ประเดิมขึ้นค่าแรง400 เคาะคุณสู้เราช่วยเฟส2
ครม.เคาะ "คุณสู้ เราช่วย" เฟส 2 เปิดลงทะเบียนถึง 30 ก.ย.68 ปักธงอุ้มลูกหนี้เพิ่ม 2 ล้านบัญชี ยอดสินเชื่อ 3.1 แสนล้าน ไฟเขียวค่าแรง 400 กทม.-โรงแรม-สถานบริการ เริ่ม 1 ก.ค.นี้
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการขยายคุณสมบัติของลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งจะช่วยเหลือลูกหนี้ได้ทุกกลุ่ม และช่วยเหลือประชาชนมากขึ้นไปกว่าเดิม ดังนี้ 1.การขยายคุณสมบัติมาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์ : ขยายให้รวมถึงลูกหนี้ที่ค้างชำระมากกว่า 365 วัน และลูกหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 1-30 วัน โดยเคยมีการปรับโครงสร้างหนี้
ซึ่งประเภทลูกหนี้และวิธีการให้ความช่วยเหลือยังคงเหมือนเดิม คือ ลูกหนี้สินเชื่อบ้านและ/หรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภาระเป็นหลักประกัน (Home for Cash) ที่มีวงเงินรวมต่อสถาบันการเงินไม่เกิน 5,000,000 บาท, สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และ/หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ (Car for cash) มีวงเงินรวมต่อสถาบันการเงินไม่เกิน 800,000 บาท และสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และ/หรือ Car for cash มีวงเงินรวมต่อสถาบันการเงิน 50,000 บาท และสินเชื่อธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีสถานะเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มีวงเงินรวมต่อสถาบันการเงินไม่เกิน 5,000,000 บาท
โดยลดการผ่อนค่างวดในช่วงระยะเวลา 3 ปี โดยในปีที่ 1 ชำระค่างวด 50%, ปีที่ 2 ชำระค่างวด 70% และปีที่ 3 ชำระค่างวด 90% ของค่างวดก่อนเข้าร่วมมาตรการ และยกเว้นดอกเบี้ยให้หากลูกหนี้สามารถทำตามเงื่อนไขของมาตรการได้ครบ 3 ปี
2.การขยายยอดคงค้างหนี้และประเภทหนี้ตามมาตรการจ่าย ปิด จบ ขยายให้ครอบคลุมภาระหนี้จำนวน 10,000 บาท หากเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) และ 30,000 บาท หากเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน (Secured Loan) ซึ่งวิธีการให้ความช่วยเหลือยังคงเหมือนเดิม คือ ลูกหนี้จ่ายเพียง 10% เพื่อเป็นการชำระหนี้ปิดบัญชีทันที
3.การเพิ่มมาตรการใหม่ “มาตรการจ่าย ตัด ต้น” เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้เอ็นพีแอล ซึ่งมีสินเชื่อไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) ที่มียอดหนี้คงค้างไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี โดยการปรับโครงสร้างหนี้ให้มีเงื่อนไขเป็นการผ่อนชำระคืนเป็นงวด (Term Loan) และกำหนดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำที่ 2% ของยอดคงค้าง เป็นระยะเวลา 3 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยให้เลยหากลูกหนี้สามารถทำตามเงื่อนไขได้ครบ 3 ปี
อย่างไรก็ดี คาดว่าการขยายโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” นี้ จะช่วยเหลือลูกหนี้ได้เพิ่มเติมอีกกว่า 1.8 ล้านราย หรือ 2 ล้านบัญชี ยอดสินเชื่อคงค้างรวม 310,000 ล้านบาท โดยขยายระยะเวลารับสมัครเข้าร่วมโครงการถึง 30 ก.ย.2568
ด้าน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายใต้เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ขณะที่ยังมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางจำนวนมากที่เผชิญกับปัญหาในการชำระหนี้ จึงเห็นควรให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เฟส 2 โดยโครงการนี้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขหนี้ โดยเน้นการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสรอดให้สามารถฟื้นตัวกลับมาชำระหนี้ได้ หรือกลับมาเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการชั่วคราวมีแนวทางในการป้องกัน Moral hazard โดยยังคง Cutoff date ในการพิจารณาคุณสมบัติของลูกหนี้ไว้ที่ 31 ต.ค.2567 โดยมีการประเมินว่าจะมีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายประมาณ 1.8 ล้านราย 2 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 3.1 แสนล้านบาท
“มาตรการทั้งหมด ไม่ได้คาดหวังในเรื่องของแก้หนี้ครัวเรือน แต่เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้แก้ปัญหาของตัวเองได้ ตัวเบาขึ้น เพราะลดเงินงวดให้สอดคล้องกับลูกหนี้ที่ยังมีรายได้ไม่เต็มที่ อย่างไรก็ตาม หากดูสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในช่วง 3-4 ไตรมาสที่ผ่านมานั้น และล่าสุดน่าจะต่ำกว่า 88% จากสินเชื่อที่ชะลอลง และจีดีพีที่ยังขยายตัวได้” น.ส.สุวรรณีระบุ
สำหรับลูกหนี้ที่เคยเข้าร่วมโครงการในเฟสแรกแล้ว แต่มีสัญญาอื่นที่เข้าเงื่อนไขในเฟส 2 หรือเคยลงทะเบียนในเฟส 1 แล้วแต่ไม่เข้าเงื่อนไข แต่เข้าเงื่อนไขในเฟสที่ 2 นั้น ยืนยันว่า ลูกหนี้สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ โดยต้องลงทะเบียนใหม่ ยกเว้นกรณีที่ลูกหนี้ลงทะเบียนเฟส 1 แล้ว แต่เจ้าหนี้ยังไม่ได้แจ้งผลการพิจารณาในระบบ เจ้าหนี้จะพิจารณาคุณสมบัติลูกหนี้อีกครั้ง โดยครอบคลุมคุณสมบัติทั้ง 2 เฟส ลูกหนี้จึงยังไม่ต้องลงทะเบียนใหม่
ส่วนความคืบหน้าโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ในเฟสแรกนั้น ประเมินลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการได้ทั้งสิ้น 1.9 ล้านราย ยอดหนี้ 8.9 แสนล้านบาท โดยตั้งแต่เปิดโครงการ สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย. มีลูกหนี้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 1.4 ล้านราย รวม 1.9 ล้านบัญชี ทั้งนี้ สถาบันการเงินจะต้องเร่งติดต่อลูกหนี้ เพื่อดำเนินการตามข้อตกลงในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดต่อไป
วันเดียวกัน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ครม.ได้มีมติรับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 14) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป สาระสำคัญคือ การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร ทุกประเภทกิจการ 2.ในประเภทกิจการโรงแรมตามกฎหมาย (โรงแรมประเภท 2, 3, 4) ทั่วประเทศ โดยยกเว้นโรงแรมประเภทที่ 1 เนื่องจากเป็นโรงแรมที่ให้บริการเฉพาะห้องพักและมีห้องพักไม่เกิน 50 ห้อง 3.ประเภทกิจการสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการทั่วประเทศ ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มจำหน่าย เช่น ไนต์คลับ ผับ บาร์ อาบอบนวด คาราโอเกะ เป็นต้น
โดยการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ เป็นผลจากการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง บนหลักความเสมอภาคและรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย เพื่อให้การประกอบธุรกิจเดินหน้าต่อได้ พร้อมกับให้แรงงานมีรายได้ที่เพียงพอและเหมาะสม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานทั่วไปให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ควบคู่กับการรักษาสมดุลในการประกอบธุรกิจของนายจ้าง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
รายละเอียดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2568 ดังนี้ 400 บาท กรุงเทพฯ ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี (อ.เกาะสมุย) โรงแรมประเภท 2, 3, 4 ทั่วประเทศ สถานบริการทั่วประเทศ, 380 บาท อ.เมืองเชียงใหม่, อ.เมืองสงขลา, 372 บาท นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร, 359 บาท นครราชสีมา, 358 บาท สมุทรสงคราม, 357 บาท ขอนแก่น เชียงใหม่ (ยกเว้น อ.เมืองเชียงใหม่) ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี, 356 บาท ลพบุรี, 355 บาท นครนายก สุพรรณบุรี หนองคาย, 354 บาท กระบี่ ตราด
352 บาท กาญจนบุรี จันทบุรี เชียงราย ตาก นครพนม บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา พิษณุโลก มุกดาหาร สกลนคร สงขลา (ยกเว้น อ.เมืองหาดใหญ่) สระแก้ว สุราษฎร์ธานี (ยกเว้น อ.เกาะสมุย) อุบลราชธานี, 351 บาท ชุมพร เพชรบุรี สุรินทร์, 350 บาท นครสวรรค์ ยโสธร ลำพูน, 349 บาท กาฬสินธุ์ นครศรีธรรมราช บึงกาฬ เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด, 348 บาท ชัยนาท ชัยภูมิ พัทลุง สิงห์บุรี อ่างทอง, 347 บาท กำแพงเพชร พิจิตร มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง เลย ศรีสะเกษ สตูล สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญอุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี, 345 บาท ตรัง น่าน พะเยา แพร่ และ 337 บาท นราธิวาส ปัตตานี ยะลา.