ปตท.-บีไอจี ทุ่ม 1.78 พันล้าน ขยายโรงแยกอากาศแห่งที่ 2 ลดคาร์บอน 9.3 หมื่นตันต่อปี
บริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ จำกัด (MAP) บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 51% และ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) สัดส่วน 49% เพื่อประกอบธุรกิจจากการนำ พลังงานความเย็นเหลือทิ้งจากก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG มาใช้ประโยชน์ และลดต้นทุนในกระบวนการผลิตของโครงการแยกอากาศ (Air Separation Unit : ASU) เพื่อผลิตและจำหน่ายก๊าซอุตสาหกรรม (Industrial Gas) เช่น ก๊าซไนโตรเจน ก๊าซออกซิเจน ไนโตรเจนเหลว ออกซิเจนเหลว และอาร์กอนเหลว
ถือเป็นโรงแยกอากาศแห่งแรกในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นำพลังงานความเย็นจากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG ) มาใช้ประโยชน์ ด้วยกำลังการผลิตก๊าซออกซิเจนเหลวได้ถึง 1,100 ตันต่อวัน หรือรวมกำลังผลิตก๊าซอุตสาหกรรมได้แก่ ออกซิเจน ไนโตรเจน และอาร์กอน กว่า 400,000 ตันต่อปี
ล่าสุด MAP ประกาศความเคลื่อนไหว ด้วยการขยายการลงทุนในโรงงานแยกอากาศ แห่งที่ 2 โดยใช้นวัตกรรมขั้นสูง ลดการพึ่งพาไฟฟ้าในกระบวนการแยกอากาศสำหรับผลิตก๊าซอุตสาหกรรม ส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ราว 93,000 ตันต่อปี ถือเป็นความร่วมมือสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ กลุ่ม ปตท. และ BIG ที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในอนาคต
นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โรงงานแยกอากาศแห่งที่ 2 นี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ด้วยเม็ดเงินลงทุนรวมประมาณ 2,500 ล้านบาท เป็นในส่วนการลงทุนของ MAP ราว 1,780 ล้านบาท และที่เหลือเป็นการลงทุนก่อสร้างระบบส่งนํ้าเย็นของ PTTLNG ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างช่วงไตรมาส 1 ปี 2569 แล้วเสร็จในปี 2570 มีกำลังผลิตราว 1,100 ตันต่อวัน หรือสามารถผลิตก๊าซอุตสาหกรรม ได้แก่ ออกซิเจน ไนโตรเจน และอาร์กอน มากกว่า 400,000 ตันต่อปี
สำหรับการขยายกำลังผลิตครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมคาร์บอนตํ่าในประเทศไทย แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์( Net Zero) ของภาคอุตสาหกรรมไทยและระดับประเทศอีกด้วย
โรงงานแยกก๊าซ หรือ MAP1 เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 2,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตก๊าซอุตสาหกรรม 1,100 ตันต่อวัน หรือกว่า 4 แสนตันต่อปี โดยเชื่อมระบบท่อส่งความเย็นมาจาก PTTLNG Receiving Terminal แห่งที่ 1 มาแลกเปลี่ยนพลังงานความเย็นกับกระบวนการผลิตของโรงงาน ASU ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในกระบวนการแยกอากาศ ส่งผลให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 93,000 ตันต่อปี และลดการปล่อยนํ้าเย็นลงสู่ทะเลถึง 2,500 ตันต่อชั่วโมง ที่เป็นการสูญเสียพลังงานความเย็นโดยเปล่าประโยชน์
สำหรับโรงงาน MAP2 เป็นเทคโนโลยีการผลิตจากบริษัท Air Products and Chemicals, Inc. (APC) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ BIG จะใช้พลังงานความเย็นเหลือทิ้งจากก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ประมาณ 0.67 ล้านตันต่อปี โดยเชื่อมระบบท่อส่งความเย็นมาจาก PTTLNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 ระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร มาแลกเปลี่ยนพลังงานความเย็นกับกระบวนการผลิตของโรงงาน ASU โดย BIG จะเป็นผู้ทำตลาดขายปลีก (Retail) นำก๊าซอุตสาหกรรมไปจำหน่ายต่อยังผู้ใช้ในภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมแช่เยือกแข็ง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเชื่อมโลหะ และโรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งจะขนส่งผ่านระบบท่อและรถขนส่ง โดยเฉพาะรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีและยังสามารถนำไปต่อยอดนวัตกรรมด้านความเย็นตามโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกได้อีกด้วย
นายรามานี คาธีร์ เวลู กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก อินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการ MAP1 ที่ได้ส่งมอบก๊าซอุตสาหกรรมคาร์บอนตํ่าให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงการนำเสนอโซลูชันและเทคโนโลยีที่ช่วยให้ลูกค้าและภาคอุตสาหกรรมลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ผ่านการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 50% เมื่อเทียบกับการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมในรูปแบบเดิม หรือเฉลี่ยราว 93,000 ตันต่อปี (คำนวณระหว่างปี 2565-2567) ถือเป็นการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมสู่เป้าหมาย Net Zero อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับเทคโนโลยีนี้จะถูกต่อยอดใน MAP2 เพื่อประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ตอกยํ้าถึงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ Generating a Cleaner Future เพื่อสร้างอนาคตที่สะอาดและยั่งยืน ด้วยการผสานความเชี่ยวชาญด้านก๊าซอุตสาหกรรมของบีไอจีเข้ากับศักยภาพด้านพลังงานของ ปตท. ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสำคัญในการส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในระดับสากล
“โรงแยกอากาศ MAP2 จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทย อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โลหะ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร เป็นต้น ให้สามารถเข้าถึงก๊าซอุตสาหกรรมคาร์บอนตํ่าคุณภาพสูง ที่ผลิตด้วยกระบวนการลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งเป็นเทรนด์สำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม”