เมื่อ “ความเสียดาย” ทำตัวเหมือน “มิจฉาชีพ” รู้ทัน Sunk-Cost Fallacy ก่อนอคติจะสูบเงินจากพอร์ตลงทุน
เคยสงสัยไหมว่า ? ทำไมคนมากมายยอมโอนเงินให้มิจฉาชีพซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งที่เริ่มเอะใจว่ากำลังจะ “โดนโกง” แต่ก็ยังโอน "เงินก้อนต่อไป" เพื่อหวังจะได้ "เงินก้อนแรก" คืนมา
ปรากฏการณ์นี้เกิดจากกับดักทางจิตวิทยาที่เรียกว่า “Sunk-Cost Fallacy” มันคืออคติที่เกิดจาก "ความเสียดาย" ต้นทุนที่จ่ายไปแล้วและเรียกคืนไม่ได้ จนทำให้เราตัดสินใจผิดพลาด
เหมือนคนที่โอนเงินให้มิจฉาชีพไปแล้ว 1,000 บาท แล้วยอมโอนเพิ่มอีก 5,000 บาท เพราะเสียดายเงินก้อนแรก และหวังว่าจะได้ทั้งหมดคืน ทั้งที่ควรจะหยุดทันทีที่รู้ตัวว่าโดนหลอก
กลไกทางความคิดนี้ ทำงานเดียวเช่นกันในโลกของการลงทุน ที่คอยปั่นประสาทและทำให้นักลงทุนตัดสินใจผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ต่างจากมิจฉาชีพ ทั้งที่ควรตั้งสติและทบทวนการลงทุนเมื่อรู้ตัวว่า “ผิดทาง”
รู้ทัน Sunk-Cost Fallacy หลักจิตวิทยา สู่พอร์ตการลงทุน
Sunk-Cost Fallacy อธิบายง่ายๆ คือ อคติที่เกิดจากความเสียดายใน "ต้นทุนจม" ซึ่งเป็นต้นทุนที่จ่ายไปแล้วและไม่สามารถเรียกคืนได้ ความเสียดายนี้ทำให้เกิดการตัดสินใจในอนาคตอย่างไม่สมเหตุสมผล
ลองนึกภาพตามว่า มีมิจฉาชีพส่งข้อความมาหลอกว่าคุณได้รับรางวัลใหญ่ แต่ต้องโอนค่าธรรมเนียมไปให้ก่อน 1,000 บาท ด้วยความโลภ คุณจึงโอนไป แต่แล้วมิจฉาชีพก็อ้างว่าต้องมีค่าภาษีอีก 5,000 บาท
หากคุณกำลังคิดว่า "เราลงเงินไปแล้ว 1,000 บาท ถ้าไม่โอนเพิ่ม เงินก้อนแรกก็สูญเปล่า ลองดูอีกครั้งสิ" สุดท้ายคุณก็โอนเงิน 5,000 บาทนั้นไป สุดท้ายมันก็จะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามมาเรื่อยๆ จนคุณหมดตัว
นั่นแปลว่าคุณกำลังติดกับดัก “Sunk-Cost Fallacy”
เงิน 1,000 บาทแรกที่โอนไปนั้น คือ "ต้นทุนจม" มันคือต้นทุนที่จ่ายไปแล้วและไม่มีวันได้คืน ไม่ว่าจะโอนเงินเพิ่มหรือไม่ก็ตาม Sunk-Cost Fallacy ก็คือการที่คุณปล่อยให้ "ความเสียดาย" เงิน 1,000 บาทแรก มาเป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจโอนเงินก้อนต่อไป แทนที่จะประเมินสถานการณ์ตามความเป็นจริงว่า "นี่คือการหลอกลวง และควรจะหยุดทันที"
ในโลกการลงทุน กลไกของ Sunk-Cost Fallacy เกิดขึ้นได้เมื่อนักลงทุน "ติดดอย" หรือถือครองหุ้นที่ขาดทุนหนัก แต่ไม่ยอมขาย หุ้นตัวนั้นเปรียบเสมือนมิจฉาชีพที่เคยหลอกให้ลงเงินก้อนแรก ตั้งแต่ตอนที่เราเข้าซื้อครั้งแรก และกำลังใช้คำสัญญาว่าจะ "กลับไปจุดเดิม" มาเป็นตัวประกัน เพื่อทำให้เงินทุนและเวลาของนักลงทุนจมอยู่ในนั้น
อคติความเสียดายนี้ ทำให้นักลงทุนมักปฏิเสธการขายหุ้นทิ้ง เพราะยังขาดทุนอยู่ หรืออันตรายกว่านั้น คือการหลอกตัวเองให้ "ถัวเฉลี่ยในขาลง” กับหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานได้เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิมแล้ว พฤติกรรมนี้ไม่ต่างจากการโอนเงินเพิ่มให้มิจฉาชีพซ้ำๆ ซึ่งเป็นการนำเงินทุนก้อนใหม่ลงเพิ่มไปกับความผิดพลาดในอดีต
ความเสียหายที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงตัวเลขที่ขาดทุน แต่คือ "ต้นทุนค่าเสียโอกาส" (Opportunity Cost) ที่นักลงทุนอาจพลาดในการเข้าลงทุนสินทรัพย์อื่นที่มีศักยภาพการเติบโตสูงกว่า นี่คือความเสียหายซ้ำซ้อนที่ทำให้นักลงทุนจำนวนมากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินการลงทุนได้
ดังนั้น การสร้างวินัยการลงทุน คือ ทักษะจำเป็นที่จะทำให้นักลงทุนอยู่รอด และสร้างความสำเร็จในตลาดทุนระยะยาว ซึ่งอาจเริ่มตั้งแต่การปรับมุมมองและทบทวนแผนการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ, การตั้งจุด Stop-Loss, ไปจนถึงการตัดขาดทุน (Cut Loss) เพื่อบริหารความเสี่ยงและเปิดรับโอกาสใหม่ ให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าในอนาคต
ดร.กฤษณ์ อริยะพุทธิพงศ์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุไว้ในบทความวิชาการ ว่า เมื่อคุณต้องเผชิญกับการตัดสินใจ หนึ่งในทางออกที่ดี คือ นั่งลงทำรายการข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก พิจารณามูลค่า พิจารณาความน่าจะเป็นของตัวเลือกต่าง ๆ แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน
“บางครั้งคุณอาจจะพบว่าต้นทุนที่จมหายไปนั้น ไม่สามารถย้อนกลับไปเอาคืนมาได้ การตัดใจทิ้งต้นทุนที่จมไป อาจจะเปิดโอกาสใหม่ ๆ ที่คุ้มค่ากว่าก็ได้”
อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/investment
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : Thairath Money
- LINE Official : Thairath