“ประธานอาเซียน” เตือน “ภาษี” กลายเป็นอาวุธทางภูมิรัฐศาสตร์ วิจารณ์สหรัฐใช้กดดันประเทศอื่น
“ประธานอาเซียน” เตือน "ภาษี" ข้อจำกัดส่งออกกลายเป็นเครื่องมือแบ่งขั้วโลก ไม่ใช่เครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจอีกต่อไป ท่ามกลางแรงกดดันจากภาษีชุดใหม่ของทรัมป์ที่เล่นงานอาเซียน 6 ประเทศ
วันที่ 9 กรกฎาคม 2568 เวลา 11.03 น. สำนักข่าว Nikkie Asia รายงานว่า อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เตือนว่าขณะนี้ภาษีกำลังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกดดัน โดดเดี่ยว และควบคุม ประเทศอื่น ๆ โดยกล่าวถ้อยแถลงนี้ในการเปิดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ซึ่งคาดว่านโยบายการค้าของสหรัฐจะกลายเป็นประเด็นสำคัญในการหารือ
อันวาร์กล่าวระหว่างพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ว่า “ทั่วโลก เครื่องมือที่เคยใช้เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ บัดนี้กลับถูกใช้เพื่อกดดัน โดดเดี่ยว และจำกัดประเทศอื่น …ภาษี การจำกัดการส่งออก และอุปสรรคด้านการลงทุน กลายเป็นอาวุธที่คมกริบของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์”
อันวาร์ยังเตือนผู้นำอาเซียนให้เผชิญหน้ากับความจริงดังกล่าวด้วยความชัดเจนและความมุ่งมั่น พร้อมเน้นว่าความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนต้องไม่หยุดอยู่แค่ถ้อยแถลงเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศชุดอัตราภาษีใหม่ที่กระทบประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ ภาษี 40% สำหรับสินค้าจากเมียนมาและลาว, 36% สำหรับไทยและกัมพูชา, 32% สำหรับอินโดนีเซีย และ 25% สำหรับมาเลเซีย
ในปีนี้ มาเลเซียดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนของอาเซียน การประชุมในสัปดาห์นี้ประกอบด้วยการประชุมภายในของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และตามด้วยการประชุมกับประเทศคู่เจรจาสำคัญ เช่น สหรัฐฯ จีน รัสเซีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และอินเดีย
ร่างถ้อยแถลงร่วมของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ซึ่ง Nikkei Asia ได้ตรวจสอบระบุว่าการดำเนินมาตรการภาษีฝ่ายเดียว เป็นผลเสียและเสี่ยงต่อการซ้ำเติมการแบ่งแยกเศรษฐกิจโลก และก่อให้เกิดความท้าทายที่ซับซ้อนต่อเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน
ด้าน อาจารย์คู หยิง ฮุ่ย รองศาสตราจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยมาลายา ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia ว่า การประกาศภาษีของทรัมป์ครั้งล่าสุด มีเจตนาเพื่อแสดงความแข็งแกร่งและฟื้นฟูแนวคิดอเมริกาต้องมาก่อน (America First) แม้จะต้องโจมตีพันธมิตรอย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ก็ตาม
“เรื่องนี้ดูเหมือนจะเน้นสัญลักษณ์ทางการเมืองมากกว่ากลยุทธ์ เพื่อแสดงให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นว่าเขาเด็ดขาดเรื่องการค้า ไม่ว่าคู่ค้าจะเป็นใคร”
คูยังกล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เริ่มดำเนินการกระจายตลาด ส่งเสริมการรวมกลุ่มในภูมิภาค และลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่ง พร้อมเสริมว่าการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South–South trade) กำลังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และความเคลื่อนไหวเหล่านี้ “มีแนวโน้มจะเร่งตัวและลึกซึ้งยิ่งขึ้น”
ในสุนทรพจน์ของเขา อันวาร์ย้ำว่า ความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN centrality) ต้องได้รับการคงไว้ พร้อมเน้นว่าอาเซียนต้องเป็นศูนย์กลางของการเจรจาท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก
“ระเบียบโลกกำลังสั่นคลอน ..ความขัดแย้ง การบีบบังคับ และความไม่ไว้วางใจกำลังกลายเป็นนิยามของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจำนวนมาก และมีผู้คนจำนวนมากต้องสูญเสียหรือพลิกผันชีวิตจากผลของสิ่งเหล่านี้”
อ้างอิง : asia.nikkei.com