ทรัมป์ขู่เก็บภาษีเพิ่ม 10% จากประเทศที่เข้าร่วมกลุ่ม BRICS ชี้ต่อต้านนโยบายสหรัฐฯ
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มอีก 10% จากประเทศใดก็ตามที่เลือกเข้าร่วมกับกลุ่มประเทศ BRICS ที่เขามองว่ามีนโยบาย “ต่อต้านสหรัฐฯ” ท่ามกลางการประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS ที่เปิดฉากขึ้นในกรุงริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อวานนี้ (6 กรกฎาคม)
โดยทรัมป์โพสต์ผ่าน Truth Social พร้อมระบุว่า “ประเทศใดก็ตามที่สอดคล้องกับนโยบายต่อต้านสหรัฐฯ ของ BRICS จะถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มอีก 10% โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ”
ด้าน ลูอีซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิลกล่าวเปิดประชุม BRICS ว่า “BRICS คือทายาทของขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” พร้อมชี้ว่าในยุคที่พหุภาคีนิยม (multilateralism) ถูกโจมตี การธำรงอธิปไตยของประเทศกำลังถูกท้าทายอีกครั้ง
ขณะที่ ในแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ BRICS ที่ออกมาในช่วงบ่ายวานนี้ ผู้นำแสดงความกังวลว่าการเพิ่มภาษีในเวทีการค้าจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโลก โดยถือเป็นการวิพากษ์ทรัมป์โดยปริยาย
BRICS โตต่อเนื่อง ดึงประเทศใหม่เสริมอิทธิพล
กลุ่ม BRICS ซึ่งเริ่มต้นจาก บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ในปี 2009 ปัจจุบันได้ขยายสมาชิกเพิ่มเป็น แอฟริกาใต้ อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ เอธิโอเปีย และอินโดนีเซีย โดยปีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีผู้นำอินโดนีเซียเข้าร่วมประชุมสุดยอดของกลุ่ม
โดยประธานาธิบดีลูลาระบุว่า กลุ่มนี้ปัจจุบันเป็นตัวแทนของประชากรโลกมากกว่าครึ่ง และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ราว 40% ของโลก พร้อมเสนอให้ BRICS มีบทบาทผลักดันการปฏิรูปองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ และ IMF เพื่อให้สะท้อนระเบียบโลกยุคพหุขั้ว
แม้มีการขยายตัวและเสียงสนับสนุนจากประเทศกำลังพัฒนาใน Global South แต่กลุ่ม BRICS ก็ยังเผชิญคำถามเกี่ยวกับเป้าหมายร่วมกันที่ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อต้องประคับประคองสมาชิกที่มีความขัดแย้งกันเองในบางภูมิภาค
อย่างในแถลงการณ์ร่วม กลุ่ม BRICS ระบุว่า การโจมตีโครงสร้างพื้นฐานพลเรือนและโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเป็น “การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ” และแสดงความกังวลต่อชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์จากปฏิบัติการโจมตีของอิสราเอลในฉนวนกาซา
นอกจากนี้ ผู้นำยังประณามการโจมตีที่เกิดขึ้นในแคชเมียร์ (ฝั่งอินเดียควบคุม) ว่าเป็น “การก่อการร้าย” พร้อมสนับสนุนให้อิหร่านและเอธิโอเปียเข้าเป็นสมาชิก WTO และเร่งรัดการปฏิรูประบบการระงับข้อพิพาททางการค้า
อีกทั้งผู้นำ BRICS ยังสนับสนุนการจัดตั้งโครงการ “BRICS Multilateral Guarantees” ภายใต้ธนาคารเพื่อการพัฒนาของกลุ่ม เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินและส่งเสริมการลงทุนระหว่างสมาชิก
ทรัมป์เดินหน้ากีดกัน ขัดแย้งกับท่าทีด้านสภาพภูมิอากาศของ BRICS
แม้ทรัมป์จะหยุดชะลอหลายโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ แต่บราซิลกลับใช้เวที BRICS และการเป็นเจ้าภาพประชุม COP ของ UN ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เพื่อแสดงจุดยืนว่า โลกกำลังพัฒนามีความตั้งใจจริงต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ด้านจีนและ UAE แสดงเจตจำนงลงทุนใน “Tropical Forests Forever Facility” ซึ่งเป็นกองทุนเพื่ออนุรักษ์ป่าฝนเขตร้อน โดยได้หารือกับ เฟอร์นันโด ฮัดดัด รัฐมนตรีคลังบราซิลในระหว่างการประชุม
ท่าทีของทรัมป์ยังไม่ชัดเจนว่า ‘ต่อต้านสหรัฐฯ’ คืออะไร
แม้ทรัมป์จะประกาศเก็บภาษีเพิ่ม 10% ต่อประเทศที่ “สอดคล้องกับนโยบายต่อต้านสหรัฐฯ” ของ BRICS แต่เขายังไม่ได้ระบุชัดว่าหมายถึงนโยบายหรือการกระทำลักษณะใด ซึ่งสร้างความกังวลต่อประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วม BRICS กว่า 30 ประเทศทั่วโลก
ขณะเดียวกัน ทำเนียบขาวของทรัมป์กำลังเร่งเจรจาการค้ากับประเทศต่าง ๆ ก่อนจะถึงเส้นตายวันที่ 9 กรกฎาคม ซึ่งจะเป็นวันที่มีผลบังคับใช้ภาษี “ตอบโต้” (retaliatory tariffs) เพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญ หากไม่มีข้อตกลงเกิดขึ้น
ภาพ: Ricardo Moraes / REUTERS
Nathan Howard / REUTERS
อ้างอิง: