'เวิลด์แบงก์' มองจีดีพีไทยปี 2025 โต 1.8% จากเทรดวอร์กดดันส่งออก
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้านทั้งปัจจัยภายใน และภายนอกจนทำให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาชะลอตัวลงอย่างมาก
ล่าสุด (3 ก.ค.68) ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ออกรายงาน Thailand Economic Monitor ซึ่งปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2025 ลงเหลือ 1.8% และปีหน้าลงเหลือ 1.7% เนื่องจากหลายปัจจัยแต่ที่เด่นที่สุดคือ “ผลกระทบจากสงครามการค้า”
รายงานระบุว่า ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ได้รวมอยู่ในประมาณการช่วงเดือนก.พ. จากรายงาน Thailand Economic Monitor ที่ตอนนั้นคาดการณ์ว่าจีดีพีจะโตได้สูงถึง 2.9% แต่ความไม่แน่นอนดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากในปัจจุบันจนทำให้เกิดความไม่แน่นอนทั่วโลก ซึ่งกระทบต่อการส่งออกโดยตรง และชะลอการลงทุนภายในประเทศ
ทั้งนี้ รายงาน Ease Asia and Pecific Update ของธนาคารโลก ซึ่งเป็นรายงานฉบับปรับปรุงที่รายงานออกมาในเดือนเม.ย. ระหว่างการประชุม IMF-World Bank Spring Meeting รายงานฉบับปรับปรุงนี้ ปรับคาดการณ์จีดีพีไทยทั้งปี 2025 อยู่ที่ 1.6%
ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส จากเวิลด์แบงก์ ให้สัมภาษณ์พิเศษในรายการกรุงเทพธุรกิจ Deeptalk ว่า ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าจะทำให้การส่งออกช่วงที่เหลือของปีชะลอตัวซึ่งแม้ว่าในไตรมาสที่หนึ่งตัวเลขการส่งออกจะดูดี แต่ก็เป็นเพราะเป็นการเร่งการส่งออกในช่วงการชะลอภาษี 90 วันของโดนัลด์ ทรัมป์ หรือ Front-loading ซึ่งเมื่อหักล้างกับช่วงที่เหลือของปีแล้วก็คาดว่าจะทำให้จีดีพีโตได้แค่ 1.8% ตามรายงาน
อีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันการเติบโตของปีนี้เช่นเดียวกัน ดร.เกียรติพงศ์ กล่าวว่า คือ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงอย่างน่าเป็นห่วง ต่ำกว่าระดับก่อนโควิด-19 เนื่องจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยในประเทศไทย ทำให้นักท่องเที่ยวจีนย้ายไปประเทศอื่นในเอเชีย
เงินเฟ้อไทยต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ธปท.
สำหรับทิศทางราคาสินค้า และบริการ เวิลด์แบงก์มองว่า แนวโน้ม “เงินเฟ้อของไทย” มีความน่าสนใจมาก เนื่องจากบางช่วงเวลาติดลบ และใกล้เคียงกับ 0% โดยอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
สาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อต่ำนี้ สะท้อนจาก 2 ปัจจัยหลัก ดังนี้ :
- อุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ : เวิลด์แบงก์ ชี้ว่านี่เป็นสิ่งที่เห็นมานานแล้ว และปัจจุบันยิ่งชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคที่ได้รับผลกระทบจาก ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเปรียบเสมือน "กรรมเก่า" ที่ไทยต้องชดใช้ และส่งผลต่อการบริโภคที่ลดลง
- นโยบายการตรึงราคา : ประเทศไทยมีนโยบายตรึงราคาสินค้า และบริการบางประเภท เช่น ค่าไฟฟ้า ส่งผลให้ราคาของสินค้าหลายหมวดไม่ค่อยมีการขยับ ซึ่งทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำ
“แม้เงินเฟ้อจะต่ำ แต่ ณ ปัจจุบันเงินเฟ้อไทยยังไม่ได้อยู่ในภาวะเงินฝืด (deflation) ซึ่งหมายถึง การปรับลดลงของราคาในทุกหมวดหมู่สินค้าในวงกว้าง โดยมองว่าการลดลงของราคาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน” ดร.เกียรติพงศ์ กล่าว
'แบงก์ชาติ' มองเศรษฐกิจไทยดีกว่า 'เวิลด์แบงก์'
มากไปกว่านั้น ก่อนหน้านี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ธปท.ได้ปรับประมาณการจีดีพีไทยในปี 2025 ขึ้นเป็น 2.3% จากตัวเลขการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ที่สดใสตามคาด และตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ในไตรมาส 2 ที่เริ่มออกมา ดังนั้นเมื่อถามว่าทำไมเวิลด์แบงก์ และ ธปท. มองแนวโน้มจีดีพีปี 2025 แตกต่างกันค่อนข้างมาก
ในประเด็นนี้ ดร.เกียรติพงศ์ กล่าวว่า “ธปท. อ้างอิงตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกที่ออกมาดีกว่าคาด แต่ทางธนาคารโลกมองว่าการที่จีดีพีในไตรมาส 1 ดูดีนั้นมาจากปัจจัยชั่วคราว คือ เรื่องการส่งออกที่เร่งตัว แต่คาดว่าการส่งออกจะชะลอตัวลงในครึ่งหลังของปีนี้”
ปัญหาเชิงโครงสร้าง '3 เนิน' เศรษฐกิจไทย
นอกจากปัญหาระยะสั้นจากสงครามการค้าแล้ว เมื่อถามถึง “ภาพรวมปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย” ว่ามีอะไรบ้างและเปรียบเสมือนอะไร นักเศรษฐศาสตร์จากเวิลด์แบงก์ผู้นี้ระบุว่า ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยเปรียบเสมือน “เนิน” ที่มีอยู่ทั้งหมด 3 ประการ ประกอบด้วย
1. สังคมสูงอายุ : จำนวนประชากรวัยแรงงานลดลง ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยากขึ้น
2. ทุนมนุษย์ และทักษะ (Digital Skill) : การขาดแคลนทักษะดิจิทัล และการศึกษาที่ยังไม่ตอบสนองต่อเศรษฐกิจดิจิทัล แม้ไทยมีการรับรองหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมสูง แต่ยังขาดแคลนคนที่มีทักษะในการควบคุม และบริหารจัดการ
3. นโยบายการคลัง : การบริหารจัดการงบประมาณ การจัดสรรการใช้จ่าย และการจัดเก็บรายได้ เพื่อลงทุนในอนาคตของประเทศโดยไม่สร้างภาระหนี้ที่เกินตัวให้กับคนรุ่นหลัง
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์