โรงแรมชิงเปิดโปร ‘ราคาคนไทย’ เลิกหวังยอด ‘เที่ยวไทยคนละครึ่ง’
“เที่ยวไทยคนละครึ่ง” ยอดผู้ใช้สิทธิอืด ระบบลงทะเบียนไม่เสถียร เกิดปัญหาใหม่ทุกวัน โรงแรมหลายแห่งปิดระบบจอง หวั่นมีปัญหาขั้นตอนเบิกเงินสนับสนุนจากรัฐ ได้ไม่คุ้มเสีย ล่าสุดรอไม่ไหวเตรียมอัดแคมเปญ “ราคาคนไทย” หนุนอีกแรง ชี้ลูกค้าส่วนใหญ่นิยมจองห้องพักผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เชื่อถูกและสะดวกกว่า ททท.เผยสิทธิคงเหลือ 3 แสนสิทธิ “ชลบุรี-ประจวบฯ-เพชรบุรี” ขึ้นแท่นปลายทางยอดนิยม “สรวงศ์ เทียนทอง” รมว.การท่องเที่ยวฯ จ่อกระตุ้นต่ออีก 6 โครงการใหญ่
แหล่งข่าวในผู้ประกอบการโรงแรมรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศผ่านโครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” ของรัฐบาลในช่วงโลว์ซีซั่น (กรกฎาคม-ตุลาคม 2568) และเริ่มต้นโครงการเมื่อ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นความหวังและเป็นปัจจัยบวกที่ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวของไทยเฝ้ารอ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่ได้รับอานิสงส์โดยตรง
แต่หลังจากเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนผ่านไป 20 วัน (ณ 20 กรกฎาคม 2568) พบว่าผลตอบรับของโครงการดังกล่าวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และมีจำนวนผู้ประสงค์ใช้สิทธิในอัตราที่ช้ามากเมื่อเทียบกับโครงการเราเที่ยวด้วยกันทั้ง 5 เฟสที่ผ่านมา
โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าประเด็นปัญหาที่ทำให้จำนวนผู้ใช้สิทธิผ่านโครงการเดินช้านั้น เป็นผลจากความยุ่งยากของระบบการจองที่เกิดปัญหาตั้งแต่วันแรกที่เปิดจอง และแม้ว่าจะแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง แต่นักท่องเที่ยวที่มีความต้องการออกเดินทางและจองโรงแรมยังมีความซับซ้อนยุ่งยาก ไม่สามารถจองห้องพักได้ รวมถึงความไม่สะดวกเรื่องการชำระเงินที่ต้องจ่ายเป็นเงินสดเท่านั้น ไม่สามารถชำระผ่านบัตรเครดิตได้
ระบบไม่เสถียรหวั่นปัญหาเบิกเงิน
สอดรับกับ นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ที่กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ระบบการลงทะเบียนและการจองใช้สิทธิของประชาชนยังไม่มีความเสถียร และมีปัญหาจุกจิกระหว่างทาง ทำให้โรงแรมจำนวนมากเปลี่ยนใจปิดระบบการจองห้องพักไว้ก่อน เพื่อรอให้ระบบมีความเสถียรมากขึ้น เนื่องจากกังวลว่าหากเปิดให้ลูกค้าจองเข้าพักในระหว่างที่ระบบยังมีปัญหา อาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าในขั้นตอนการขอรับเงินสนับสนุนจำนวน 50% หรือ 40% (ตามเงื่อนไข) จากรัฐบาล
“ที่ผ่านมาโรงแรมยังเจอปัญหาใหม่ ๆ ทุกวัน ทั้งเงื่อนไขการร่วม ขั้นตอนการจองสิทธิ การชำระเงิน ฯลฯ ซึ่ง ททท.ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มไม่มั่นใจว่าวิธีการที่ได้จองสิทธิให้ลูกค้าไปแล้วนั้น สุดท้ายแล้วเขาจะสามารถเบิกเงินได้หรือไม่ บางครั้งการเปลี่ยนเงื่อนไขระหว่างทางทำให้โรงแรมต้องตามไปแก้ปัญหาเก่า ฯลฯ ตอนนี้มีโรงแรมจำนวนหนึ่งขอปิดระบบไปก่อน เพราะหากเกิดปัญหาการเบิกจ่ายเงินสนับสนุนจะได้ไม่คุ้มเสีย และกลายเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ” นายเทียนประสิทธิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับสมาคมโรงแรมไทยมองว่าโครงการดังกล่าวมีงบประมาณที่น้อยเกินไป เฉลี่ยต่อเดือนแค่หลัก 300-400 ล้านบาท จึงไม่ส่งผลต่อการกระตุ้นการเดินทาง หรือการเพิ่มอัตราการเข้าพักของโรงแรมได้อย่างมีนัยสำคัญ
อัดโปรฯ “ราคาคนไทย” หนุนอีกแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสอบถามกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมหลายแห่งในพื้นที่เมืองพัทยา (ชลบุรี) ระยอง สมุย (สุราษฎร์ธานี) และเขาใหญ่ (นครราชสีมา) ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งเผยว่า จนถึงขณะนี้ยังมีจำนวนผู้เข้ามาใช้สิทธิผ่านโครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” ไม่มากนัก ทำให้มีโรงแรมจำนวนหนึ่งเตรียมออกแคมเปญ “ราคาคนไทย” ออกมากระตุ้นการเดินทางของคนไทยในช่วงโลว์ซีซั่นนี้อีกแรง เพื่อให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซั่นนี้มีสีสันมากยิ่งขึ้น
ผู้บริหารโรงแรมในจังหวัดสุราษฎร์ธานีรายหนึ่งกล่าวว่า ปกติทางโรงแรมทำการตลาดในทุกช่องทางการขายอยู่แล้ว แต่ก็คิดว่าน่าจะได้ลูกค้าจากโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่งเข้ามาบ้าง เพราะทำราคาลงมาค่อนข้างมาก แต่ผลตอบรับยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง จึงมีแผนทำโปรโมชั่นสำหรับคนไทย ซึ่งราคาอาจสูงกว่าการใช้สิทธิผ่านโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่งเล็กน้อย แต่คาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาเติมได้เพิ่มขึ้น เพราะพฤติกรรมลูกค้าในวันนี้ชอบความสะดวก
“ตอนนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทุกเซ็กเตอร์อยู่ระหว่างการเตรียมแคมเปญกระตุ้นสำหรับในช่วงไฮซีซั่น เพื่อขายในงาน “ไทยเที่ยวไทย” ครั้งที่ 75 ระหว่างวันที่ 21-24 สิงหาคม 2568 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” แหล่งข่าวกล่าว
ลูกค้าส่วนใหญ่จองผ่านแอป
นอกจากนี้ โรงแรมหลายรายในพื้นที่เมืองพัทยา (ชลบุรี) ระยอง สมุย (สุราษฎร์ธานี) และเขาใหญ่ (นครราชสีมา) กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ลูกค้าที่จองเข้าพักเข้ามาในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มาจากการจองผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ มากกว่าการใช้สิทธิจากโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐอย่าง “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” หรือโครงการอื่นในลักษณะเดียวกัน
โดยผู้ประกอบการโรงแรมในย่านหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รายหนึ่งกล่าวว่า ลูกค้า 70-80% มาจากแอปพลิเคชั่นจองโรงแรมโดยตรง ทั้ง Agoda, Booking.com ฯลฯ เนื่องจากราคาโปรโมชั่นที่ขายผ่านช่องทางแอปพลิเคชั่นจองโรงแรมดังกล่าวถูกกว่าเมื่อจองผ่านการใช้สิทธิจากโครงการของรัฐ
“ราคาจองผ่านโครงการของรัฐอาจสูงกว่าราคาที่ลูกค้าเห็นในแอปทั่วไปหลักหลายร้อยบาทต่อคืน ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่เลือกวิธีที่สะดวกและประหยัดมากกว่า แม้จะไม่ได้รับคูปองสนับสนุนการท่องเที่ยว 500 บาทก็ตาม ซึ่งเราเองก็เน้นขายผ่านหลายช่องหลากหลาย รวมถึงแพลตฟอร์มการขายออนไลน์ต่าง ๆ ด้วย”
แหล่งข่าวรายนี้กล่าวด้วยว่า ปรากฏการณ์นี้สะท้อนถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า และความสะดวกสบายเป็นหลัก ซึ่งแนวโน้มนี้ภาครัฐน่าจะนำไปพิจารณาปรับกลไก หรือแนวทางของโครงการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้นในอนาคต
“ชลบุรี-ประจวบฯ-เพชรบุรี” ฮิต
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2568 (เวลา 09.00 น.) มีจำนวนนักท่องเที่ยวลงทะเบียนสำเร็จแล้ว 1,861,314 ล้านคน ใช้สิทธิไปแล้ว 193,797 สิทธิ มีสิทธิคงเหลือ 306,203 สิทธิ มีโรงแรม-ที่พักเข้าร่วม 3,522 ราย ร้านอาหาร 2,428 ราย แหล่งท่องเที่ยว 90 ราย สปา-บริการสุขภาพ 117 ราย โอท็อป 116 ราย และรถเช่า-เรือเช่า 52 ราย
หากจำแนกเป็นเมืองหลัก-เมืองรอง พบว่าในจำนวนสิทธิที่ใช้ไปแล้ว 193,797 สิทธินั้น แบ่งเป็นเมืองหลักจำนวนใช้สิทธิสำเร็จแล้ว 134,429 สิทธิ มีสิทธิคงเหลือ 165,571 สิทธิ ส่วนเมืองรองมีจำนวนสิทธิที่ใช้สำเร็จแล้ว 59,368 สิทธิ มีสิทธิคงเหลือ 140,632 สิทธิ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้จะมีจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิสำเร็จแล้วราว 2.5 แสนสิทธิ หรือในสัดส่วน 50% ของจำนวนสิทธิทั้งหมด 5 แสนสิทธิ
สำหรับจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมสูงสุด 10 อันดับแรกของผู้ร่วมโครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” คือ ชลบุรี รองลงมาคือ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี นครราชสีมา กาญจนบุรี กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ระยอง จันทบุรี และตราด
สิทธิเหลืออีก 50% รีบมาใช้
ด้านนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า โครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของรัฐบาล ภายใต้วงเงินรวมกว่า 10,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลจัดสรรเพื่อส่งเสริมการเดินทางภายในประเทศนั้นขณะนี้ยังเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใช้งาน โดยยังเหลือสิทธิประมาณ 50% จากโควตาที่กำหนดไว้ 500,000 สิทธิ
“อยากให้พี่น้องประชาชนรีบมาใช้สิทธิ เพราะเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ออกเที่ยวในราคาประหยัด สนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยในช่วงครึ่งปีหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายสรวงศ์กล่าวและว่า สำหรับกระทรวงการท่องเที่ยวฯนั้นได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการใช้สิทธิ โดยคาดว่าจะสามารถกระตุ้นการเดินทางและการใช้จ่ายภายในประเทศได้ในวงกว้าง
อัดต่ออีก 6 โครงการใหญ่
นายสรวงศ์กล่าวด้วยว่า นอกจากโครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” แล้ว ตามแผนกระตุ้นท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังนั้นยังมีอีก 6 โครงการ ภายใต้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรวงเงินแล้วจำนวน 3,960 ล้านบาท ซึ่งจะนำเสนอเข้าสำนักงบประมาณเพื่ออนุมัติงบประมาณใช้จริงอีกครั้ง ประกอบด้วย 1.ไทยแลนด์ ซัมเมอร์ บลาสต์-ไชน่า แอนด์ โอเวอร์ซีส์ มาร์เก็ต สติมูลัส แพลน (Thailand Summer Blast – China & Overseas Market Stimulus Plan) ใช้งบประมาณ 750 ล้านบาท
2.การทำตลาดการท่องเที่ยวไทยร่วมกับแพลตฟอร์มจองออนไลน์ หรือ OTA ในการเสนอขายสินค้าและบริการท่องเที่ยวไทยปี 2568 งบประมาณ 800 ล้านบาท 3.สร้างภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นประเทศไทยเพื่อการท่องเที่ยวร่วมกับบุคคลที่มีชื่อเสียง งบประมาณ 300 ล้านบาท 4.แผนงานประชาสัมพันธ์กระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยปี 2568 งบประมาณ 120 ล้านบาท
5.ประชาสัมพันธ์สร้างกระแสการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพ งบประมาณ 80 ล้านบาท และ 6.โครงการกระตุ้นการกระจายตัวเดินทางท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว เชียงใหม่-ลำพูน (Night Market) งบประมาณ 150 ล้านบาท
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : โรงแรมชิงเปิดโปร ‘ราคาคนไทย’ เลิกหวังยอด ‘เที่ยวไทยคนละครึ่ง’
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net