มาใหม่! 'คุณยายให้เช่า' บริการสุดแปลก ที่กำลังมาแรงในญี่ปุ่น
คลื่นยักษ์สังคมสูงวัยกำลังถาโถมในหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่ค่าครองชีพมีแต่ขึ้นเอาขึ้นเอา ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ยังมีแรงจึงมองหาช่องทางสร้างคุณค่าในตัวเองให้กลับมาอีกครั้ง
สำหรับประเทศญี่ปุ่น จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งประเทศญี่ปุ่น พบว่า มีผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ประมาณ 9.3 ล้านคนยังคงทำงานอยู่ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรสูงอายุทั้งหมด แม้สถานการณ์นี้อาจดูน่ากังวล แต่ก็มองเห็นเป็นโอกาสและถือว่าผู้สูงอายุของญี่ปุ่นเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าได้เช่นกัน
ล่าสุดมีผู้ให้ประกอบการหัวใส เปิดให้บริการ "โอเค โอบาจัง" (OK Obaachan) หรือ "โอเค คุณยาย" ให้บริการเช่าคุณยายในราคา 3,300 เยนสำหรับค่าเดินทาง และ 3,300 เยนต่อชั่วโมง (3,000 เยน ประมาณ 670 บาท)
ปัจจุบันพวกเขามีคุณยายในสังกัดประมาณ 100 ท่าน ตั้งแต่อายุ 60 ถึง 94 ปี ด้วยคุณสมบัติและความสามารถที่หลากหลาย ตั้งแต่งานบ้าน, ทักษะการเข้าสังคม, ความรู้ทางประวัติศาสตร์ และประสบการณ์ชีวิต
บางคนอาจสงสัยว่า แล้วจะมีคนใช้บริการนี้จริงหรือ? ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของ OK Obaachan พวกเขาได้รับคำขอที่หลากหลาย ตั้งแต่เรื่องทั่วๆ ไป อย่างการสอนทำอาหาร หรือมาช่วยเลี้ยงเด็ก ไปจนถึงการไปนั่งเป็นคุณยายช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในครอบครัว และการช่วยเขียนจดหมายด้วยลายมือสวยงาม
นอกจากนี้ยังมีการขอให้คุณยายไปช่วยเป็นเสาหลักพึ่งพิงทางจิตใจ และยังมีหนุ่มๆ บางคนติดต่อมาขอให้คุณยายไปนั่งอยู่ด้วยในตอนที่ตัดสินใจเปิดเผยเรื่องรสนิยมทางเพศกับพ่อแม่
รายงานข่าวจากสำนักข่าวออลนิปปอน (ANN News) ยังได้สัมภาษณ์ลูกค้าที่พึงพอใจซึ่งใช้บริการเช่าคุณยายเพื่อไปอยู่ด้วยในตอนที่เลิกกับแฟน หรือเพื่อช่วยในการค้นคว้าข้อมูลสำหรับรายงานที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมญี่ปุ่นตลอดหลายปีที่ผ่านมา
สำหรับกระแสสังคมเกี่ยวกับบริการคุณยายให้เช่านี้ พบว่า มีจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่แน่ใจว่า มันจะเวิร์กไหม แถมยังกังวลเรื่องความปลอดภัยของคุณยายทั้งหลายด้วย
เหตุเกิดจากความเหงา และอนาคตของการเช่าผู้คน
สาเหตุที่มีแต่คุณยาย นั่นก็เพราะ Client Partners บริษัทที่ให้เช่าคุณยายนี้ คือบริษัทที่ทำธุรกิจจับคู่ผู้หญิงที่มีทักษะต่าง ๆ กับงานพาร์ทไทม์ โดยเรียกตัวเองว่าเป็น "บริษัทช่างหญิงล้วน" พวกเขายังให้บริการเช่าเพื่อนและสมาชิกในครอบครัว ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้หญิงเช่นกัน
สำหรับผู้ที่กำลังมองหา “คุณปู่” เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการอีกรายก็มี Ossan Rental ซึ่งเป็นบริการ "คุณลุงให้เช่า" โดยมีหลากหลายวัย ตั้งแต่ 30 , 40 ไปจนถึงอายุ 70 กว่าก็มี
นอกจากบริการคุณยายและคุณลุงแล้ว ญี่ปุ่นยังมีบริการให้เช่าคนในรูปแบบอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้คนในสังคมยุคใหม่
บริการเช่าเพื่อน (Rental Friends) : สำหรับผู้ที่ต้องการเพื่อนร่วมกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไปกินข้าว ดูหนัง ช้อปปิ้ง หรือแม้กระทั่งพูดคุยระบายความในใจ บริการนี้ช่วยเติมเต็มช่องว่างทางสังคมสำหรับผู้ที่รู้สึกเหงา หรือไม่มีเพื่อนสนิทในบางสถานการณ์
บริการเช่าครอบครัว (Rental Family): เป็นบริการที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีกขั้น โดยผู้ให้บริการจะจัดหา "สมาชิกในครอบครัวจำลอง" เช่น พ่อแม่ พี่น้อง หรือแม้แต่ลูก เพื่อร่วมในกิจกรรมสำคัญต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานเลี้ยง หรือเพียงแค่มาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างบรรยากาศของครอบครัวให้สมบูรณ์ขึ้น
บริการเช่าแฟน/คู่เดท (Rental Boyfriend/Girlfriend): แม้จะดูเป็นเรื่องแปลกสำหรับบางวัฒนธรรม แต่บริการนี้ได้รับความนิยมในญี่ปุ่น สำหรับผู้ที่ต้องการมีคู่เดทไปร่วมงานสังคม ออกเดท หรือเพียงแค่ต้องการประสบการณ์การมีแฟน โดยไม่มีข้อผูกมัดระยะยาว
บริการเช่าผู้รับฟัง (Listening Services): สำหรับผู้ที่ต้องการใครสักคนรับฟังปัญหา โดยไม่ตัดสินหรือให้คำแนะนำ ผู้ให้บริการจะทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดี เพื่อให้ลูกค้าได้ระบายความรู้สึก ความเครียด หรือความกังวลต่างๆ ออกมา
บริการให้เช่าคนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของสังคมญี่ปุ่น ซึ่งผู้คนจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญกับปัญหาความเหงาและความโดดเดี่ยวที่เพิ่มขึ้น (แม้หลายคนจะมีครอบครัว แต่ก็ยังรู้สึกโดดเดี่ยวอยู่ดี)
ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มสาวที่ประสบปัญหาในการสร้างความสัมพันธ์ คนวัยทำงานที่ถูกความกดดันจากภาระหน้าที่ หรือแม้แต่ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมีแนวโน้มที่จะลดลง
ปัญหาความเหงาในญี่ปุ่นมีความรุนแรงถึงขนาดที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตระหนักถึงความสำคัญและจำเป็นต้องเข้ามารับมืออย่างจริงจัง ในปี 2021 ญี่ปุ่นได้แต่งตั้ง "รัฐมนตรีกระทรวงความเหงา" (Minister of Loneliness) ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ไขปัญหาความเหงาและความโดดเดี่ยวที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชน และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น
การมีกระทรวงความเหงาชี้ให้เห็นว่าญี่ปุ่นมองปัญหาความโดดเดี่ยวไม่ใช่แค่เรื่องส่วนบุคคลอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาสังคมในระดับมหภาคที่ต้องการการแก้ไขอย่างเป็นระบบ โดยกระทรวงนี้มีหน้าที่ในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อริเริ่มโครงการและมาตรการที่จะช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยว เสริมสร้างความเชื่อมโยงทางสังคม และสนับสนุนให้ผู้คนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตได้ง่ายขึ้น
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นบริการให้เช่าคนรูปแบบต่างๆ หรือการจัดตั้งกระทรวงความเหงา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าสังคมญี่ปุ่นกำลังพยายามหาวิธีรับมือกับความท้าทายด้านความสัมพันธ์และสุขภาพใจของผู้คนในยุคปัจจุบัน เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
อ้างอิง : soranews24 , ANNnewsCH