‘จตุพร’ โชว์แผนสู้ภาษีทรัมป์ พยุงส่งออกครึ่งปีหลังขยายตัว 1-2%
“กรุงเทพธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ ที่เปลี่ยนบทบาทจากข้าราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาทำหน้าที่ข้าราชการการเมืองในช่วงที่การค้าระหว่างประเทศของไทยกำลังเผชิญผลกระทบจากภาษีทรัมป์
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเป็นข้าราชการประจำมาตั้งแต่อยู่กระทรวงมหาดไทย สัมผัสนักการเมืองมาตลอด และเห็นวิธีการทำงานของรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีหลายคน ซึ่งข้าราชการประจำและนักการเมืองแยกกันไม่ออกเพราะนักการเมือง คือ “คนกำหนดนโยบาย” แต่ข้าราชการประจำคือ “คนที่นำนโยบายไปปฏิบัติ” ดังนั้น หากนักการเมืองและข้าราชการประสานกันได้จะทำให้การทำงานไปได้ด้วยดี
ทั้งนี้ จากการสัมผัสนักการเมืองหลายยุคหลายสมัยจึงคุ้นเคยธรรมชาตินักการเมือง จนเกิดความคิดว่าเราเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย หากเป็นอธิบดีก็ดี และเมื่อเป็นแล้วคิดว่าเป็นปลัดก็ดี และหากมีโอกาสเป็นรัฐมนตรีก็ยิ่งดี เพราะการเป็นนักการเมืองมีเป้าหมายอยากให้งานถึงประชาชน
"ส่วนตัวก็ชอบเมื่อมีคนมาชวนให้เข้าสู่ถนนการเมืองผมก็รับ ซึ่งตำแหน่งรัฐมนตรีก็แค่หัวโขน ผมก็ทำงานของผมเหมือนเดิม ไม่ยืดติดตำแหน่ง ผมทำงานเต็มที่และดีที่สุด ผมยึดสโลแกน 5 จ. คือ จริงจังจริงใจ จตุพร "นายจุตพร กล่าว
นอกจากนี้ ช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งท่ามกลางเศรษฐกิจไม่ดี ปัญหาปากท้องประชาชน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและมีผลกระทบจากภาษีทรัมป์ ถือเป็นความท้าทายมาก แต่เมื่อได้รับการมอบหมายมาเราต้องทำให้ดีที่สุด ดังนั้นต้องมองให้ลึกซึ้งตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำที่มีปัจจัยมากระทบและมีผล โดยการเจรจาภาษีทรัมป์เป็นโอกาสที่ดีสำหรับไทยให้กลับมาตื่นตัวกลับมาดูตัวเอง แบ่งเป็น
1.ไทยจะผลิตสินค้าออกมาให้สู้กับคู่แข่งได้ สังเกตในหลายตัวสินค้าของไทย ยังขายได้ในตลาดโลกแม้จะมีปัจจัยภายนอกมากระทบ เช่น ข้าวหอมมะลิ ยังขายได้ เพราะข้าวหอมมะลิไทยมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ไม่ต้องห่วงเรื่องตลาด ไม่เหมือนกับข้าวชนิดอื่นๆที่เราสู้คู่แข่งไม่ได้ เช่น อินเดีย เป็นต้น ดังนั้นจะต้องกลับมาปฏิรูประบบการผลิตของไทย
2.ต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ที่แพง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย โดยส่วนนี้ตนจะทำต้นทุนการผลิตลดลง โดยเฉพาะราคาปุ๋ย ซึ่งได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในไปดูโครงสร้างราคาว่าจะต้องจัดการในส่วนไหนได้บ้าง เพื่อให้เกษตรกรซื้อปุ๋ยได้ในราคาถูก โดยจะทำให้ได้เร็วที่สุด
3.การหาตลาดใหม่ ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์สำรวจความต้องการสินค้าแต่ละประเทศ ซึ่งต่างประเทศให้ความสนใจแน่นอน และจะเป็นตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงาน (KPI) รวมทั้งให้สำรวจความต้องการของประชาชนว่าต้องการอะไรจากกระทรวงพาณิชย์
สำหรับนโยบายเร่งด่วน 10 เรื่อง เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย สร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ทุกภาคส่วน ประกอบด้วย ยกระดับการเจรจาการค้ากับสหรัฐ การขับเคลื่อนการส่งออกและขยายตลาดใหม่
เร่งเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ให้สรุป อาทิ ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ไทย-เกาหลีใต้ และปรับปรุง FTA ฉบับเดิมให้สอดรับกับประเด็นการค้าใหม่ เช่น สิ่งแวดล้อมและการค้าโลกยุคใหม่ ส่งเสริม SME ให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล สร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร โดยทำ Sandbox ในพื้นที่เป้าหมาย
ส่วนการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ด้วยการดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้สูงเกินจริง การปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมายและนอมินีอย่างจริงจัง รวมไปถึงการป้องกันสินค้าสวมสิทธิ์และการค้าขายที่ไม่เป็นธรรม
รวมทั้งส่งเสริมการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเชิงพาณิชย์ ปฏิรูประบบบริการภาครัฐให้ทันสมัย ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ตรวจสอบกระบวนการให้บริการทุกขั้นตอน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และยกเครื่องกฎหมายด้านการพาณิชย์ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมการค้าสมัยใหม่ โปร่งใส และเอื้อต่อการแข่งขัน
ส่วนการแบ่งงานนั้นที่หลายคนมองว่า มอบหมายหน่วยงานหลักให้รัฐมนตรีมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เช่น กรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าต่างประเทศ
“การรับผิดชอบเป็นเพียงงานในระบบ โดยตนได้ถามรมช.ทั้ง 2 คนแล้วว่า ต้องการทำงานในกรมไหน ตนก็มอบหมายให้ แต่สุดท้ายรัฐมนตรีว่าการฯ ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ถือเป็นมิติใหม่ ซึ่งทุกคนก็ร่วมกันทำงานในเชิงรุก”
สำหรับ"การส่งออก"ของไทยจากการพูดคุยกับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เห็นว่าการส่งออกครึ่งปีหลังของไทยคงไม่ดีเท่าปีครึ่งปีแรก ที่เร่งส่งออกหนีภาษีทรัมป์ดังนั้นการส่งออกทั้งปีคงไม่ได้ตัวเลข 2 หลัก แต่น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายเดิม คือ ขยายตัว 1-2 % แต่คงไม่ติดลบ โดยเราต้องยอมรับความจริงในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้
ส่วนการเจรจาภาษีทรัมป์นั้น ทุกประเทศในอาเซียนแต่ละประเทศก็วิ่งเข้าเจรจากับสหรัฐ ซึ่งอาเซียนควรรวมกลุ่มเจรจาสหรัฐจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะอาเซียนเป็นภูมิภาคใหญ่
ขณะที่ไทยส่งข้อเสนอเปิดตลาดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมมากพอสมควร แต่บางสินค้าไม่เปิดให้ต้องมีจุดยืนที่ยึดผลประโยชน์และผลกระทบต่อเกษตรกรในบ้านเราด้วย ซึ่งการเจรจาไม่ใช่ “win win” แต่เป็นการเจรจาแบบ “ไทย OK สหรัฐ OK” แม้สหรัฐมองไทยเป็นแค่ “เบี้ย" แต่เราต้องมีศักดิ์ศรี
ต้องการเห็นการเมืองเข้าถึงประชาชน
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงอนาคตทางการเมือง ว่า ในอนาคตจะไปอยู่พรรคโอกาสใหม่ไหมยังไม่ได้พูดคุยกัน
“อยากเห็นการเมืองเข้าถึงประชาชนมากที่สุด ขณะนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว การเมืองก็เปลี่ยน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา พรรคโอกาสใหม่ก็พร้อม โดยต้องผสมผสานกับนักการเมืองรุ่นเก่าและรุ่นใหม่เพื่อให้เดินไปด้วยกันได้ ส่วนจะได้ส.ส.กี่คนก็ให้ประชาชนเป็นคนเลือก”
พรรคโอกาสใหม่มีอะไรดี ที่จะให้ประชาชนเลือก นายจตุพร กล่าวว่า วันนี้คนไทยต้องการโอกาส และทางเลือกใหม่ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ดังนั้นประชาชนต้องมีโอกาสเลือกใหม่ๆ สามารถเข้าถึงสิ่งที่ต้องการ เปิดกว้าง ที่สำคัญจะต้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นพรรคอนุรักษ์นิยม เศรษฐกิจใหม่ มีความทันสมัย ทันต่อความเปลี่ยนแปลง เป็นโอกาสทางเลือกใหม่ให้ประชาชน