เปิดสาเหตุทำไม “แอตแลนติกใต้” ถึงไร้พายุ?
แม้โลกจะเผชิญกับพายุหมุนเขตร้อนมากมายในหลายภูมิภาค ตั้งแต่เฮอริเคนในแอตแลนติกเหนือ ไต้ฝุ่นทางฝั่งแปซิฟิกตะวันตก ไปจนถึงไซโคลนในซีกโลกใต้ แต่กลับมีจุดหนึ่งที่ไม่ค่อยมีพายุก่อตัวขึ้น นั่นก็คือบริเวณ มหาสมุทรแอตแลนติกใต้ โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้
หากพิจารณาจากแผนที่เส้นทางของพายุทั่วโลก จะเห็นได้ว่ามี “ช่องว่าง” ขนาดใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้หรือบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ คำถามคือ ทำไมบริเวณนี้ถึงไม่มีพายุหมุนเขตร้อน?
ปัจจัยแรกที่สำคัญคือ อุณหภูมิน้ำทะเลในภูมิภาคนี้ต่ำเกินไปที่จะทำให้พายุก่อตัว ซึ่งปกติแล้วการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนต้องการอุณหภูมิน้ำทะเลอย่างน้อย 26°C เนื่องจาก “กระแสน้ำเปรู” (Peru Current) ที่ไหลขึ้นไปตามชายฝั่งอเมริกาใต้ นำพาน้ำเย็นจากแอนตาร์กติกา ทำให้น้ำทะเลเย็นเกินไปสำหรับการก่อตัวของพายุ นอกจากนี้บริเวณนี้ยังมีแรงเฉือนของลมในแนวดิ่ง สูงมาก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้พายุไม่สามารถพัฒนาได้ ส่วนทางฝั่งตะวันออกของทวีป แม้กระแสน้ำบราซิล (Brazil Current) จะไหลนำพาน้ำอุ่นลงใต้ แต่ก็ยังมีแรงลมเฉือนสูงเช่นกัน จึงทำให้พายุหมุนในมหาสมุทรแอตแลนติกใต้เกิดขึ้นได้ยากมาก
นอกจากนี้ ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ พายุจำนวนมากมีต้นกำเนิดจาก คลื่นกระแสลมตะวันออกจากแอฟริกา (African easterly waves) ที่พัดพากลุ่มเมฆฝนและพายุฝนฟ้าคะนองออกจากแผ่นดินใหญ่แอฟริกาเข้าสู่มหาสมุทร ซึ่งคลื่นเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของพายุหลายลูก แต่ในซีกโลกใต้ ไม่มีสายพานธรรมชาตินี้ จึงไม่มีการป้อนพลังงานหรือความชื้นอย่างต่อเนื่องที่จะนำไปสู่การก่อตัวของพายุในลักษณะเดียวกัน
ดังนั้นจะเห็นว่า แม้ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติกจะดูเงียบสงบจากพายุหมุนเขตร้อน แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความเสี่ยง หากในอนาคตเงื่อนไขมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ภาวะโลกร้อนทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น หรือแนวลมเปลี่ยนแปลง อาจทำให้ภูมิภาคที่เคยสงบกลายเป็นพื้นที่เฝ้าระวังใหม่ได้ในอนาคตก็เป็นได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไต้ฝุ่น “ดานัส” ถล่มไต้หวัน ก่อนมุ่งเข้า “จีน” 8-9 ก.ค.นี้
- 7-12 ก.ค. ฝนชุกทั่วไทย เตือนเหนือ อีสาน ตะวันออก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน
- พยากรณ์อากาศวันนี้ 7 กรกฎาคม 2568 ทั่วไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนัก
- อุตุฯ เตือนเหนือ-อีสาน ระวังฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก
- พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ไทยตอนบนระวังฝนตกหนัก ระวังน้ำท่วม - น้ำป่าไหลหลาก