อย่ารอให้โลกเปลี่ยนแล้วค่อยปรับ! ปิยะชาติย้ำ ผู้นำต้องขยับก่อนเสมอ
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วและไม่อาจคาดเดาได้ ‘ปิยะชาติ อิศรภักดี’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์ จำกัด (BRANDi and Companies) ชี้ว่า การพยากรณ์อนาคตเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการรับมือกับความไม่แน่นอนอีกต่อไป แม้ตลาด Prediction Market ทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 17.49 พันล้านดอลลาร์ในปี 2025 และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 21.40% ทว่าสิ่งเหล่านี้ก็ไม่อาจการันตีความแน่นอนในโลกที่ทุกอย่างสามารถพลิกผันได้ทุกวินาที “ใครจะไปคิดว่าเราจะได้เห็นสงครามใหญ่ถึงสองครั้งในช่วงชีวิตเดียว หรือความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับแคนาดาที่สั่นคลอนอย่างคาดไม่ถึง” เขากล่าว
ในบริบทดังกล่าว ปิยะชาติย้ำว่า “การคาดการณ์แบบตายตัวอาจเคยทำให้ผู้บริหารรู้สึกสบายใจ แต่วันนี้มันไม่พออีกต่อไป สิ่งที่สำคัญจริงๆ คือความสามารถในการปรับตัว และเดินให้ทันโลกที่เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา” ด้วยเหตุนี้ แนวคิด ‘Future-ready’ จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญที่แบรนดิให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะในยุคที่ข้อมูลมีมากมาย และความรู้ไม่ใช่ข้อได้เปรียบเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป ความสามารถในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ข้ามสาขาจึงกลายเป็นทักษะจำเป็นสำหรับผู้นำแห่งอนาคต
การจะเป็น Future-ready ไม่ได้เกิดจากการรู้ลึกเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่คือการมีความรู้ที่กว้างพอที่จะมองเห็นภาพรวมและเชื่อมโยงทุกองค์ประกอบเข้าด้วยกัน ดังนั้น ผู้นำในยุคนี้จึงต้องมีทักษะที่ยากต่อการเลียนแบบด้วยเครื่องจักร โดยเฉพาะทักษะด้านมนุษย์ อาทิ ความสามารถในการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ (Strategy-Telling) ซึ่ง “ไม่ใช่แค่การพูดให้เก่ง แต่ต้องเล่ากลยุทธ์ให้ออกมาเป็นเรื่องที่คนเข้าใจ เห็นภาพ และอยากลงมือทำ”
นอกจากนี้ อีกหนึ่งทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ ทัศนคติที่เปิดรับความซับซ้อนของโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะการยอมรับว่าหลายปัญหานั้นไม่มีคำตอบแบบขาว-ดำ“ถ้าคุณคิดตั้งแต่แรกว่าไม่มีทางเอาชนะยักษ์ คุณก็จะไม่กล้าลงมือทำตั้งแต่ต้น เพราะนวัตกรรมมักเริ่มต้นจากความเชื่อที่ว่า สิ่งที่ดีกว่ายังคงมีอยู่ และทางออกใหม่อาจอยู่นอกกรอบแนวคิดเดิมที่เราคุ้นเคย” ปิยะชาติ อธิบาย
พร้อมกล่าวต่อไปว่า ในยุคที่เทคโนโลยีช่วยให้ทุกคนสามารถสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ๆ ได้อย่างง่ายดาย สิ่งที่กำหนดความได้เปรียบจึงไม่ใช่แค่การคิด แต่คือความสามารถในการลงมือทำการบริหารต้นทุนให้สามารถส่งมอบนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือสิ่งที่จะชี้ผลแพ้ชนะในโลกธุรกิจ การลดความสูญเปล่าและการเร่งกระบวนการให้เกิดขึ้นจริง จึงเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จที่จับต้องได้
อย่างไรก็ตาม การเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตไม่ใช่เพียงเรื่องของทักษะ แต่ต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ความสามารถ (Competency), ขีดความสามารถในการลงมือทำ (Capacity) และ วัฒนธรรมองค์กร (Culture) เนื่องจากทั้งสามเสาหลักดังกล่าวเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง และร่วมกันเป็นรากฐานสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง อีกทั้งผู้นำจำเป็นต้องพัฒนาทักษะที่เหมาะสมสำหรับทั้งปัจจุบันและอนาคต พร้อมลงทุนในทั้งทักษะทางเทคนิคและทักษะด้านมนุษย์ เช่น ความยืดหยุ่นทางความคิด (Adaptability) และความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ขณะเดียวกันก็ต้องมีศักยภาพในการ ‘ลงมือทำจริง’ และขยายผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้กลยุทธ์ที่วางไว้ต้องหยุดชะงักอยู่เพียงแค่ในแผน
สำหรับ วัฒนธรรมองค์กร ปิยะชาติมองว่าเป็น ‘ปัจจัยที่สำคัญที่สุด แต่ก็มักถูกมองข้ามมากที่สุด’ เพราะวัฒนธรรมไม่ได้เป็นเพียงกฎระเบียบหรือค่านิยม แต่คือพฤติกรรมร่วมที่หล่อหลอมขึ้นอย่างต่อเนื่อง “วัฒนธรรมไม่ได้ถูกสร้างขึ้น แต่ถูกหล่อหลอมขึ้นทีละน้อย” เขากล่าว พร้อมเสริมว่า ผู้นำที่พร้อมสำหรับอนาคตจะไม่เปลี่ยนวัฒนธรรมด้วยคำสั่ง แต่ด้วยการเป็นแบบอย่าง การกำหนดความคาดหวัง และการชี้นำด้วยความเข้าใจ
อีกหนึ่งมุมมองสำคัญคือการเปลี่ยนความผิดพลาดให้เป็นโอกาสในการเติบโต ด้วยการมองว่าการกล้ายอมรับความผิดพลาดในฐานะทางผ่าน ไม่ใช่ทางตัน คือหัวใจของการเรียนรู้ พร้อมอ้างอิงคำพูดของ ‘พลเรือโท ดร.เกรซ ฮอปเปอร์’ ที่เคยกล่าวไว้ว่า “เรือที่จอดอยู่ในท่าอาจจะปลอดภัย…แต่เรือไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อจอดอยู่เฉยๆ” เพื่อย้ำว่าการกลัวความผิดพลาดมากเกินไป อาจทำให้พลาดโอกาสในการค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง
“ถ้าเราเลือกเฉพาะโจทย์ง่าย ๆ ที่ทำได้ดีอยู่แล้ว เราก็จะไม่มีวันได้รู้เลยว่า ศักยภาพที่แท้จริงของเราคืออะไร จุดเริ่มต้นของการเติบโตมักมาจากความไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ และความกล้าที่จะตั้งคำถามว่ามันควรมีทางที่ดีกว่านี้สิ” เขากล่าวต่อ
ก่อนจะฝากแง่คิดพร้อมทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ชวนทบทวนตัวเองในฐานะผู้นำว่า “การเป็น Future-ready ไม่ใช่ปลายทาง แต่คือกระบวนการที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวอย่างต่อเนื่อง หน้าที่ของผู้นำคือการเริ่มต้น การก้าวกระโดดไปสู่ความก้าวหน้า แม้หนทางจะยังไม่ชัดเจน เพราะภารกิจของเราคือการ ‘ออกแบบอนาคต’ ตั้งแต่วันนี้ คุณพร้อมหรือยังสำหรับก้าวแรก?”