาทั้งสองรายตั้งแต่ปี 2565 โดยระบุว่าศาลออกคำสั่งอายัดเงินปันผลโดย ไม่มีหลักฐานชัดเจนและเกินขอบเขตข้อพิพาทจริง ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายร้ายแรง นายณพยังกล่าวอ้างว่าอธิบดีผู้พิพากษาในคดีนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฝ่ายคู่ความ และมีพฤติกรรมมอบหมายให้รองอธิบดีดูแลคดีแทน ซึ่งเป็นเหตุให้ตนต้องร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อ ก.ต. แม้สุดท้ายนายณพจะชนะคดีแล้ว แต่คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ออกไปก่อนหน้านี้ยังคงทำให้ไม่สามารถรับเงินปันผลได้
ก.ต. ชี้พฤติกรรม "เกินความเหมาะสม"
จากเอกสารข่าวการประชุม ก.ต. ครั้งที่ 4/2568 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องประชุมราชบุรีดิเรกฤทธิ์ มีการระบุพฤติการณ์ของผู้พิพากษาทั้งสองรายที่เข้าข่ายความผิดดังนี้:
ข้อ 8: มีการให้คำปรึกษาคดีความที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งพฤติการณ์ เกินเลยไปกว่าการให้คำปรึกษาโดยทั่วไปและเกินความเหมาะสม นอกจากนี้ยังร่วมนั่งพิจารณาคดีโดยไกล่เกลี่ยคู่ความ ซึ่งอาจทำให้คู่ความอีกฝ่ายสงสัยในความเป็นกลาง ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบและจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ ซึ่งจัดเป็น ความผิดวินัยไม่ร้ายแรง และเห็นควรลงโทษภาคทัณฑ์
ข้อ 9: จากรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ก.ต. มีมติว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหา 2 ราย มีมูลเป็น ความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงต่อไป
สินบน 100 ล้านบาท: คดีพลิกสู่ ป.ป.ป.
คดีนี้กลับมาเป็นที่จับตาอีกครั้งเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 นายเฉลิมชัย เขียวประดิษฐ์ และนายวีรศักดิ์ นาคิน ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายณพ ณรงค์เดช ได้ยื่นเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ป.ป.ป.) เพื่อให้สืบสวนและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องในประเด็นการ เสนอสินบนจำนวน 100 ล้านบาท แก่ผู้บริหารศาลยุติธรรมบางราย แลกกับการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวอายัดเงินปันผลหุ้นมูลค่านับพันล้านบาท
นายเฉลิมชัยเปิดเผยว่า แม้ ก.ต. จะมีมติสั่งพักราชการอดีตอธิบดีผู้พิพากษาไปแล้ว และอดีตรองอธิบดีผู้พิพากษาได้ยื่นอุทธรณ์ โดยอ้างว่าตนเองปฏิเสธข้อเสนอสินบน 100 ล้านบาทดังกล่าว แต่นายณพ ณรงค์เดช ต้องการให้ ป.ป.ป. ตรวจสอบเส้นทางการเงินและหาตัวผู้ที่เสนอสินบน เพื่อความจริงปรากฏและยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองที่ถูกปรักปรำว่าเกี่ยวข้องกับเงินจำนวนนี้
ทนายความของนายณพยังแสดงความเห็นว่าคดีนี้อาจมีความผิดตามกฎหมายหลายฉบับ และเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตจะเข้ามาตรวจสอบข้อมูลอย่างจริงจัง เพื่อรักษาความโปร่งใสขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม พนักงานสอบสวน บก.ป.ป.ป. ได้รับเรื่องร้องทุกข์และพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว และเตรียมนำเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.