คอนเสิร์ต BLACKPINK จุดกระแสอีเวนต์ไร้ขยะด้วยน้ำดื่มรักษ์โลก
หลังจากห่างหายจากเวทีรวมตัวกันมาพักใหญ่ การกลับมาของทั้ง 4 สาว BLACKPINK บนเวทีคอนเสิร์ต BLACKPINK WORLD TOUR IN GOYANG ที่สนามกีฬาโกยาง ประเทศเกาหลีใต้ ไม่ได้สร้างแค่ความตื่นเต้นให้ Blink ทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงกระเพื่อมใหม่ให้กับวงการ K-pop และอุตสาหกรรมอีเวนต์ในประเด็นที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงนั่นคือเรื่อง สิ่งแวดล้อม
หนึ่งในไฮไลต์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ไม่ใช่เพียงโชว์สุดอลังการ แต่คือการเปิดตัวน้ำดื่มรักษ์โลก“BLACKPINK WATER” ซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องสีชมพู-ดำดีไซน์เฉพาะ ขนาด 330 มล. ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง เต็ดตรา แพ้ค ประเทศเกาหลี และ YG Entertainment ถือเป็นครั้งแรกของวงการ K-pop ที่น้ำดื่มภายในคอนเสิร์ตเปลี่ยนจากขวดพลาสติกมาเป็นบรรจุภัณฑ์แบบยั่งยืน
ทั้งนี้ BLACKPINK ไม่ใช่แค่ศิลปินที่มีผลงานระดับโลก แต่ยังสวมบทบาท “Green Ambassador” ที่ทรงพลัง โดยเฉพาะ จีซู และ โรเซ่ ที่มักส่งเสียงผ่านโซเชียลมีเดียสนับสนุนประเด็นโลกร้อน, การใช้แฟชั่นรักษ์โลก ไปจนถึงแคมเปญวัน Earth Day การมี BLACKPINK WATER ในคอนเสิร์ตครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่ ‘ของที่ระลึก’ แต่คือการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ ว่าความยั่งยืนควรเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ ที่จับต้องได้
- บูธรีไซเคิลในงาน BLACKPINK: เล็กแต่ทรงพลัง
นอกจากนี้ ในคอนเสิร์ตที่โกยาง กลุ่มเต็ดตรา แพ้คยังตั้งบูธ “Be a BLINK, Make the Right Move” เพื่อสอนการรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม และวางจุดทิ้งกล่องรีไซเคิลไว้ถึง 21 จุดทั่วงาน เปลี่ยนกล่องน้ำที่เคยทิ้งเปล่า ๆ ให้กลายเป็นกระดาษทิชชู่ได้จริง
- เมื่อความบันเทิงกลายเป็นภาระของโลก
อย่างไรก็ตาม เสียงดนตรี แสงไฟ และความตื่นเต้นจากแฟนคลับหลายหมื่นคนคือภาพจำของคอนเสิร์ตยักษ์ทั่วโลก แต่เบื้องหลังความสุขแบบชั่วข้ามคืน เหล่านี้กลับหลงเหลือ “รอยเท้าคาร์บอน” ที่ยากลบเลือน
- คอนเสิร์ตหนึ่งรอบ = คาร์บอนหลายแสนตัน
งานวิจัยจาก Tyndall Centre for Climate Research ระบุว่า อุตสาหกรรมคอนเสิร์ตและโชว์สดทั่วโลกก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 405,000 ตัน/ปี โดยต้นตอหลักมาจากแหล่งพลังงาน ระบบแสง-เสียง การเดินทางของผู้ชม และขยะมหาศาล
ลองนึกถึงเทศกาลระดับโลกอย่าง Glastonbury ที่มีผู้ร่วมงานเกิน 200,000 คน สร้างขยะกว่า 2,000 ตัน ภายในไม่กี่วัน หรือ Coachella ที่แม้จะเป็นสัญลักษณ์ของความมันในแคลิฟอร์เนีย แต่ก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “เทศกาลที่สร้างมลพิษมากที่สุดในโลก” ด้วยขยะกว่า 1,600 ตัน/ปี และรีไซเคิลได้เพียง 20%
ปัญหาใหญ่ของคอนเสิร์ตไม่ใช่แค่ขยะ แต่คือ การเดินทางมากถึง 70% ของมลพิษจากงานดนตรีในอังกฤษ มาจากการเดินทางของผู้ชม
- Coldplay ต้นแบบนำร่องทัวร์ยั่งยืน
ในขณะที่บางศิลปินยังสับสนว่า “คอนเสิร์ตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ต้องหน้าตาแบบไหน วงดนตรีอังกฤษอย่าง Coldplay กลับพิสูจน์ว่าเรื่องนี้ ทำได้จริง โดยเป็นกลุ่มศิลปินแรก ๆ ที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมระหว่างทัวร์ทั่วโลก
ทัวร์ “Music of the Spheres” ของพวกเขามีเป้าหมายลดคาร์บอนลง 50% จากทัวร์ครั้งก่อน
ไม่ใช้พลาสติก ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ติดตั้งพื้นเวทีที่เปลี่ยนแรงสั่นของแฟนคลับเป็นพลังงานไฟฟ้า และใช้เสื้อผ้าที่ผลิตจากขวดรีไซเคิล
ไม่ใช่แค่วิสัยทัศน์ แต่ยังโปร่งใสผ่าน “รายงานความยั่งยืน” ที่จัดทำร่วมกับนักวิจัยจาก MIT วัดผลกระทบในทุกมิติ และรายงานสู่สาธารณะ
กรณีของ Taylor Swift ในทัวร์ The Eras Tour ทั่ว 5 ทวีป ในปีก่อน ก็ถูกจับตาในมิติด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน แค่ในปีเดียว (2024) การเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตของเธอเพียงลำเดียวปล่อย CO₂ มากกว่า 511,000 กิโลกรัม เทียบเท่ารถยนต์ใช้น้ำมัน 122 คันตลอดทั้งปี
ยังไม่นับรวมการขนส่งเวที อุปกรณ์ แฟนคลับที่บินข้ามทวีป รวมถึงของที่ระลึกพลาสติกใช้ครั้งเดียว เช่น สายรัดข้อมือ LED
แม้ทีมงานจะพยายามชดเชยผ่านการซื้อเครดิตคาร์บอนเกินสองเท่า แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ไม่ใช่เครดิตคาร์บอนทุกประเภทจะมีคุณภาพเท่ากัน หลายโครงการเป็นเพียงตัวเลขบนกระดาษโดยไร้ผลจริงในโลกธรรมชาติ
ทั้งนี้ แฟน ๆ ที่เคยไปงานคอนเสิร์ต คงคุ้นตากับ “กองขยะ” ที่ก่อตัวหลังเวทีจบ แต่แนวคิดเล็ก ๆ แบบนี้ กำลังเปลี่ยนโลกของอีเวนต์ให้ยั่งยืนขึ้นทีละก้าว
Source : https://sustainabilitymag.com/articles/the-environmental-impact-of-taylor-swifts-eras-tour
https://impakter.com/how-sustainable-is-coachella/