“สหรัฐ” เปิดรายละเอียดดีล “อินโดนีเซีย” ลดภาษีเหลือ 19% แลกอินโดฯ ยกเลิกกำแพงภาษีสหรัฐ 99%
ข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ระหว่าง สหรัฐ - อินโดนีเซีย เปิดทางให้การเข้าถึงตลาดอย่างกว้างขวาง โดยสหรัฐจะลดภาษีเหลือ 19% อินโดฯจะยกเลิกกำแพงภาษีมากกว่า 99% สำหรับสินค้าสหรัฐ ทั้งนี้สินค้าอุตสาหกรรม เกษตร อาหาร เทคโนโลยี และเวชภัณฑ์
วันที่ 23 กรกฎาคม 2568 เวลา 12.30 น. สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่ารัฐบาลสหรัฐเปิดเผยรายละเอียดข้อตกลงการค้ากับอินโดนีเซีย โดยจากเดิมที่สหรัฐขู่จะเก็บภาษีรีซิโพรคอลสูงถึง 32% จากสินค้านำเข้าจากอินโดนีเซีย จะลดลงเหลือ 19% ขณะที่อินโดนีเซียตกลงจะยกเลิกกำแพงภาษีถึง 99% สำหรับสินค้านำเข้าจากสหรัฐ ซึ่งรวมถึงสินค้าอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และอาหาร เช่น เนื้อวัว ผลิตภัณฑ์นม สารเคมี และเทคโนโลยีสารสนเทศ
แถลงการณ์ร่วมของทำเนียบขาวระบุว่า อินโดนีเซียจะยกเลิกกำแพงภาษีแบบพิเศษเกือบทั้งหมดสำหรับสินค้าส่งออกจากสหรัฐ เพื่อขยายการเข้าถึงตลาดอย่างมีนัยสำคัญในทุกภาคส่วน สนับสนุนการจ้างงานในสหรัฐ
โดยในปี 2567 สหรัฐขาดดุลการค้าสินค้ากับอินโดนีเซียกว่า 1.79 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อินโดนีเซียตกลงจะซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐมูลค่ารวมกว่า 2.27 หมื่นล้านดอลลาร์ ได้แก่ เครื่องบิน 3.2 พันล้านดอลลาร์ สินค้าเกษตร 4.5 พันล้านดอลลาร์ และพลังงาน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์
อินโดนีเซีย ถือเป็นประเทศอาเซียนประเทศที่สามที่ทำข้อตกลงด้านภาษีกับสหรัฐต่อจากเวียดนาม อัตราภาษี 20% และฟิลิปปินส์ 19% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายภาษีรีซิโพรคอลของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ต้องการลดดุลการค้าสินค้าของสหรัฐ
ทั้งนี้ข้อตกลงฉบับนี้ไม่ได้เน้นแค่ภาษีเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) เช่น การยกเว้นเงื่อนไขเรื่อง การใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content Requirement) สำหรับสินค้าจากบริษัทอเมริกัน ตัวอย่างเช่น กรณีของ iPhone 17 ที่ก่อนหน้านี้ถูกห้ามขายในอินโดนีเซีย จนกระทั่ง Apple ยอมลงทุนสร้างศูนย์วิจัยและเตรียมผลิตในประเทศ
อินโดนีเซียยังตกลงจะยอมรับการรับรองจาก FDA ของสหรัฐ สำหรับอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ รวมถึงมาตรฐานด้านความปลอดภัยและมลพิษของรถยนต์จากสหรัฐ และยกเลิกการตรวจสอบสินค้าก่อนส่งออกและการออกใบอนุญาตนำเข้าสำหรับสินค้าที่นำกลับมาใช้ใหม่ (remanufactured goods)
นายฟิทรา ไฟซาล ฮัสติอาดี โฆษกประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าวว่า ข้อตกลงนี้เป็น win-win โดยคาดว่าจะช่วยเพิ่ม GDP 0.5%, บริโภคภายในประเทศ 0.6%, และสร้างงานใหม่ 1.9 ล้านตำแหน่ง โดยเฉพาะในภาคแรงงานเข้มข้น เช่น สิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า ซึ่งจะมีโอกาสเข้าถึงตลาดสหรัฐมากขึ้น
ขณะที่ในภาคดิจิทัล อินโดนีเซียตกลงจะระงับการจัดเก็บภาษีและไม่ต้องยื่นเอกสารนำเข้าสำหรับสินค้าดิจิทัลไร้ตัวตน (intangible products) เช่น ซอฟต์แวร์ และจะไม่จำกัดการถ่ายโอนข้อมูลข้ามพรมแดน พร้อมสนับสนุน มติ WTO ห้ามเก็บภาษีดิจิทัลอย่างถาวร
ด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม อินโดนีเซียให้คำมั่นว่าจะไม่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าที่ผลิตจากแรงงานบังคับ ยกระดับการจัดการป่าไม้ และจะเข้าร่วมเวที Global Forum on Steel Excess Capacity เพื่อจัดการปัญหาอุปทานเกินในตลาดเหล็ก
ทั้งนี้การลงนามอย่างเป็นทางการของข้อตกลงนี้คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
อ้างอิง :asia.nikkei.com