EV จีนล้นตลาด สู่ไทยไร้ศูนย์ซ่อม ผู้บริโภคเสี่ยง! ซ้ำรอยเจ้าดัง
สภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า ขณะที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้นโยบายสนับสนุนจากรัฐ ทั้งการให้เงินอุดหนุนรถ EV ที่นำเข้า และการลดภาษีนำเข้าเพื่อเร่งให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการใช้รถพลังงานสะอาดในภูมิภาค แต่กระแสการเติบโตอย่างรวดเร็วกลับทำให้เกิดความกังวลถึง “ภาวะโอเวอร์ซัพพลาย”ที่อาจนำไปสู่ปัญหาในภาคปฏิบัติที่ผู้บริโภคต้องเผชิญ โดยเฉพาะกรณีศึกษาอย่าง NETA ที่กลายเป็นบทเรียนราคาแพง
EV จีนล้นตลาด ท้าทายทั่วโลก
ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศจีน (CAAM) ระบุว่าในปี 2024 จีนผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 9 ล้านคัน และยังผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่า 30% ต่อปี ขณะที่ตลาดภายในประเทศเริ่มอิ่มตัว และเกิดภาวะ “โอเวอร์ซัพพลาย” ทำให้ผู้ผลิต EV จีน เปิดศึกสงครามราคาอย่างรุนแรง จนบางรายต้องปิดกิจการ หรืออย่างกรณี Hozon New Energy Automobile บริษัทแม่ของ NETA ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย
ขณะที่ผู้ผลิตจีนจำนวนมากได้หันมารุกตลาดต่างประเทศ ทั้งยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทย จากรายงานจาก Nikkei Asia ยังเตือนถึงความเสี่ยงจาก “สงครามราคา” และ “การล้นตลาด” ที่ทำให้บางแบรนด์เร่งส่งออกโดยไม่คำนึงถึงความพร้อมด้านบริการหลังการขาย รวมถึงการจัดหาอะไหล่และศูนย์ซ่อมบำรุง ส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อคุณภาพและความน่าเชื่อถือของแบรนด์ในสายตาผู้บริโภค
ในประเทศไทยการเข้ามาของแบรนด์ EV จีนเป็นผลจากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ทั้งมาตรการ EV 3.0 และ EV 3.5 ที่รัฐให้เงินอุดหนุนต่อคันสูงสุดถึง 150,000 บาท รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษี นำไปสู่การหลั่งไหลของแบรนด์จีนที่เข้ามาทำตลาดอย่างคึกคัก และได้สิทธิพิเศษด้านภาษีในการนำเข้ารถยนต์มาจำหน่ายทั้งคันในช่วงแรก ขณะที่หลายรายตัดสินใจตั้งฐานการผลิตในไทย เช่น BYD, MG, GWM (Ora), Changan และ Aion (ภายใต้กลุ่ม GAC Motor) เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนดว่าผู้นำเข้าต้องมีแผนตั้งโรงงานภายในระยะเวลาที่กำหนด
ไทยโตแรง แต่ยังไร้รากฐานบริการหลังบ้าน
กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าในปี 2567 ที่ผ่านมา ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะสูงถึง 100,000 คัน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีที่ผ่านมา โดยแบรนด์จากจีนครองตลาดมากกว่า 80%
แต่ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยกลับไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยลดลงมาอยู่ที่ 70,000 คันในปี 2567 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นปัญหาของ EV ในประเทศไทย และเข้าสู่สงครามราคาเช่นเดียวกับประเทศจีน และเริ่มมีปัญหาจากไม่มีระบบบริการหลังการขายที่แข็งแรง ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบมากขึ้น เช่น ไม่มีอะไร รออะไหล่นาน หรือใช้เวลาในการซ่อมนาน
ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นแล้วในกรณีของ NETA ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง และอาจมีรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์อื่น ๆ ที่มีการร้องเรียนเข้าที่สภาผู้บริโภค และอาจสร้างปัญหาซ้ำรอยให้กับผู้บริโภคได้อีก
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สภาผู้บริโภคและผู้เชี่ยวชาญจากสภาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวทาง ให้รัฐบาลเร่งแก้ไข ดังนี้
1. กำหนดหลักเกณฑ์การประกันคุณภาพและบริการหลังการขายให้ชัดเจนก่อนการอนุมัติเงินอุดหนุน เช่น กำหนดให้ต้องมีศูนย์บริการขั้นต่ำครอบคลุมพื้นที่หลักภายใน 1 ปี หรือมีอะไหล่สำรองขั้นต่ำในไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี
2. จัดตั้งศูนย์ร้องเรียนพิเศษเกี่ยวกับ EV ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้สามารถติดตามและแก้ปัญหาเฉพาะด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ให้ข้อมูลผู้บริโภคอย่างโปร่งใส ทั้งในเรื่องประวัติของแบรนด์ ความสามารถด้านบริการ และต้นทุนดูแลรักษาระยะยาว เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง
"ตลาด EV ไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่หากการสนับสนุนภาครัฐยังเน้นเฉพาะยอดขายโดยไม่ควบคุมคุณภาพและบริการหลังการขาย อาจนำไปสู่การซ้ำรอยในกรณีของ NETA ในอีกหลายแบรนด์ ผู้บริโภคจะกลายเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงแต่เพียงฝ่ายเดียว"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลงทุนซื้อรถใหม่ คันไหนยิ่งขับ ยิ่งคุ้ม ? เมื่อสงครามลดราคายังอยู่
บีโอไอ อนุมัติ "Chery" ค่ายรถยนต์รายใหญ่จีน ตั้งฐานผลิต EV ในไทย
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : EV จีนล้นตลาด สู่ไทยไร้ศูนย์ซ่อม ผู้บริโภคเสี่ยง! ซ้ำรอยเจ้าดัง
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.pptvhd36.com