"คลัง" ยันเจรจาภาษีทรัมป์ไม่ใช่ 0% ทุกหมวดสินค้า ย้ำต้องปกป้องภาคเกษตร-ธุรกิจ
"คลัง" ยันเจรจาภาษีทรัมป์ไม่ใช่ 0% หมดเหมือนเวียดนาม ลั่นต้องปกป้องภาคเกษตร-ธุรกิจ
วันที่ 21 ก.ค.68 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ข้อเสนอที่จะให้กับสหรัฐฯ เบื้องต้นไทยอาจจะไม่สามารถเปิดได้ทั้งหมดเหมือนกับประเทศที่ได้มีการตกลงกันไปแล้ว เพราะการเปิดข้อเสนอทั้งหมดจะมีผลกระทบอย่างมาก เช่น เวียดนาม ที่ได้ภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ 20% แต่ต้องเปิดตลาดสินค้านำเข้าให้สหรัฐฯ เหลือ 0% มองว่าการดำเนินการแบบนี้ อาจจะไม่ได้จบแค่สหรัฐฯ เพราะยังมีเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่งด้วย หมายความว่าหากเราให้ภาษี 0% กับบางประเทศ ก็อาจจะต้องให้กับประเทศคู่ค้าอื่นๆด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการในประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะกับสินค้าที่ประเทศไทยพยายามปกป้อง ทั้งภาคเอกชน และภาคเกษตรกร
"มองว่าหากไทยมีการเปิดเสรีนำเข้าสินค้า 0% ให้กับประเทศหนึ่งก็อาจจะโดนหยิบยกมาเป็นข้อเรียกร้องทันที โดยเฉพาะกับสินค้าที่รัฐบาลพยายามปกป้อง ตรงนี้จะกลายเป็นเขื่อนแตก ทำให้เกิดความเสียหายกับภาคธุรกิจในประเทศ ส่วนสินค้าบางประเภทที่ปัจจุบันมีการให้ภาษีนำเข้า 0% อยู่แล้ว ถ้าไทยเปิดเพิ่มเติม ถือเป็นการเปิดให้มีการแข่งขันกัน แบบนี้ถือว่าไม่เสียหายอะไรมาก"
ทั้งนี้เช่นเดียวกันเรื่องการเพิ่มเม็ดเงินลงทุน ซึ่งหากสอดคล้องกับแผนการลงทุนของภาคเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจอยู่แล้ว ก็อาจจะให้ขยับไปลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็จะได้ประโยชน์ในเรื่องของการเจรจา เช่น เรื่องพลังงาน เหล่านี้ก็มีอยู่ในแผนการเจรจรอยู่แล้ว โดยมองว่าข้อเสนอหรือข้อตกลงที่ไทยเจรจากับสหรัฐฯ จึงยึดหลักที่จะต้องได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย
ส่วนก่อนหน้านี้ที่มีข่าวว่าไทยจะเปิดให้มีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯในอัตรา 0% หลายหมื่นรายการนั้น รมช.คลัง กล่าวว่า ไม่อยากให้ไปตกใจกับจำนวนสินค้าที่ไทยจะเปิดให้ 0% เพราะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าพิกัดภาษีศุลกากรมีจำนวนมาก เช่น ปลากระป๋อง มีทั้งปลากระป๋องในน้ำมัน ปลากระป๋องในน้ำแร่ และปลากระป๋องในน้ำเกลือ สินค้าเหล่านี้มีพิกัดแยกทั้งหมด ดังนั้นเมื่อฟังตัวเลขอาจจะดูน่าตกใจ แต่ในข้อเท็จจริงหากนับเป็นประเภทแล้ว ไม่ได้มากขนาดนั้น
"การเจรจาระหว่างประเทศ จะไปเอาในสิ่งที่ได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว หรือเขาได้ประโยชน์ทั้งหมด มันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรอเวลา เพื่อให้สหรัฐฯ พิจารณาข้อเสนอแล้วส่งกลับมาก่อน ว่าสุดท้ายจะไปจบที่ตรงไหน แต่รัฐบาลยืนยันว่า การสร้างสมดุลการค้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ เอกชนไทย กลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะภาคเกษตรกรจะต้องอยู่ได้ ส่วนเรื่อง local content นั้น ก็อาจจะต้องมาพิจารณาในรายละเอียดให้มีความเหมาะสมอีกครั้ง"
ส่วนจะมีสินค้ากลุ่มไหนบ้างที่ไม่สามารถให้ภาษีนำเข้า 0% หรือสินค้ากลุ่มไหนบ้างที่ให้ภาษีนำเข้า 0% แก่สหรัฐฯ ได้นั้น คงยังไม่สามารถตอบได้ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา ระหว่างนี้ภาคเอกชนจำเป็นต้องมีการปรับตัว ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีหน้าที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ ซึ่งจะดำเนินการผ่านการจัดเตรียมวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจำนวน 2 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในกรณีที่มีความจำเป็นในการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนกับภาคเอกชนให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ประคองเรื่องการจ้างงานให้อยู่ได้ ซึ่งแนวทางต่าง ๆ เหล่านี้ได้มีการเตรียมรองรับไว้พอสมควรแล้ว
ส่วนที่เอกชนกังวลว่าซอฟท์โลน 2 แสนล้านบาท อาจจะไม่เพียงพอนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า หากท้ายที่สุดเมื่อมีความจำเป็นจะต้องเพิ่มเติม ก็เชื่อว่าจะมีกลไกของรัฐที่สามารถดำเนินการเพิ่มเติมได้อยู่แล้ว ขณะเดียวกัน จะต้องพิจารณาเรื่องการขยายตลาดใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งเป็นหลักด้วย
#กระทรวงการคลัง #จุลพันธ์อมรวิวัฒน์ #ภาษีนำเข้า #เจรจาการค้า #สหรัฐอเมริกา #MFN #ซอฟท์โลน #สินค้าเกษตร #ข่าวเศรษฐกิจ #เปิดเสรีการค้า #ตลาดใหม่ #พิชัยชุณหวชิร #USTR #นโยบายเศรษฐกิจ #เจรจาระหว่างประเทศ