‘กองทัพไทย’ เปิดเผยบันทึกเหตุการณ์การปะทะบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา วันที่ 27 ก.ค. 68
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยบันทึกเหตุการณ์การปะทะบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา ในวันที่ 27 ก.ค. 2568 ตามรายงานจากศูนย์ปฏิบัติการ กองทัพภาคที่ 2 ได้สรุปสถานการณ์การสู้รบตามแนวชายแดนไทย–กัมพูชา ซึ่งพบว่ามีการปฏิบัติการในพื้นที่สำคัญจำนวน 7 แห่ง ซึ่งลดลงจากวันแรก 3 แห่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้ พื้นที่ช่องบก ทั้ง 2 ฝ่ายยังคงตรึงกำลังต่อเนื่อง โดยมีกระแสข่าวว่าฝ่ายกัมพูชาส่งกำลังเข้าสนับสนุนพื้นที่ภูมะเขือและช่องอานม้า ฝ่ายไทยยังสามารถควบคุมพื้นที่ได้ตามเส้นปฏิบัติการ 1:50,000 ขณะที่กัมพูชาเคลื่อนกำลังไปทางทิศใต้
พื้นที่ ภูผี–ปราสาทโดนตวล และช่องตาเฒ่า มีการตรึงกำลังยังคงดำเนินต่อไป คาดว่าฝ่ายกัมพูชาน่าจะสูญเสียอย่างหนัก โดยเฉพาะการเสียชีวิตของผู้บัญชาการกองพลที่รับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าว และพื้นที่หน้าเขาพระวิหาร ยังคงมีการสู้รบ โดยกัมพูชาใช้อาวุธหลักคือพลซุ่มยิงจากบริเวณปราสาทพระวิหารเพื่อมุ่งเป้าทำร้ายกำลังพลไทย ขณะที่ฝ่ายไทยยังคงควบคุมพื้นที่ภูมะเขือตามแผนที่ปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง
พื้นที่ช่องจอม ฝ่ายกัมพูชาใช้อาวุธยิงสนับสนุนโจมตีบ้านเรือนประชาชนไทย พร้อมกันนี้มีความพยายามส่งรถถังขึ้นพื้นที่ช่องกร่าง ห่างจากปราสาทตาควายประมาณ 2 กม. และพื้นที่ปราสาทตาเมือนธม กัมพูชาปรับขบวนเข้าตีจากทิศตะวันออกตลอดทั้งวัน ฝ่ายไทยจึงถอยร่นและใช้ปืนใหญ่โต้กลับ จนกัมพูชาต้องถอนกำลัง
ทั้งนี้ เหตุการณ์สำคัญของวันที่ 27 ก.ค. 2568 เมื่อเวลา 06.30 น. กัมพูชายิงจรวดจากสนามบินกรุงสำโรง 4 นัด ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนไทยเสียหาย 2 หลัง และสัตว์เลี้ยงตาย 5 ตัว โดยฝ่ายไทยสามารถควบคุมพื้นที่ ช่องอานม้า อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ได้ตามแนวเส้นปฏิบัติการ 1:50,000 ขณะที่ฝ่ายกัมพูชายังพยายามรุกในหลายจุด เช่น ช่องตาเฒ่า, เขาพระวิหาร, ภูมะเขือ, ช่องจอม, ปราสาทตาควาย และปราสาทตาเมือน
การปฏิบัติของฝ่ายกัมพูชานั้น ใช้อาวุธอย่างไม่มีรูปแบบ ไม่เป็นไปตามกฎการปะทะ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ส่วนสถานการณ์ยังคงตึงเครียดอย่างสูง และคาดว่ากัมพูชาอาจเตรียมปฏิบัติการครั้งใหญ่ก่อนเข้าสู่การเจรจา และเหตุสลดล่าสุด กัมพูชายิงจรวด BM-21 ตกในพื้นที่ ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเหตุให้บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บอีก 1 ราย โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้ให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และนำตัวส่ง รพ.ศรีสะเกษ เพื่อเข้ารับการรักษาแล้ว
ส่วนสถานการณ์ผู้ได้รับผลกระทบนั้น 1.พลเรือน เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บสาหัส 12 ราย บาดเจ็บปานกลาง 12 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 13 ราย รวมทั้งสิ้น 51 ราย 2.ทหาร เสียชีวิต 8 นาย บาดเจ็บ 103 นายรวมทั้งสิ้น 111 นายด้านการอพยพประชาชน มีการอพยพประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงเข้าสู่ศูนย์พักพิงใน 7 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 139,646 คน เพิ่มขึ้น 3,720 คน ดังนี้ อุบลราชธานี 16,816 คน ศรีสะเกษ 62,691 คน สุรินทร์ 39,104 คน บุรีรัมย์ 10,755 คน สระแก้ว 4,076 คน จันทบุรี 450 คน ตราด 5,754 คน
ด้านภารกิจช่วยเหลือประชาชน โดย จิตอาสาพระราชทานใน 4 จังหวัดหลัก รวม จิตอาสา 904 147 นาย จิตอาสาประชาชน 2,480 คน รด.จิตอาสา 220 นาย โรงครัวพระราชทาน 7 แห่ง และรถครัว 9 คัน ผลิตข้าวกล่องแจกจ่ายรวม 125,100 กล่อง ในระหว่างวันที่ 24–26 ก.ค. 2568
กองทัพไทยขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากการที่ฝ่ายกัมพูชารุกล้ำอธิปไตยของไทย และขอประณามการใช้อาวุธโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย อันเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและหลักมนุษยธรรมขั้นพื้นฐาน และขอความร่วมมือประชาชนและสื่อมวลชน งดเผยแพร่ภาพผู้เสียชีวิตของฝ่ายตรงข้าม และงดเปิดเผยข้อมูลทางทหาร เพื่อความมั่นคงของชาติร่วมกัน กองทัพไทยขอยืนยันว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งและเสียสละ เพื่อ ปกป้องอธิปไตยของชาติ และความปลอดภัยของประชาชนชาวไทย อย่างถึงที่สุด