ป.ป.ช. ปัตตานี ติดตาม สังเกตการณ์ การตั้งด่านสุ่มตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกน้ำหนักเกิน!!!
เมื่อวันพุธที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายธีรชัย สุขเกษม ผอ.ป.ป.ช. ปัตตานี พร้อมด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ติดตาม สังเกตการณ์ การตั้งด่านสุ่มตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกหนักเกินของกรมทางหลวง โดยสำนักควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง สถานีตรวจสอบน้ำหนักหาดใหญ่ (ขาออก) สำนักงานทางหลวงที่ ๑๘ (สงขลา) แขวงทางหลวงปัตตานี และสถานีตำรวจทางหลวง 5 กองกำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจทางหลวง โดยใช้เครื่องตรวจชั่งน้ำหนักแบบเคลื่อนที่ (Spot Check) เพื่อป้องกันรถบรรทุกน้ำหนักเกินจนเป็นเหตุทำให้ถนนเกิดการชำรุดเสียหาย และติดตามการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินของสำนักงาน ป.ป.ช.
ได้ลงพื้นที่ติดตาม สังเกตการณ์ การตั้งด่านสุ่มตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกน้ำหนักเกิน บนถนนทางหลวงหมายเลข 418 ตอนงาแม่-ยุโป บริเวณ กม.6+000 ตำบลลิปะสะโง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จากการสังเกตการณ์การตั้งด่านสุ่มตรวจรถบบรรทุกน้ำหนักวิ่งผ่าน เจ้าหน้าที่จึงได้ส่งสัญญาณให้รถบรรทุกวิ่งเข้าเครื่องชั่งน้ำหนักแบบเคลื่อนที่ (Spot Check) จำนวน 4 คัน ผลการตรวจชั่งน้ำหนักไม่พบว่ามีรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และต่อมาในเวลา 11.30 น. ได้เคลื่อนย้ายไปตั้งด่านสุ่มตรวจบนถนนทางหลวงหมายเลข 42 ตอนบ้านดี-ปาลัส บริเวณ กม.122+000 ตำบลปิยามุมัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
จากการสุ่มตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกน้ำหนักที่วิ่งผ่านด่านตรวจจำนวน 6 คัน ไม่พบรถที่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าพิกัดตามที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน
สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการติดตามสังเกตการณ์การดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินต่อคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาดำเนินการการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว สำหรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน อาทิ
1. การบังคับใช้กฎหมายให้สามารถเอาผิดและลงโทษผู้ประกอบการที่บรรทุกน้ำหนักเกินอย่างเป็นรูปธรรม
2. พิจารณาการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ในการควบคุมกำกับดูแลถนนในแต่ละเขตความรับผิดชอบอย่างบูรณาการ
3. จัดให้มีการประชุมหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นการบังคับใช้กฎหมาย
4. ให้มีการออกมาตรการให้รถบรรทุกมีใบชั่งระบุน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ต้นทาง
5. ผลักดันการนำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในการดำเนินการ เช่น High-speed weigh-in-motion; HSWIM และ Bridge weigh-in-motion; BWIM
6. เพิ่มมาตรการการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่มีปัญหาการทุจริต