ครบรอบ 2 ปี มิตรภาพ(?) ‘มิ้นต์ช็อก’ เส้นทางมิตรภาพเพื่อไทย-ภูมิใจไทย จากวันชนแก้ว สู่ตำแหน่งการเมืองคนละขั้ว
ย้อนกลับไปตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยได้จับมือกันจัดตั้งรัฐบาล และเกิดเป็นภาพการชนแก้ว ‘มิ้นต์ช็อก’ ซึ่งกลายเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตในเวลานั้น
วันนี้ (22 กรกฎาคม 2568) ก็นับเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วสำหรับมิตรภาพมิ้นต์ช็อกของเพื่อไทยและภูมิใจไทย The MATTER ขอย้อนสั้นๆ ให้เห็นเส้นทางของทั้งสองพรรคว่าจนถึงวันนี้มีอะไรที่เปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง
ก่อนหน้านี้ ในปี 2566 ภูมิใจไทยปฏิเสธที่จะร่วมรัฐบาลกับก้าวไกล (ปัจจุบันคือพรรคประชาชน) โดยบอกว่า ‘จะไม่เข้าร่วมรัฐบาลถ้ายังมีพรรคก้าวไกล’ ซึ่งให้เหตุผลว่าไม่ใช่แค่นโยบายแก้ไขม.112 แต่ยังรวมไปถึงวิธีการทำงานของพรรคในสภาสมัยที่แล้วด้วย
หลังจากที่การเสนอชื่อนายกฯ จากพรรคก้าวไกลถูกโหวตไม่เห็นชอบจาก สว. จบลงไป พรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทย ก็เริ่มต้นตั้งรัฐบาลด้วยกัน และจากนั้นเป็นต้นมา พรรคภูมิใจไทยก็ได้กลายเป็นหนึ่งในกำลังหลักของรัฐบาล โดยตำแหน่งของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็คือรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย (มท.1)
ซึ่งในเวลานั้น อนุทินยืนยันว่าไม่ขัดข้องที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทย หากยึดตามหลักการ 3 ประการ ดังนี้ 1.ไม่แตะต้องกับม.112 ไม่ว่าจะแก้ไขหรืออย่างไรก็ตาม 2.ไม่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย และ 3.หากเป็นรัฐบาลที่มีเพื่อไทยเป็นแกนนำ ต้องไม่มีก้าวไกลเป็นพรรคร่วม ซึ่งเพื่อไทยก็เห็นพ้องไปตามนั้น
แต่แล้วตำแหน่ง มท.1 ก็สั่นคลอน หลังจากกระแสข่าวการปรับครม.แพทองธาร 1/1 ซึ่งเพื่อไทยต้องการเก้าอี้ มท.1 คืนจากภูมิใจไทย โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อนุทินเปิดใจกับเรื่องนี้ว่าได้ปฏิเสธข้อตกลงดังกล่าวและ “ในเมื่อข้อตกลงรักษากันไม่ได้ คงต้องต่างคนต่างไป” ซึ่งเรื่องนี้ก็จบลงด้วยการที่อนุทินลาออก เก็บข้าวเก็บของออกจากห้องทำงาน