เกาหลีใต้เตรียมยุติการรับบุตรบุญธรรมโดยเอกชน หลังพบการล่วงละเมิดครั้งใหญ่
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ว่า เกาหลีใต้ ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสี่ของเอเชีย และมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมระดับโลก ส่งเด็กไปต่างประเทศมากกว่า 140,000 คน ระหว่างปี 2498-2542 ซึ่งการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศ เริ่มขึ้นหลังสงครามเกาหลี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่เด็กหลายเชื้อชาติออกจากประเทศ
อย่างไรก็ตาม การสอบสวนอย่างเป็นทางการได้ข้อสรุปในปีนี้ว่า กระบวนการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศ เต็มไปด้วยความผิดปกติมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การลงทะเบียนเด็กกำพร้าโดยมีเจตนาหลอกลวง การปลอมแปลงข้อมูลประจำตัว และการตรวจสอบผู้ปกครองบุญธรรมที่ไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ การสอบสวนครั้งสำคัญโดยคณะกรรมการความจริงและการปรองดองของเกาหลีใต้ พบว่ามีการละเมิดสิทธิของเด็กชาวเกาหลีใต้ด้วย ซึ่งคณะกรรมการเรียกร้องให้มีการขอโทษอย่างเป็นทางการ และกล่าวโทษรัฐบาลโซลสำหรับปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความล้มเหลวในการควบคุมค่าธรรมเนียมการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม ซึ่งทำให้ระบบนี้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่แสวงหาผลกำไร
ด้านกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการของเกาหลีใต้ ระบุว่า ในวันเสาร์นี้ เกาหลีใต้จะเปิดตัวระบบการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมโดยรัฐที่ปรับโครงสร้างใหม่ ซึ่งรัฐบาลโซลและเทศบาลต่าง ๆ จะรับผิดชอบอย่างเต็มที่ในกระบวนการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมทั้งหมด
“การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสู่การรับรองความปลอดภัย และส่งเสริมสิทธิของบุตรบุญธรรม” กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการเกาหลีใต้ ระบุทิ้งท้าย.
เครดิตภาพ : AFP