นักวิทย์ออสซี่พบ ‘กลุ่มโปรตีน’ ที่อาจช่วยต้านมะเร็ง-ชะลอวัย
× กรุณาติดต่อทีมงานเพื่อดาวน์โหลดคลิป
ซิดนีย์, 3 ก.ค. (ซินหัว) — นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยการแพทย์เด็ก (CMRI) ในนครซิดนีย์ของออสเตรเลีย พบกลุ่มโปรตีนที่อาจเปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษาโรคมะเร็งและโรคที่เกี่ยวข้องกับความชรา โดยโปรตีนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมเอนไซม์เทโลเมอเรส (telomerase) ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องดีเอ็นเอระหว่างการแบ่งเซลล์
ความคืบหน้าในการค้นพบครั้งนี้ช่วยอธิบายถึงบทบาทของเอนไซม์เทโลเมอเรสในการสนับสนุนกระบวนการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะ และในขณะเดียวกันยังเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยการวิจัยได้เปิดโอกาสใหม่สำหรับการพัฒนาการรักษาที่ชะลอวัย หรือหยุดยั้งการเติบโตของมะเร็งผ่านการมุ่งเป้าไปที่โปรตีนที่ค้นพบใหม่นี้
การศึกษาดังกล่าวเผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ คอมมูนิเคชันส์ (Nature Communications) ระบุว่าเอนไซม์เทโลเมอเรสทำหน้าที่รักษาเทโลเมียร์ (Telomere) หรือส่วนที่อยู่บริเวณปลายสุดของโครโมโซม ซึ่งสำคัญต่อความมั่นคงของสารพันธุกรรม (genetic stability) โดยเอนไซม์นี้จำเป็นสำหรับสุขภาพของเซลล์ต้นกำเนิดและเซลล์ภูมิคุ้มกันบางประเภท แต่เซลล์มะเร็งมักใช้เทโลเมอเรสเป็นเครื่องมือในการแบ่งตัวอย่างควบคุมไม่ได้
ทีมวิจัยค้นพบว่าโปรตีน 3 ชนิด ได้แก่โนโน (NONO) เอสเอฟพีคิว (SFPQ) และพีเอสพีซี1 (PSPC1) ช่วยนำทางเอนไซม์เทโลเมอเรสไปยังส่วนปลายของโครโมโซม หากไปขัดขวางการทำงานของโปรตีนเหล่านี้ในเซลล์มะเร็ง จะสามารถหยุดการซ่อมแซมเทโลเมียร์ และอาจหยุดการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้
อเล็กซานเดอร์ โซบินอฟฟ์ หัวหน้าผู้เขียนการศึกษาดังกล่าว ระบุว่าการค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าโปรตีนเหล่านี้ทำหน้าที่เหมือนเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรระดับโมเลกุล คอยนำทางให้เทโลเมอเรสไปยังตำแหน่งที่ถูกต้องภายในเซลล์
ขณะที่ฮิลดา พิกเก็ตต์ ผู้เขียนอาวุโสของการศึกษานี้ ระบุว่าการเข้าใจกลไกการควบคุมเทโลเมอเรสจะเปิดแนวทางใหม่ในการพัฒนาวิธีรักษาโรคมะเร็ง ความชรา และโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของเทโลเมียร์