มหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำ ขยับตัว ปรับหลักสูตร เน้นพัฒนาทักษะ “นักศึกษาไทย” พร้อมรับตลาดแรงงาน
ภายหลัง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย ว่า เด็กจบใหม่อาจเสี่ยงต่อการตกงานสูง ผลการสำรวจผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล ในสหรัฐอเมริกา ของ Hult International Business School ร่วมกับ Workplace Intelligence พบว่า ผู้บริหาร กว่า 89% มีแนวโน้มที่จะเลี่ยงการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ ทำให้มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยเอกชน เริ่มขยับตัว เดินหน้าพัฒนาทักษะของนักศึกษา และ ปรับหลักสูตรการสอนให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานในปัจจุบัน
ล่าสุด มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) โดยฝ่ายแนะแนวการศึกษา สายงานเครือข่ายสัมพันธ์ จัดโครงการ “DPU Academy” โครงการนำร่องที่มุ่งเน้นพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร บุคลิกภาพ และความสามารถในการนำเสนอศักยภาพของนักศึกษา นักศึกษาชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ตลาดแรงงานในโลกยุคใหม่
นายวรัชนนท์ รุ่งเศรษฐพัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายแนะแนวการศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาทักษะการนำเสนอสำหรับนักศึกษา เพราะพบว่านักศึกษาหลายคนมีความสามารถทางวิชาการในสาขาที่เรียน แต่ยังขาดทักษะในการนำเสนอศักยภาพของตนเองเมื่อต้องเข้าสู่ตลาดแรงงาน โครงการนี้จึงมุ่งหวังให้นักศึกษารู้จักและเข้าใจจุดแข็งของตัวเอง พร้อมสามารถนำเสนอออกมาได้อย่างมั่นใจ ไม่เพียงเรียนเก่งในวิชาการ แต่ต้องรู้จักนำเสนอให้ผู้อื่นเห็นคุณค่าและความสามารถที่ตนมี
“สำหรับในกิจกรรมแบ่งออกเป็นสองช่วงหลัก โดยช่วงเช้าเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “ทักษะการสื่อสาร และการนำเสนอให้น่าสนใจอย่างมืออาชีพ” ได้รับเกียรติจาก นายอติรุจ กิตติพัฒนะ (แคน) พิธีกรและผู้ประกาศข่าวช่อง 3 มาเป็นวิทยากร ถ่ายทอดประสบการณ์และเทคนิคการพูด การควบคุมโทนเสียง และการสร้างความน่าเชื่อถือผ่านการสื่อสารที่มีพลัง ส่วนในช่วงบ่าย นักศึกษาได้ร่วมกิจกรรมกลุ่มกับวิทยากรอย่างใกล้ชิด เพื่อฝึกฝนทักษะด้านบุคลิกภาพ การสื่อสารอย่างมั่นใจ การทำงานร่วมกันเป็นทีม รวมถึงการถ่ายทอดจุดเด่นของตนเองอย่างสร้างสรรค์และน่าเชื่อถือ” นายวรัชนนท์ กล่าว
นอกจากนี้ มีรายงานว่า มหาวิทยาลัยเอกชน อีกหลายแห่ง พยายามปรับหลักสูตร ให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานปัจจุบัน เพื่อให้นักศึกษาสามารถมีงานทำได้เมื่อเรียนจบ