ค่าเงินบาทเปิด 32.48 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ท่ามกลางความผันผวนในตลาดโลก
ค่าเงินบาทเปิด 32.48 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ท่ามกลางความผันผวนในตลาดโลก
วันที่ 17 กรกฎาคม 2568 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวผันผวน ในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 32.34-32.64 บาทต่อดอลลาร์) แม้จะมีจังหวะอ่อนค่าลงทะลุโซน 32.60 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงเวลาสั้นๆ ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงต่อเนื่องของราคาทองคำ ทว่า เงินบาทก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เข้าใกล้โซนแนวรับ 32.30 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ส่วนราคาทองคำก็พุ่งสูงขึ้น ท่ามกลางข่าวลือว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เตรียมปลดประธานเฟด Jerome Powell ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะคลายกังวลจากประเด็นดังกล่าว หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึง รัฐมนตรีฯ คลัง สหรัฐฯ ออกมาปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว หนุนให้ เงินดอลลาร์รีบาวด์สูงขึ้นบ้าง ส่วนราคาทองคำก็ย่อตัวลงเกือบถึงระดับก่อนรับรู้ข่าวลือปลดประธานเฟดดังกล่าว
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทการเงินขนาดใหญ่ รายงานผลประกอบการที่สดใส ทว่า บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ถูกกดดันจากประเด็นข่าวลือประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจมีคำสั่งปลดประธานเฟด Jerome Powell แม้ว่าในภายหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะออกมาปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.32%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.57% กดดันโดยความกังวลจากข่าวลือว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจมีคำสั่งปลดประธานเฟด Jerome Powell นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากการปรับตัวลงหนักของ ASML -11.4% และบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor หลัง ASML ระบุว่า รายได้ของบริษัทมีแนวโน้มเติบโตลดลง
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนใกล้โซน 4.50% ท่ามกลางความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อข่าวลือว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจมีคำสั่งปลดประธานเฟด Jerome Powell ซึ่งกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 4.47% อีกครั้ง หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงนี้ ได้ทำให้บอนด์ระยะยาวสหรัฐฯ มีความน่าสนใจมากขึ้น และเราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อ หลัง Risk-Reward มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโซน 4.50% ขึ้นไป สำหรับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ตามความกังวลว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจมีคำสั่งปลดประธานเฟด Jerome Powell ก่อนที่เงินดอลลาร์จะรีบาวด์ขึ้นบ้าง หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงสู่ระดับ 98.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 97.8-98.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความกังวลต่อประเด็นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจมีคำสั่งปลดประธานเฟด Jerome Powell ก็มีส่วนทำให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค. 2025) พุ่งสูงขึ้นทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้น ก่อนที่จะย่อตัวลงสู่โซน 3,340-3,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลต่อประเด็นดังกล่าวลงบ้าง
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึงรายงานดัชนีภาคธุรกิจโดย Philadelphia Fed ในเดือนกรกฎาคม และรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า เฟดมีโอกาสราว 84% ที่จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปีนี้ และเฟดมีโอกาสราว 40% ในการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง ในปีหน้า
ทางฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน และอัตราการเติบโตของค่าจ้างในเดือนมิถุนายน รวมถึง ยอดการจ้างงานและอัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคม เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) หลังล่าสุด อัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ที่ออกมาสูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ BOE ในเดือนสิงหาคมลงบ้าง (จากเกือบ 100% เป็น 85%) แต่โดยรวมยังคงมองว่า BOE มีโอกาสลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้ง ในปีนี้
ส่วนในฝั่งเอเชีย ในช่วงราว 6.30 น. ของเช้าวันศุกร์นี้ ตามเวลาประเทศไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่น ในเดือนมิถุนายน หลังในช่วงที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นทยอยปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงมองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง ในปีนี้
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคฯ อย่าง TSMC และ Netflix ซึ่งรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินในช่วงระยะสั้นได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราขอคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ในช่วงนี้ ตามจังหวะการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากทั้งการทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี แนวโน้มการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์จะขึ้นกับ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ที่จะรับรู้ในช่วงคืนวันพฤหัสฯ นี้ โดยหากรายงานยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง หนุนให้เงินดอลลาร์มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ ทว่า การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาด อาจรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจยังมีความกังวลต่อประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับประธานเฟด หลังมีข่าวลือว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจมีคำสั่งปลดประธานเฟด Jerome Powell แม้ในภายหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาปฏิเสธข่าวลือดังกล่าวก็ตาม
นอกจากนี้ เรามองว่า ราคาทองคำก็มีโอกาสทยอยรีบาวด์สูงขึ้นได้ไม่ยาก ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับประธานเฟด ทำให้แม้เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง จากเงินดอลลาร์ แต่หากราคาทองคำยังคงทรงตัวในกรอบ Sideways หรือปรับตัวสูงขึ้นบ้าง ก็จะช่วยชะลอการอ่อนค่าดังกล่าว ทำให้โดยรวม เงินบา (USDTHB) อาจยังติดโซนแนวต้านแถว 32.60-32.70 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน แต่หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 32.70 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน เราถึงจะกลับมามั่นใจว่า เงินบาทได้กลับเข้าสู่แนวโน้มอ่อนค่าลงอีกครั้ง ตามการประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend Following
อนึ่ง เราขอย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในคืนนี้ เนื่องจากสถิติย้อนหลัง 1 ปี สะท้อนว่า เงินบาท (USDTHB) เสี่ยงผันผวนในกรอบ +/- 1 SD ราว +0.3%/-0.2% เรายังคงมีความกังวลเดิม คือ ความผันผวนของเงินบาทที่อาจกลับมาสูงขึ้นได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ Options เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.40-32.65 บาท/ดอลลาร์
#ค่าเงินบาท #ราคาทองคำ #ข่าวเศรษฐกิจ #ตลาดเงิน #USDTHB #KrungthaiGlobalMarkets #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์ #ธนาคารกรุงไทย