โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ดีลสันติภาพของทรัมป์! (The Trump Peace Deal)

THE STANDARD

อัพเดต 7 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 7 ชั่วโมงที่ผ่านมา • thestandard.co
ดีลสันติภาพของทรัมป์! (The Trump Peace Deal)

Just spoke to the Prime Minister of Cambodia relative to stopping the War with Thailand. I am calling the Acting Prime Minister of Thailand, right now, to likewise request a ceasefire, and end the War, which is currently raging …

After speaking to both Parties, Ceasefire, Peace, and Prosperity seems to be a natural. We will see soon!

President Donald J. Trump

26th July 2025

หลายคนอาจไม่เชื่อเลยกับถ้อยแถลงในโซเชียลของทรัมป์ในปัญหาการสู้รบระหว่างไทยกับกัมพูชา จนอาจกล่าวได้ว่า เป็นดังเรื่องที่ ‘แทบไม่น่าเชื่อ’ กับข่าวที่ปรากฏในคำ่คืนวันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อข่าวชิ้นหนึ่งจากทำเนียบขาวปรากฏในเวทีระหว่างประเทศ … ผู้นำสหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยและกัมพูชาต้องหยุดยิง จากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม ตามแนวชายแดนของทั้ง 2 ประเทศ เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มที่จะขยายตัวออกไป โดยเฉพาะการใช้อาวุธโจมตีระยะไกล ซึ่งทำให้ประชาคมระหว่างประเทศมีความกังวลในเรื่องนี้

แน่นอนว่า ในเบื้องต้น ไม่ชัดเจนว่า สิ่งที่ปรากฏนั้น ‘จริงหรือไม่’ เพราะในโลกที่ AI สามารถสร้างทุกสิ่งทุกอย่างได้ หลายฝ่ายจึงมีคำถามอย่างมากว่า สิ่งที่ผู้นำสหรัฐฯ นั้น เป็นถ้อยแถลงที่แท้จริงหรือไม่?

ในเวลาต่อมาเพียงไม่นานนัก ก็มีคำยืนยันที่ชัดเจนว่า ข้อเรียกร้องหยุดยิงของทำเนียบขาวเป็น ‘เรื่องจริง’ ไม่ใช่ประดิษฐกรรมของ AI แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับในทางการเมืองระหว่างประเทศว่า ข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในครั้งนี้ มีความน่าสนใจอย่างมาก บทความนี้จึงอยากทดลองนำเสนอข้อสังเกตบางประการ ดังนี้

  • ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้เรียกร้องให้รัฐคู่พิพาทหยุดยิงด้วยวาจาเท่านั้น หากแต่ยังมีการดำเนินการในสิ่งที่ทฤษฎีวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเรียกว่า ‘มาตรการบังคับทางการทูต’ (Coercive Diplomacy)
  • การใช้มาตรการบังคับในครั้งนี้ ไม่ใช่การใช้มาตรการบังคับในทางทหารที่เราคุ้นเคยในแบบเดิม ซึ่งในวิธีการแบบเดิมของรัฐมหาอำนาจนั้น มักจะเป็นการใช้ ‘เครื่องมือทางทหาร’ เป็นแบบแผนหลัก และอาจนำไปสู่การใช้กำลังทหารแทรกแซงเพื่อยุติวิกฤตความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
  • มาตรการบังคับให้เกิดการหยุดยิงครั้งนี้ เป็น ‘การบังคับในทางเศรษฐกิจ’ ที่สหรัฐฯ ขู่ว่า จะไม่มีการเจรจาเรื่องกำแพงภาษีกับรัฐคู่พิพาททั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งจะเห็นชัดว่า ในครั้งนี้ ทำเนียบขาวใช้ ‘เครื่องมือทางเศรษฐกิจ’ เป็นมาตรการบังคับ ซึ่งมิติทางเศรษฐกิจเช่นนี้เป็นสิ่งที่ทรัมป์นิยมชมชอบ
  • มาตรการบังคับของสหรัฐฯ ให้หยุดยิงครั้งนี้ เป็นการกดดันกับสิ่งที่รัฐคู่พิพาทต้องการอย่างมากคือ การเจรจาเพื่อผ่อนคลายผลที่จะเกิดเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจภายใน เพราะทุกประเทศต้องการการส่งสินค้าออกไปตลาดสหรัฐฯ จึงน่าสนใจอย่างมากว่า มาตรการนี้จะประสบความสำเร็จเพียงใด เพราะทรัมป์กล่าวชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะไม่เจรจาทางการค้ากับประเทศที่ยังรบกัน (“We … do not want to make any Deal, with either Country, if they are fighting.” – Trump)
  • ในเบื้องต้น ผู้นำรัฐทั้ง 2 คงต้องตอบรับกับเสียงเรียกร้องของทำเนียบขาว แต่ในทางปฏิบัตินั้น การหยุดยิงจะเริ่มได้จริงเมื่อใด และจะหยุดอย่างไร
  • ความเป็นจริงของสถานการณ์สงคราม กองทัพของแต่ละฝ่ายยังมีสภาวะ ‘ติดพันสนามรบ’ ที่อาจจะต้องการความชัดเจนของนโยบายทางการเมืองจากรัฐบาล รัฐบาลจะต้องคิดหา ‘ทางออก’ จากภาวะสงครามให้ได้ โดยมีเงื่อนไขของทำเนียบขาวเข้ามาเป็นปัจจัยด้วย
  • ในสภาวะของวิกฤตการณ์ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาครั้งนี้ ต้องยอมรับว่า รัฐบาลไทยมีภาพของความ ‘อ่อนแอ-อ่อนหัด’ โดยเฉพาะระดับตัวผู้นำรัฐบาล จนสังคมภายในของไทยไม่ตอบรับกับการดำเนินการของรัฐบาล และส่งผลในทางกลับกันอย่างน่ากังวล ให้เกิดการสนับสนุน ‘กระแสทหารนิยม’ ควบคู่ไปกับ ‘กระแสชาตินิยม’
  • การเจรจาสันติภาพเพื่อยุติปัญหานี้ จะปรากฏในรูปแบบใด จะดำรงเวทีที่เป็นทวิภาคี หรือในอนาคต สหรัฐฯ อาจจะเข้ามาเป็น ‘คนกลาง’ เพราะรัฐคู่พิพาทยังไม่มีสัญญาณของการหยุดยิงจริงๆ แต่อย่างใด หรือสหรัฐฯ อาจเล่นบทบาทเป็น ‘ผู้กดดัน’ แต่ไม่เข้ามาเป็นคนกลาง และบังคับด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจให้ทั้ง 2 ฝ่ายต้องยุติการรบ
  • ในสงครามชุดนี้ แต่เดิมหลายฝ่ายคาดการณ์ถึงบทบาทของจีนที่อาจจะเข้ามาเป็น ‘คนกลาง’ เพราะการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประเทศทั้ง 2 โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาคือ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดอย่างมากระหว่างจีนกับกัมพูชา โดยเฉพาะการซ้อมรบทางทหารระหว่างประเทศทั้ง 2 เกิดก่อนที่การปะทะตามแนวพรมแดนไทย-กัมพูชาจะเริ่มขึ้น และจีนเองก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับไทยด้วย
  • ในบริบทการเมืองระหว่างประเทศ เป็นที่จับตามองกันว่า หากจีนเข้ามาเป็นผู้ยุติสงคราม ก็อาจนำไปสู่การขยายบทบาทของจีนในภูมิภาค เช่นที่ญี่ปุ่นเคยมีบทบาทเช่นนี้ในการยุติสงครามอินโดจีน 2484 ระหว่างสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส และตามมาด้วยการขยายบทบาทของญี่ปุ่นในสยามก่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
  • ถ้าสหรัฐฯ เข้ามาเป็นคนกลางและ/หรือคนจัดการยุติการสู้รบในครั้งนี้ จึงน่าสนใจว่า การดำเนินการของทรัมป์ จะเป็นปัจจัยในการเสริมสร้างบทบาทของสหรัฐฯ อย่างไรหรือไม่ในอนาคต ทั้งในบริบทของความสัมพันธ์กับไทย และกับกัมพูชา
  • ในมุมมองของเวทีโลก ไม่มีใครอยากเห็นสงครามชายแดนไทย-กัมพูชาขยายตัว จนกลายเป็น ‘สงครามที่ควบคุมไม่ได้’ และนำไปสู่การไร้เสถียรภาพของภูมิภาค เพราะเวทีโลกยังเผชิญกับปัญหาสงครามที่ไม่มีข้อยุติคือ สงครามยูเครน สงครามกาซา สงครามซูดาน เป็นต้น และทั้งในเวทีโลกไม่มีใครต้องการเห็นการเกิดของ ‘วิกฤตการณ์มนุษยธรรม’ จากสงครามครั้งนี้ เนื่องจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่สังคมโลกไม่อาจยอมรับได้ เช่น ตัวอย่างของปัญหายูเครน หรือกาซา
  • ในเวทีโลก อาจจะไม่มีใครใส่ใจว่าสงครามเริ่มต้นอย่างไร แต่โลกจะให้ความสนใจกับความสูญเสียที่เกิดกับประชาชน และพิจารณาถึงระดับของการใช้กำลัง ดังนั้น ประชาคมโลกจึงอยากเห็นการยุติสงคราม และถ้าสงครามยังขยายตัวไปไม่หยุด เวทีโลกพร้อมที่กดดันด้วยมาตรการบังคับให้เกิดการหยุดยิง เพื่อที่การหยุดยิงจะเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘การลดระดับสงคราม’ (De-escalation of War)
  • การใช้มาตรการบังคับของสหรัฐฯ เห็นมาแล้วในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยการเป็น ‘คนกลาง’ ให้เกิดการยุติสงครามระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) กับรวันดา ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตและผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนมาก การใช้มาตรการบังคับในสงครามไทย-กัมพูชา อาจไม่แตกต่างกันท่ีสหรัฐฯ เข้ามาเล่นบทเป็นคนจัดการครั้ง
  • การมีบทบาทของทรัมป์ในลักษณะเช่นนี้ ต้องยอมรับว่าเป็น ‘บทบาทเชิงบวก’ อย่างมากกับการยุติปัญหาความขัดแย้งที่สำคัญชุดหนึ่งของโลกในทวีปแอฟริกา และเป็นการเปิดพื้นที่สำหรับการลงทุนในสินแร่ที่หายากและมีค่าในทางเศรษฐกิจ (ดูรายละเอียดใน “Rwanda, Congo sign peace deal in the US to end fighting, attract investment,” in Reuters, June 28, 2025)
  • อดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่า ถ้าทรัมป์ยุติสงครามด้วยมาตรการบังคับทางเศรษฐกิจได้จริงแล้ว (อาจรวมถึงการยุติสงครามยูเครน อย่างที่ทรัมป์ฝันเสมอมา) ในกรณีนี้ ทรัมป์อาจกลายเป็นผู้ได้รับการเสนอในการชิง ‘รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ’ ได้ไม่ยาก … ขณะที่ปีกเสรีนิยมไม่มีทางยอมรับทรัมป์ได้อย่างแน่นอน
  • ปีกอนุรักษ์นิยมสุดโต่งไทยอาจไม่ตอบรับ เพราะคนกลุ่มนี้อยากเห็นการขยายตัวของสงคราม และนำไปสู่การทำลายล้างขนาดใหญ่กับเป้าหมายในกัมพูชา แต่ต้องตระหนักเสมอว่า ไทยไม่ใช่อิสราเอลที่จะเปิดสงครามได้อย่างสุดโต่ง เช่นที่เกิดในกาซา และในทางการเมืองระหว่างประเทศ ไทยก็ไม่อยู่ในสถานะเช่นเดียวกับอิสราเอลแต่อย่างใด
  • สังคมไทยในส่วนหนึ่งต้องคิดที่จะไม่พาประเทศไปติด ‘กับดักสงคราม’ เพราะสงครามที่ลากยาวออกไป มีราคาทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติ และเศรษฐกิจชายแดนเป็นค่าใช้จ่าย รวมถึงราคาชีวิตของผู้สูญเสีย และเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดในภาวะที่เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางอย่างมาก
  • ในอีกด้านของปัญหา สงครามชายแดนมักเป็นปัจจัยในการกระตุ้นอารมณ์ทางการเมืองในแบบ ‘ลัทธิชาตินิยม’ และปัญหาเช่นนี้ เกิดในทั้ง 2 ประเทศไม่แตกต่างกัน และอารมณ์การเมืองแบบนี้ยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความชมชอบในแบบ ‘ลัทธิเสนานิยม’ ฉะนั้น การจะยุติความขัดแย้ง จะต้องหาทางลดระดับของกระแสการเมืองชุดนี้ลงให้ได้ เนื่องจาก ทั้งชาตินิยมและเสนานิยมนั้น ล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานในการขับเคลื่อนความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเสมอ
  • คำถามของสถานการณ์สนามที่เป็นจริงก็คือ แม้ทรัมป์จะมีถ้อยแถลงดังกล่าวแล้ว การสู้รบระหว่างประเทศทั้ง 2 ยังไม่ยุติลงแต่อย่างใด (บ่ายวันที่ 27 กรกฎาคม 2568) ฉะนั้น ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายยังรบกันต่อไป และไม่หยุดจริง ทรัมป์จะออก ‘มาตรการลงโทษ อย่างที่ขู่ไว้จริงหรือไม่ อันมีนัยว่า ทั้งไทยและกัมพูชาจะต้องแบกภาระภาษีของสินค้าเข้าสหรัฐฯ ในอัตราที่ ‘ไม่เป็นคุณ’ กับระบบเศรษฐกิจของตนเองอย่างแน่นอน
  • น่าสนใจว่า ในมุมมองของทรัมป์นั้น ปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชาอาจย้อนรอยแบบประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในเอเชียใต้ เพราะเขาไม่ต้องการเห็นการย้อนรอยของสงครามในแบบของ ‘ความขัดแย้งระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน’ หวนกลับเกิดมาอีกครั้งจากปัญหาชายแดนไทยกัมพูชา (“It very much reminds me of the Conflict between Pakistan and India” – Trump)
  • ทำเนียบขาวประกาศชัดเจนว่า ไม่ยุติสงครามระหว่างกันแล้ว การเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ จะเกิดไม่ได้เลย การประกาศเช่นนี้ เป็นการออก ‘มาตรการบังคับทางการทูต’ อย่างชัดเจน จึงน่าสนใจว่า ประเทศคู่ขัดแย้งจะดำเนินการต่อจากนี้อย่างไร (“When all is done, and Peace is at hand, I look forward to concluding our Trading Agreements with both” – Trump)

กล่าวสรุปง่ายๆ สำหรับข้อเสนอของทรัมป์ในปัญหาไทย-กัมพูชา คือ ‘ไม่เลิกรบ ไม่คุย’ … ประเด็นนี้จึงน่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง

จะเดินสู่อนาคตอย่างไร?

หลังจากคำร้องของทำเนียบขาวออกมาในคืนวันเสาร์ที่ 26 ตกบ่ายวันอาทิตย์ที่ 27 สงครามยังดำเนินต่อไปเสมือนหนึ่งผู้นำทั้ง 2 ประเทศ ยังมีอาการ ‘หูหนวก’ จากเสียงเรียกร้องของทรัมป์ แม้ทรัมป์จะแถลงว่า ได้คุยกับผู้นำทั้ง 2 แล้วก็ตาม

ดังนั้น จากข้อเรียกร้องของทรัมป์ครั้งนี้ จึงน่าติดตามอย่างมากว่า รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศจะ ‘ปีนบันไดสงครามลง’ อย่างไรจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น … เราอาจต้องยอมรับในทางยุทธการว่า สงครามประเทศเพื่อนบ้านนั้น ‘รบกันพอประมาณ’ แล้วต้องหยุด เพราะสงครามชุดนี้ ไม่ใช่สงครามเบ็ดเสร็จที่นำไปสู่การยึดครองของรัฐผู้ชนะเช่นสงครามตีเมืองในยุคกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด

ในความเป็นจริงแล้ว ธรรมชาติของสงครามเพื่อนบ้านในโลกสมัยใหม่นั้น การสู้รบที่เกิดขึ้นมักเป็นเพียง ‘สงครามสั่งสอน’ เท่านั้นเอง และไม่ใช่ ‘สงครามยึดครอง’ อย่างแน่นอน!

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก THE STANDARD

มาริษชี้ไทยมีภาพลักษณ์ดีในสายตาชาวโลก มองเป็นนิมิตหมายดีกัมพูชายอมเจรจาในกลไกทวิภาคี

19 นาทีที่แล้ว

‘สัตตาหกรณียะ’ เมื่อพระสงฆ์ต้องสละวัดกลางพรรษาหนีภัยชายแดน

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ไทย-กัมพูชา บรรลุข้อตกลงหยุดยิงทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข มีผลเที่ยงคืนนี้

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

เปิดรายละเอียด ‘คำต่อคำ’ แถลงการณ์ร่วมเจรจาหยุดยิงไทย-กัมพูชา

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความทั่วไปอื่น ๆ

สุดเศร้า บอล One Day Trip เพิ่งช่วยแนวหน้า โพสต์สุดท้ายกินใจ

TeeNee.com

อดีตรองแม่ทัพภาค 2 แฉ! เพื่อน "ฮุน มาเนต" เป็นที่ปรึกษาทรัมป์ – เตือนรัฐไทยต้องระวังเกมเจรจาชายแดน

The Better

สรุปเนื้อหาข้อตกลงหยุดยิงไทย-กัมพูชา ตกลงกันเรื่องอะไรบ้าง

THE STANDARD

เกาะติดสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา หลังบรรลุข้อตกลงหยุดยิง เที่ยงคืนนี้ : 28 กรกฎาคม 2568

สวพ.FM91

3 องค์กรสื่อออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือรายงานข่าวชายแดนอย่างรับผิดชอบ

TNN ช่อง16

มาริษชี้ไทยมีภาพลักษณ์ดีในสายตาชาวโลก มองเป็นนิมิตหมายดีกัมพูชายอมเจรจาในกลไกทวิภาคี

THE STANDARD

“มาริษ” ชี้ไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อสายตาชาวโลก เป็นนิมิตหมายดีกัมพูชากลับมาคุยทวิภาคี 3 กลไก

Manager Online

กองทัพไทย ซัด “มาลี” โฆษกเขมร สร้างข่าวเท็จซ้ำซาก-ไร้หลักฐานรองรับ

PPTV HD 36

ข่าวและบทความยอดนิยม

Goldman Sachs เพิ่มเป้าหมายดัชนีหุ้นจีน 11% บนความหวังสหรัฐฯ เจรจาการค้ากับจีนลุล่วง

THE STANDARD

พิธาชี้ กัมพูชาเสี่ยงกว่าไทยปมภาษีสหรัฐฯ แนะสองฝ่ายหันหน้าเจรจา อย่าเอาเศรษฐกิจมาเสี่ยง

THE STANDARD

ภูมิธรรมนำทีมไทยแลนด์ บินเจรจา ‘ฮุน มาเนต’ ที่มาเลเซีย ชี้ยึดหลักการ ‘หยุดยิงทันที-รักษาอธิปไตย’ เชื่อทั่วโลกยืนอยู่ข้างไทย

THE STANDARD
ดูเพิ่ม
Loading...