เปิดปม แร่แรร์เอิร์ธทุนต่ำชายแดนพม่า ป้อนจีน เหมืองไร้กฎทำมลพิษไหลสู่ไทย
เมื่อพูดถึงแร่แรร์เอิร์ธ (Rare Earth Elements – REEs) หรือแร่โลหะหายากทั้ง 17 ชนิด ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเทคโนโลยีระดับสูง ตั้งแต่สมาร์ตโฟน ไปจนถึงขีปนาวุธ โลกมักจะหันไปมองจีนในฐานะมหาอำนาจที่ครองตลาดการแปรรูปแร่แรร์เอิร์ธถึง 90% ของโลก และยังเป็นผู้นำด้านปริมาณสำรองที่ครอบครองราว 44 ล้านตันในปี 2024 ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณสำรองที่พบทั่วโลก (มากกว่า 90 ล้านตัน)
ในทางตรงกันข้าม สหรัฐอเมริกามีแร่แรร์เอิร์ธสำรองเพียง 1.9 ล้านตัน และยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก ขณะที่ประเทศอื่นที่มีทรัพยากรแร่หายากรองลงมา ได้แก่ บราซิล (21.0 ล้านตัน), อินเดีย (6.9 ล้านตัน), ออสเตรเลีย (5.7 ล้านตัน), รัสเซีย (3.8 ล้านตัน) และ เวียดนาม (3.5 ล้านตัน) ตามการประเมินของ USGS ในปีเดียวกัน
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เมียนมากลับไม่ได้ถูกระบุในรายชื่อประเทศที่ ‘ครอบครอง’ ทรัพยากรแร่แรร์เอิร์ธมากที่สุด ทั้งที่มีการทำเหมืองอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในรัฐฉาน และรัฐคะฉิ่น นั่นจึงสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า เมียนมาอาจ “ผลิตแร่” แต่ไม่ได้ “ครอบครองทรัพยากร” เป็นเพียงจุดผ่านของการสกัดเบื้องต้น ก่อนแร่เหล่านั้นจะถูกส่งออกไปแปรรูปที่อื่น โดยเฉพาะในประเทศจีน
เหมืองชายแดนเมียนมาพุ่ง
แท้จริงแล้วเบื้องหลังอำนาจแร่หายากของจีน กลับมีพื้นที่ ‘ชายแดนในเมียนมา’ เป็นฟันเฟืองสำคัญ ซึ่งรัฐฉาน และรัฐคะฉิ่น กำลังกลายเป็นศูนย์กลางใหม่ของการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธอย่างเทอร์เบียม และดิสโพรเซียม ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และไร้การควบคุม
ในรัฐฉาน เหมืองแร่แรร์เอิร์ธผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเมืองป๊อกที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของกองกำลังว้า (UWSA) จำนวนเหมืองเพิ่มจากเพียง 3 แห่งในปี 2005 เป็น 26 แห่งในปี 2025 ขยายตัวถึง 8 เท่าในหนึ่งทศวรรษ เทคนิคที่ใช้คือ “ชะละลายแร่” ที่ส่งผลกระทบสารเคมีไหลลงสู่แหล่งน้ำหลักอย่างแม่น้ำกก และแม่น้ำสายที่ลัดเลาะเข้าสู่ภาคเหนือของไทย
ขณะที่ทางตอนเหนือของเมียนมา รัฐคะฉิ่น พื้นที่อย่างปางวา มันซี โมมอก และลอยเจ กลายเป็นจุดผลิตแร่ที่เข้มข้น ในปี 2023 มีเหมืองมากกว่า 300 แห่ง และมีการเจาะหลุมสกัดแร่ถึงกว่า 3,000 หลุม หลังรัฐประหารในปี 2021 การผลิตกลับพุ่งทะยานขึ้นถึง 40% และจีนก็รับซื้อแร่จากเมียนมาถึง 41,700 ตันภายในปีเดียว
จีนลงทุนเหมืองแร่นอกประเทศ
น่าสนใจที่กระบวนการในสองรัฐนี้ไม่ใช่เพียงการขุดแร่เท่านั้น แต่เป็นภาพสะท้อนของการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ และเครือข่ายอิทธิพลจากจีน เหมืองส่วนใหญ่ดำเนินการโดยกลุ่มติดอาวุธ หรืออยู่ภายใต้การสนับสนุนจากทุนจีน โดยแทบไม่มีการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมหรือสิทธิมนุษยชน
จีนเลือกลงทุนในเหมืองแร่แรร์เอิร์ธนอกประเทศ โดยเฉพาะในเมียนมา เพราะรัฐบาลจีนได้ออกกฎควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น ด้วยเหตุผลเชิงกลยุทธ์หลายประการ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และภูมิรัฐศาสตร์ ที่สำคัญแยังประกาศด้วยว่า แร่แรร์เอิร์ธเป็นสมบัติของรัฐ และเอกชนไม่มีสิทธิครอบครอง
เมียนมาจึงตกเป็นเป้าของกลุ่มนายทุนเอกชน เพราะมีการกำกับดูแลและบังคับใช้น้อยกว่า จึงกลายเป็นทางเลือกสำหรับ ย้ายกิจกรรมที่ก่อมลพิษ ไปดำเนินการนอกประเทศ ขณะที่การแปรรูปและเพิ่มมูลค่าแร่ยังคงอยู่ในจีน
นอกจากนั้น การทำเหมืองในเมียนมามีต้นทุนที่ ถูกกว่ามาก โดยข้อมูลจาก Benchmark Mineral Intelligence ระบุว่า ต้นทุนผลิตแร่หนัก เช่น ดิสโพรเซียม และเทอร์เบียม ในเมียนมา ถูกกว่าจีนถึง 7 เท่า ต้นทุนที่ต่ำช่วยให้บริษัทจีนแข่งขันด้านราคากับตลาดโลกได้ดี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานลม
เหมือง–สารเคมี–และแม่น้ำ
“เพียงพร ดีเทศน์” ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ว่า ผลกระทบของมลพิษข้ามพรมแดนครั้งนี้รุนแรงต่อประชาชนนับล้านคนในเชียงรายที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านชีวิตและสุขภาพ เพราะมีการปนเปื้อนของสารโลหะหนัก โดยเฉพาะ “สารหนู” เกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก ไปจนถึงแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาย
"ชาวบ้านไม่สามารถประกอบอาชีพหาปลาหรือขับเรือท่องเที่ยวได้ตามปกติ และเกษตรกรผู้ทำนาก็มีความกังวลว่าข้าวที่ปลูกโดยใช้น้ำจากแม่น้ำกกอาจปนเปื้อนสารหนู ซึ่งข้าวสามารถสะสมสารหนูได้ดี นอกจากนี้ ยังมีการพบปลาที่มีพยาธิผิดปกติซึ่งสอดคล้องกับการเปิดหน้าดินทำเหมือง”
“เพียงพร” กล่าวถึงการตอบสนองของรัฐบาลไทยว่า “ขยับช้า” รัฐบาลต้องยอมรับว่านี่คือ วิกฤติมลพิษข้ามพรมแดนที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยเผชิญมา และต้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยทันที หนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้คือ ต้องหยุดเหมืองเท่านั้น
“ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งเจรจากับเมียนมาและจีนโดยตรง และใช้มาตรการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจ การทูต หรือแม้แต่มาตรการทางอาหาร เพื่อกดดันให้ยุติการทำเหมือง หากปล่อยให้มีการเปิดหน้าดิน และทำเหมืองต่อไป ชาวเชียงรายก็เหมือน ‘ถูกตายผ่อนส่ง’ การฟื้นฟูแม่น้ำที่ปนเปื้อนสารโลหะหนักนั้นทำได้ยากมาก และต้องใช้เวลานาน เหมือนกรณีลำห้วยคลิตี้ที่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์แม้ผ่านไปกว่า 30 ปี”
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์